xs
xsm
sm
md
lg

เติมใจให้กัน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 81
อกุศลวิบากสร้างอุปนิสัย
ให้เศรษฐีผู้ตระหนี่เบียดเบียนตนเอง

พระโมคคัลลานะซึ่งได้รับการยกย่องจากพระศาสดาและเป็นที่ยอมรับในหมู่พุทธบริษัทว่าเลิศทางมีฤทธิ์ไม่มีใครเสมอเหมือนนั้น ได้เคยใช้ฤทธิ์ของท่านให้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขอนำมาสู่กันฟังพอเป็นเครื่องบันเทิงจิต และเพื่อสร้างแนวความคิดในทางที่ถูกว่า ฤทธิ์นั้นมีจริง เป็นจริง เป็นผลพลอยได้ของการบำเพ็ญสมาธิภาวนา เป็นอานุภาพของจิตซึ่งได้รับการฝึกฝนดีแล้วซึ่งมีอยู่เหนือสามัญชนเป็นอันมาก

ฤทธิ์นั้นมีประโยชน์เป็นอันมากในการฝึกคนที่ฝึกยากมีทิฐิจัดหรือมีอาสวะหนาแน่นให้คลายลงเสียก่อนเพื่อสะดวกแก่การสอนธรรมอันละเอียด ลุ่มลึกต่อไป เช่นเรื่องของโกสิยเศรษฐี ผู้ตระหนี่แม้ขนมเบื้อง

ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์นัก มีนิคมหนึ่งชื่อสักกระ ในนิคมนี้ มีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์ถึง 80 โกฏิ แต่มีนิสัยตระหนี่มาก ไม่ปรารถนาสงเคราะห์ใคร แม้น้ำมันสักหยดหนึ่งก็ไม่ให้ใครเปล่าๆ นอกจากไม่สงเคราะห์คนอื่นแล้ว ยังไม่สงเคราะห์ตนเองอีกด้วย ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อความสุขของตน ทรัพย์สมบัติของเขาจึงไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย เขามีความพอใจด้วยการมองดูทรัพย์ที่เพิ่มพูนขึ้น เหมือนมดแดงเฝ้าหวงแหนมะม่วง

วันหนึ่ง เศรษฐีโกสิยะไปเฝ้าพระราชา ตอนกลับจากที่เฝ้าเขาพบชาวบ้านที่ยากจนคนหนึ่งกำลังกินขนมเบื้องอย่างเอร็ดอร่อย เพราะความหิวบีบคั้นมานาน เศรษฐีอยากกินบ้าง แต่เสียดายทรัพย์จะบอกภรรยาว่าอยากกินขนมเบื้องก็ไม่กล้าบอกเกรงว่าได้ยินถึงหูคนอื่น แล้วจะพากันอยากกินบ้าง จะบอกให้ภรรยาให้กินก็เกรงว่าคนอื่นจะกินด้วย ถ้าเป็นดังนั้นจะหมดเปลืองเป็นอันมากซึ่ง ข้าวสาร งา เนยใส น้ำอ้อย เป็นต้น

เขาอดกลั้นความอยากนั้นไว้ อันความทุกข์เพราะความอยากบีบคั้นแล้วเนืองๆ จนผ่ายผอมลง มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น เมื่อไม่อาจทนได้อีกต่อไปจึงเข้าห้องนอนด้วยความระทมทุกข์

ดูเถิด! ดูเศรษฐีผู้มีทรัพย์ถึง 80 โกฏิ แต่กลายเป็นคนยากจน แม้ขนมเบื้องก็ไม่อาจกินได้ เพราะความตระหนี่บีบคั้นครอบงำหัวใจ คนตระหนี่แม้จะมีทรัพย์ก็เหมือนคนยากจนเหมือนน้ำทะเลแม้มีมากก็อาศัยบริโภคไม่ได้ มันเค็ม ส่วนทรัพย์ คนดีแม้มีน้อยก็พลอยได้พึ่ง เหมือนน้ำบ่อพออาศัยอาบดื่มให้เป็นสุข

พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ทรัพย์ของคนพาล ของอสัตบุรุษไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ รวมทั้งตัวเขาเองด้วย เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาด จืดสนิท เย็นดีมีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ มหาชนก็หาได้อาบได้ดื่มไม่ น้ำนั้นตั้งอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ส่วนคนดี เมื่อมีทรัพย์แล้วย่อมบำรุงตน มารดา บิดา ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณาจารย์ให้เป็นสุข... เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ไม่ไกลหมู่บ้าน มหาชนยอมได้อาศัยอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคะของเขาหาสิ้นไปโดยไร้ประโยชน์ไม่

คนจนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทหนึ่งมีเท่าไรไม่รู้จักพอ อีกประเภทหนึ่งมีน้อยจนไม่เพียงพอต่อความจำเป็นของชีวิต แต่มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้กำหนดขอบเขตแห่งสิ่งที่จำเป็นของตนไว้ จึงดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็จำเป็นไปหมด กลายเป็นคนกระหายอยู่ตลอดเวลา ดังที่พระรัฐปาละผู้เลิศทางศรัทธาของพระศาสดาได้กล่าวไว้ว่า สัตวโลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่อิ่มไม่เบื่อจึงตกเป็นทาสของตัณหา (อูโน โลโก อติตฺโต ตณฺหาทาโส)

ภรรยาของเศรษฐีเป็นคนมีอัธยาศัยดี ใจคอกว้างขวาง เห็นเศรษฐีนอนบนเตียงด้วยอาการทอดถอย ถามเศรษฐีด้วยความห่วงใยว่าไม่สบายเป็นอะไร เศรษฐีก็ไม่กล้าบอก เพราะความตระหนี่ ไม่อาจจะสละสิ่งที่มีแม้เพื่อสงเคราะห์ตนเอง

ภรรยาผู้ฉลาดและอารี วิงวอนสอบถามจนได้ทราบความจริงว่า เศรษฐีป่วยเพราะความอยากกินขนมเบื้อง แต่ไม่กล้าบอกเพราะเกรงว่าภรรยาจะทำแบ่งให้ผู้อื่นกินด้วย เมื่อนางรับคำว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เศรษฐีจึงกล่าวว่า

"ถ้าเธอจะทำขนมเบื้องให้ฉัน ก็จงเอาสิ่งของต่างๆ เช่น ข้าวสารป่น น้ำนม เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยอย่างละนิดอย่างละหน่อยขึ้นไปบนปราสาทชั้น 7 ทอดที่นั่น แล้วฉันคนเดียวเท่านั้นที่จะนั่งกินที่นั่น

ภราดา! กิริยาอาการของเศรษฐีที่ไม่มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคใช้สอยของประณีต พอใจแต่จะบริโภคใช้สอยแต่ของเลวๆ นั้น ถ้าวินิจฉัยตามหลักพระพุทธศาสนาท่านว่าเป็นเพราะอกุศลวิบากที่เมื่อทำบุญให้ทานไปแล้วรู้สึกเสียดายในภายหลัง อกุศลวิบากนั้น มาสร้างอุปนิสัยให้เบียดเบียนตนเอง ไม่น้อมจิตไปเพื่อความสุขอันตนจะพึงได้รับตามสมควรแต่ฐานะของตน

ภรรยาเศรษฐีใช้คนรับใช้หญิงช่วยถือสิ่งของต่างๆ ขึ้นไปบนปราสาทชั้นที่ 7 แล้วไล่คนรับใช้ลงมาเสีย เศรษฐีขึ้นไปแล้วปิดประตูใส่กลอนทุกประตู ตั้งแต่ประตูแรกเข้าไป ภรรยาเศรษฐีเริ่มทอดขนมเบื้อง

ปัจจุสกาล-ใกล้รุ่งวันเดียวกันนั่นเอง พระผู้มีพระภาค ผู้อนุเคราะห์โลกออกจากมหาสมบัติ ทรงแผ่ข่ายคือพระญาณออกสำรวจดูหมู่สัตว์ในโลกธาตุ ผู้มีอุปนิสัยควรแก่การบรรลุมรรคผลด้วยพระมหากรุณา ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเศรษฐีพร้อม ทั้งภรรยา ณ กรุงราชคฤห์แล้ว ตรัสเรียกพระโมคคัลลานะมาเฝ้า ทรงเล่าเรื่องของเศรษฐีชื่อโกสิยะให้พระสาวกผู้เลิศทางฤทธิ์ทราบแต่โดยย่อ แล้วตรัสว่า

"มหาโมคคัลลานะ! เธอจงไปปราบเศรษฐีให้สิ้นพยศ แล้วให้นำขนม น้ำนม เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมายังเชตวันวิหารด้วยกำลังฤทธิ์ของเธอ วันนี้เราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จะนั่งคอยทำภัตตกิจด้วยขนมนั้นเท่านั้น"

พระมหาเถระรับพระพุทธบัญชาแล้วได้เดินทางไปสักกรนิคมใกล้เมืองราชคฤห์ซึ่งถ้าเดินทางอย่างคนธรรมดาก็จะใช้เวลาแรมเดือน เพราะไกลมากถึง 45 โยชน์ แต่พระเถระไปด้วยกำลังฤทธิ์เพียงครู่เดียว เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้า ยืนอยู่ที่ช่องหน้าต่างแห่งปราสาทชั้นที่ 7

เมื่อได้มองไปเห็นพระเถระ ดวงใจของเศรษฐีสั่นสะท้านด้วยความตกใจระคนด้วยความตระหนี่ เขาคิดว่า "เราอุตส่าห์มาทอดขนมเบื้องบนปราสาทชั้นที่ 7 ก็เพราะกลัวคนทั้งหลายจะเห็นจะร่วมกิน รวมทั้งคนประเภทนี้ด้วย แต่สมณะนี้มายืนอยู่ที่ช่องหน้าต่างแล้วเราจะทำอย่างไรดี" เมื่อมองไม่เห็นสิ่งใดที่ตนจะใช้เป็นเครื่องมือไล่พระเถระได้ จึงกล่าวว่า "สมณะ! แม้ท่านจะยืนในอากาศ หรือเดินจงกรม แม้จะนั่งคู้บัลลังก์อยู่ในอากาศ หรือแม้เดินมาที่กรอบหน้าต่างแล้วบังหวนควัน ท่านก็จะไม่ได้อะไร"

ทันใดนั้น เมื่อพระเถระบังหวนควัน ควันได้แผ่กระจายครอบคลุมปราสาทของเศรษฐีทั้งหมด เศรษฐีแสบตาเหมือนคนเอาเข็มมาแทง เศรษฐีคิดว่า "สมณะนี้ทนทานนัก ถ้าไม่ได้อะไรๆ แล้วคงไม่ยอมไปเป็นแน่ เราควรถวายขนมให้ท่านสักหน่อยหนึ่ง" ดังนี้แล้วกล่าวกับภรรยาว่า "ทอดขนมชิ้นเล็กๆ สักชิ้นหนึ่งให้สมณะนี้จักได้ไปเสียที"

ภรรยาเศรษฐีหยอดแป้งลงไปนิดเดียว แต่ขนมกลายเป็นชิ้นใหญ่มากขึ้นทุกทีจนเต็มถาด แม้เศรษฐีจะนำมาทำเสียเองอยู่ หลายครั้ง ก็มีผลออกมาเป็นอย่างเดิม จนเบื่อหน่าย จึงกล่าวกับภรรยาว่า ขอให้ให้ขนมแก่สมณะสักชิ้นหนึ่ง นางจึงนำขนมที่ทอดเสร็จแล้วจากกระเช้า ขนมในกระเช้าเกิดติดกันแน่นทั้งหมด แยกเท่าไรก็ไม่ออก เศรษฐีเองพยายามแยกเท่าไรก็ไม่ออก ทั้งสองช่วยกัน ดึงเท่าไรก็ไม่ออก (นี่เป็นด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระเถระ) เศรษฐีและภรรยาพยายามดึงขนมจนเหงื่อโซมกาย ความหิวก็หายไป เศรษฐี กล่าวกับภรรยาว่า "ฉันไม่ต้องการขนมแล้ว จงให้แก่สมณะนี้ไปทั้งหมดเถิด" ภรรยาเศรษฐีถือกระเช้าขนมเข้าไปหาพระเถระเพื่อถวาย

พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายผู้เลิศด้วยฤทธิ์ได้แสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟังถึงคุณของพระรัตนตรัย และผลของทาน เป็นต้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/สังคหวัตถุ 4 หลักธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ)
กำลังโหลดความคิดเห็น