xs
xsm
sm
md
lg

หมากกับมะเร็งปาก (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ต้นหมาก
คนนับร้อยล้านทั่วโลกกินหมาก โดยเฉพาะในเอเชียใต้ หลายคนติดหมากถึงขนาดถ้าไม่ได้เคี้ยวหมาก แรงจะหมด ร่างกายจะระทดระทวย และปากจะหาวบ่อย คนที่มีอายุมากเวลากินหมากจะเอาหมากที่ผสมเสร็จใส่ปากเคี้ยว ๆ ดูด ๆ นานเป็นชั่วโมง แล้วพ่นน้ำหมากสีแดงคล้ำออกมาสม่ำเสมอ (อาจจะ)บนถนนหนทาง จนทำให้ดูเลอะเทอะสกปรก

คนไทยในสมัยโบราณนิยมใช้หมากประกอบการไหว้ครูและพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในงานแต่งงานมีพิธีแห่ขันหมาก บ้านในสมัยก่อนมีเชี่ยนหมากไว้รับแขก และสังคมนิยมถือว่า การเจียนหมากเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือมาก ดังนั้น สตรีที่เจียนหมากได้สวยจึงเป็นกุลสตรีที่มีค่า เป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบซึ่งต้องมีความสามารถด้านการครัว คือ ปอกมะปรางเป็นริ้วได้ ละเลงขนมเบื้อง (ไม่ใช่ด้วยปาก) เป็น ปั้นขนมจีบได้ และจีบพลูก็เป็นด้วย

ส่วนในมาเลเซียมีประเพณีที่ถือกันว่า หากฝ่ายหญิงเคี้ยวหมากไปพร้อม ๆ กับฝ่ายชาย นั่นแสดงว่า เธอยินดีและยินยอมเป็นคู่ครอง เพราะผู้คนเชื่อว่า การเคี้ยวหมากพร้อม ๆ กัน สามารถปัดรังควานหรือภัยที่จะมาเบียดเบียนคนทั้งสองได้ คนจีนไหหลำเชื่อว่า เวลาเจ้าสาวจะมาไหว้ (ว่าที่) แม่สามีเธอต้องนำหมากพลูมาไหว้ คนญวนมีประเพณีว่า คู่บ่าวสาวต้องกินหมาก 120 คำให้หมด จึงจะแต่งงานกันได้ ส่วนคนพม่าถือว่า สาวใดยื่นหมากให้ฝ่ายชาย เธอกำลังทอดสะพานสวาท

นักโภชนาการปัจจุบันได้พบว่า ความนิยมในหมากเกิดจากการที่หมากมีสาร alkaloid ที่เวลากินเข้าไปแล้วคนกินจะรู้สึกสุข เพราะชีพจรจะเต้นเร็วและแรง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นด้วย สำหรับบางคน หมากเป็นยาระบาย ยาแก้ท้องอักเสบ และตามปกติคนที่กินหมากจะไม่รู้สึกหิว หมากจึงเป็นอาหารลดน้ำหนัก สำหรับในด้านลบก็มีผล เช่น คนกินหมากมากมักเป็นโรคเหงือกเพราะปากถูกปูน (calcium hydroxide) กัด

ดังนั้น คนที่ทำความสะอาดปากไม่ทั่วถึง ช่องปากจะมีกลิ่น สกปรก และฟันจะดำ แต่ในสมัยก่อน ฟันดำถือเป็นแฟชั่น ดังมีคำกล่าวที่ว่า ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า และขอให้ปัญญาเหมือนพระมโหสถ และมักถือว่าเป็นหมานะซีจึงจะมีฟันขาว ด้วยเหตุนี้ใคร ๆ จึงมีหมากพลูติดตัว โดยการจีบพูลใส่ซอง และจีบหมากใส่ถุง เมื่อถึงเวลาต้องการก็หยิบขึ้นมากินและยื่นให้เพื่อน เพราะหมากคือ สัญลักษณ์ของความนับถือและมิตรภาพ ดังจะเห็นได้จากภาพวาดตามผนังวัด แสดงผู้ใหญ่นั่งล้อมวงกินหมาก หรือกษัตริย์เวลาเสด็จจะมีคนขนถาดหมากตามในพระราชพิธีราชาภิเษกก็มีถาดหมาก

สำหรับคนทั่วไปเชี่ยนหมากถือเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมว่าใครที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูง หรือเวลาใครมาเยี่ยมบ้านเจ้าของบ้านก็ "แจกหมาก" เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาดี เป็นต้น

ตามปกติอุปกรณ์ที่ใช้กินหมากมีถาดไม้ซึ่งอาจเป็นถาดทองหรือเงิน และมีเครื่องเคียง เช่น เชี่ยนหมาก ผลหมาก พานหมาก ใบพลู ซองพลู ตลับปูน ตะบันหมาก เต้าปูน ยาเส้น และกรรไกรหนีบหมาก เวลากินคนกินใช้ช้อนตักปูนจากเต้าปูนป้ายๆ ลงบนใบพลูด้านที่ไม่มัน แล้วม้วนเป็นกรวย หมากเวลาจะกินหมากก็ใช้กรรไกรผ่าออก จากนั้นใช้ขี้ผึ้งเคลือบริมฝีปากเพื่อไม่ให้ปากตึง

ในการเคี้ยวหมากคนกินจะรู้สึกรสเผ็ดของใบพลู รสฝาดของหมาก และรสขมของปูน เมื่อรู้สึกน้ำหมากจับปาก ก็จะเอายาเส้นม้วนเป็นก้อนเล็กๆ เช็ดและสีฟัน แล้วนำไปจุกไว้ที่มุมปาก จากนั้นก็เคี้ยวๆ และอมๆ ต่อจนหมากจืด จึงคายหมากทิ้ง

ประเพณีการกินหมากในไทยเริ่มถูกห้ามในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว โดยรัฐบาลสั่งห้ามขายพลู ห้ามทำสวนพลู และสวนหมาก เพื่อให้คนไทยเป็น “อารยชน” แต่เมื่อถึงวันนี้ การบริโภคหมากก็ยังมีอยู่ และการปลูกหมากก็ยังมีปลูกเพื่อเป็นพืชส่งออก

หมาก (areca cateche) เป็นพืชยืนต้นตระกูลปาล์ม (Palmae) ที่เรานิยมปลูกมานานแล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีพื้นที่ปลูกมากถึง 12,600 ไร่ และหากคิดทั่วประเทศก็มีพื้นที่ปลูกถึง 1 แสนไร่ หมากชอบขึ้นในที่ดอนที่ไม่มีน้ำท่วม ลำต้นมีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 - 30 เซนติเมตร และเป็นข้อ รากเป็นระบบรากฝอยที่ไม่มีรากแก้ว หมากมีอายุยืนตั้งแต่ 20 - 30 ปี ใบหมากสั้นกว่าใบมะพร้าว โดยมีก้านใบและใบย่อยแตกเรียงเป็นแถวออกสองข้างของก้านใน ดอกหมากมักออกรวมเป็นช่อใหญ่ เวลากาบใบแตก ดอกตัวผู้จะบานก่อน แล้วดอกตัวเมียบานตาม

ดังนั้น การแพร่พันธุ์จึงต้องอาศัยการผสมพันธุ์ข้ามต้น ผลหมากมีลักษณะกลมรีและมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 4 - 6 เซนติเมตร ผลรวมเป็นกลุ่มในทะลาย ทะลายหนึ่งมีผลตั้งแต่ 10 - 50 ผล ผลดิบหรือผลหมากอ่อนมีสีเขียว และผลแก่มีสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม หมากสุกมีเปลือกชั้นนอกเป็นมัน แข็ง บาง และมีเส้นใยละเอียดที่เหนียว เปลือกชั้นกลางหนาเป็นเส้นใยหยาบ เมื่อผลอ่อนเส้นใยส่วนนี้มีสีขาว นุ่ม เมื่อผลแก่ ใยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองที่เหนียวแข็ง เปลือกชั้นในเป็นเยื่อบางละเอียดอยู่ติดเนื้อนิ่มของผลอ่อนที่มีลายเส้นสีน้ำตาลแดงและสามารถเอาออกจากเปลือกได้ง่าย แต่พอแก่ เนื้อจะแข็งและมีสีน้ำตาลแดงกับสีขาวขุ่นๆ

ผลหมากมีเม็ดเดียว และเม็ดมี alkaloid อย่างน้อย 6 ชนิด เช่น tannin ที่ให้รสฝาดและทำให้ฟันดำ มี arecoline ที่มีพิษ สัตวแพทย์จึงใช้หมากกำจัดพยาธิตัวตืด เวลาต้องการแพร่พันธุ์ ชาวไร่จะวางเมล็ดที่แก่สุดลงในแปลงกลับดินแล้วรดน้ำจนชุ่ม เมื่อเวลาผ่านไป 1 - 2 เดือน หน่อจะงอกออกมา จากนั้นชาวไร่จะย้ายแปลงไปปลูกในไร่ที่เตรียมไว้ ขณะต้นหมากเติบโตชาวไร่ต้องระมัดระวังโรคที่จะมาเบียดเบียน เพราะหมากมักเป็นโรคยอดเน่า ใบจุด รากเน่า และโรครา ส่วนแมลงที่กัดกินต้น คือ เพลี้ย

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ถาดหมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น