xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ชี้วิกฤติลงทุนชะงัก อัดรัฐบาลห่วงแต่แก้ รธน.คำนูณชี้หลุมพรางส.ส.ร.3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤติแก้ไขรัฐธรรมนูญลามกระทบเศรษฐกิจ กกร.เผยนักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนออกไป 2-3 เดือนเพื่อรอดูความชัดเจนปัญหาการเมืองไทย ขณะที่เครือข่ายแพทย์อาวุโส เตือนสติรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาปากท้องก่อน แก้รัฐธรรมนูญ หวั่นนองเลือด รุนแรง ยาวนาน ด้าน"คำนูณ" ค้านการตั้ง ส.ส.ร.3 หวั่นเป็นเครื่องมือ พปช. ชี้ ส.ส.รัฐบาลจ้องออกแบบส.ส.ร. เข้าข้างตัวเอง สุดท้าย "แม้ว"และ111 ซากทรท. กลับเข้าสู่อำนาจ ด้าน ปชป.รอความชัดเจนจากพรรคร่วมรัฐบาลก่อนตัดสินใจ

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวานนี้( 6 พ.ค.)ว่า ขณะนี้นักลงทุนจากต่างประเทศบางส่วนได้ชะลอการตัดสินใจลงทุนในไทยออกไปอีก 2-3 เดือน เพื่อรอดูความชัดเจนถึงทิศทางการเมืองหลังจากที่รัฐบาลมุ่งแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า การดูแลทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความยุ่งยาก และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น

"ไม่ต้องถึงขั้นปฏิวัติ แค่มีการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลเอง หรือการปรับ ครม. ก็กระทบกับความเชื่อมั่นแล้ว เนื่องจากนักลงทุนเห็นว่า รัฐบาลเดียวกันนโยบายยังไปคนละทาง" นายประมนต์กล่าว

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เดือนมิ.ย.นี้ กกร.จะจัดสัมนาระดมความคิดเห็นจากนักลงทุนครั้งใหญ่ เชิญนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงหอการค้าต่างประเทศเข้าร่วมหารือ เพื่อจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาล เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีแรงกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอกค่อนข้างมากในขณะนี้

จี้แก้ปัญหาปากท้องก่อนแก้รธน.

วานนี้ (6 พ.ค.)ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อดีตประธานสอบสวนการทุจริตยาในสธ. พร้อมด้วย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สธ. ,นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดสธ. และอดีตรมว.สธ. และพญ.จุรี นิงสานนท์ แพทย์สตรีอาวุโส ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง "ทางออกจากวิกฤตของสังคมไทย" พร้อมทั้งร่วมกันออกแถลงการณ์ ในนามเครือข่ายแพทย์อาวุโส

ทั้งนี้ เนื้อหาของแถลงการณ์ ระบุว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤต โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนข้าวยากหมากแพง น้ำมันขึ้นราคา ผู้คนในสังคมต่างเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาของแพงอย่างจริงจัง แต่นักการเมืองกลับสนใจแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นการแก้เพื่อให้ตนเองพ้นผิด

ในฐานะแพทย์อาวุโส รู้สึกห่วงใย ที่บ้านเมืองกำลังเดินไปสู่ทางตัน หากนักการเมืองยังคงเดินหน้ารีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากผู้ปรารถนาดี และกลุ่มต่างๆในสังคม จะนำไปสู่การเผชิญหน้าของแต่ละฝ่าย และจะนำพาบ้านเมืองเข้าสู่สภาวะวิกฤตอีกครั้ง จึงขอเสนอให้รัฐบาล รีบเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน และความทุกข์ยากของชาวบ้าน รวมทั้ง ทบทวนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม และขบวนการแก้ไข ควรมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน อีกทั้ง สาธารณชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม สามารถพิจารณาคดีความต่างๆ อย่างเที่ยงตรง ยุติธรรม รวดเร็วทันการณ์ โดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ ปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองจะคลี่คลายและนำไปสู่ความสงบสุขอันเป็นที่ปรารถนาร่วมกัน

รอแก้ไขในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นพ.บรรลุ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เครือข่ายแพทย์อาวุโส ถือเป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ในอำนาจของใคร มีแต่ความจริงใจ เป็นห่วงบ้านเมือง จึงแค่มาเตือนสติเท่านั้น ซึ่งหากจะแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็สามารถทำได้ไม่ว่ากัน แต่ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม

"ขณะนี้สถานการณ์ชักไม่ดี เข้าสู่วิกฤตที่ไม่ธรรมดา เหมือนเมฆมันมา เหมือนฝนจะตก มีสิ่งบอกว่าเหตุอย่างมดไต่ย้ายรังจากดิน แต่ก็พูดยากว่าเมฆมืดกว่าในอดีตหรือไม่ เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจรุนแรงกว่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม"

นพ.บรรลุ กล่าวว่า ขณะนี้ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาแทนที่จะมีความสุข สนุกสนาน กินข้าวอร่อย กลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงขอเตือนว่า หากรัฐบาลยืนยันจะแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ มันจะยุ่ง จึงขอให้คิดให้ดี

"หมอมงคล"หวั่นนองเลือด

น.พ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลลำดับความสำคัญของการทำงาน เอาเรื่องปากท้องของประชาชนมาเป็นเรื่องแรก เช่น เรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งสูงขึ้นจนทำให้ราคาสินค้าทุกอย่างขึ้นตาม ประชาชนจะกินจะอยู่ ก็ได้รับความเดือดร้อน ปัญหาดังกล่าวจะไม่สิ้นสุดในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่จะยิ่งแผ่ขยายออกไปทุกหัวระแหง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้ให้มาก หากจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรคลี่คลายปัญหาปากท้องให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

“โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญที่คนคิดเห็นไม่ตรงกัน นอกจากจะสร้างวิกฤต ยังทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมหนักขึ้น กลัวเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา จึงต้องออกมาเตือนให้สติแก่สังคม ก็สุดแล้วแต่ว่านักการเมืองจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกคนเห็นตรงกันก็เป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าไม่เห็นด้วยจะนำสู่ข้อขัดแย้ง และวิกฤตที่หนักขึ้น และมีปัญหาแทรกซ้อน " นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาจากประเด็นเรื่องของการยุบพรรค เพราะที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงต้องการยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากวงจร ที่ไม่สวยงาม ซึ่งมีการโกงกิน คอร์รัปชัน ซื้อเสียงเลือกตั้ง จากนั้นก็ปฏิวัติ และเลือกตั้งใหม่ ก็ซื้อเสียงและกลับมาโกงกินเหมือนเดิม เมื่อใดจะยกระดับประเทศชาติได้ หากวงจรแบบนี้ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที มีแต่การเลือกตั้ง จากนั้นก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกเลย จะแก้ไขได้คงต้องอยู่ที่นักการเมือง โดยให้ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวทำให้ไม่เกิดประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องมีบทลงโทษ ส่วนคดีความต่างๆ ของให้เชื่อในศาล และมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ให้ศาลเป็นผู้ลงโทษ ใครผิดใครถูกก็ว่ากันไป

"อยากให้ทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คิดให้รอบครอบ มีสติทำแล้วเป็นผลดี ผลเสียกับประเทศชาติส่วนรวมอย่างไร อย่าคิดแต่เฉพาะส่วนตัว ขณะนี้ประเทศต้องการผู้ทุ่มเทพลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ" นพ.มงคล กล่าว

ต่อข้อถามว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะนำสู่การเกิดปฏิวัติหรือไม่ นพ.มงคล กล่าวว่า การที่ออกมาเตือนสติ ก็เพราะว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น กลัว ไม่อยากให้มีการต่อสู้ หรือ นองเลือดกัน

พญ.จุรี แนะควรมีส.ส.ร.3

พญ.จุรี นิงสานนท์ แพทย์สตรีอาวุโส กล่าวว่า หากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อน ว่าต้องการให้แก้ไขหรือไม่ และช่วงเวลาใด และที่สำคัญต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขด้วยการต้องมี ส.ส.ร. 3 ซึ่งจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่นักการเมืองต้องการ

"หากรัฐบาลดึงดันไม่เชื่อฟังการเตือนสติ ยืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิกฤตการณ์จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้จะไม่เชื่อก็ได้ แต่หากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงจะรุนแรง และยาวนานกว่าในอดีต เพราะขณะนี้เป็นการเมืองเสียงข้างมาก และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นการนำประชาชนต่อสู้กับประชาชน ขณะที่ในอดีตความขัดแย้งเป็นเรื่องของประชาชนกับทหารที่มีปืน แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของอำนาจเงิน ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย และนำสู่หายนะมากขึ้นกว่าอดีตด้วย" พ.ญ.จุรี กล่าว

แพทย์ชนบทชี้รัฐบาลควรฟัง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานแพพทย์ชนบท กล่าว่า การที่อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านออกมาเตือน ก็น่าจะเป็นสัญญาณเตือนซึ่งท่านอาจมีข้อมูลวงในว่า บ้านเมืองกำลังเผชิญกับวิกฤต ยากที่จะหาทางออก ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองแต่ละฝ่ายไม่ได้ไปในทางสมานฉันท์ แต่แรงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไม่ลดราวาศอก

"ผมกลัวว่าประเทศไทยจะกลับไปอยู่ในวังวนปัญหาเดิมๆ ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นแก้ก็มีปัญหา ไม่แก้ก็มีปัญหา ดังนั้น เห็นว่า ควรจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน แล้วให้มีการแก้ไข อย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เกิดเป็นปัญหาในระยะยาว" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

"เพ็ญ"หน้ามืดอัดแพทย์อาวุโสหาเรื่อง

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแพทย์อาวุโส ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องก่อน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องยอมรับว่าหากอีกฝ่ายจ้องจะทำให้เป็นเรื่อง ก็ยากที่จะทำให้ทุกอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ หากยังมีเรื่องและมีผู้พยายามจุดชนวน จะทำให้ทำงานลำบาก เพราะฉะนั้น คงต้องประสานงาน และบริหารความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน

"ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญแล้วจะหยุดบริหารประเทศ อย่างนี้เป็นเรื่องตะแบงพูด และพูดเพื่อหาเรื่อง จริงๆ แล้วรัฐบาลมุ่งหน้าบริหารประเทศก่อนเรื่องอื่น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญออกจากปากรัฐบาลน้อยมาก มีแต่คนอื่นพูด แล้วรัฐบาลมาตอบคำถาม" นายจักรภพ กล่าว

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ภายหลังจากหารือกับหัวหน้าพรรคทั้ง 6 พรรคในวันนี้แล้ว ถ้ามีความชัดเจน และจำเป็นจริงๆ ก็จะชี้แจงให้สื่อมวลชนรับทราบ

หวั่นส.ส.ร.3 เป็นเครื่องมือพปช.

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าชื่อส.ว.และ ส.ส. เพื่อยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญว่า แม้จะเข้าใจเจตนาของเพื่อนส.ว.ที่เห็นว่า หากขวางการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนไม่ได้ ก็ต้องหาหนทางที่ดีที่สุด แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และอยากบอกเพื่อน ส.ว.ว่า การเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดให้กับสังคม พรรคพลังประชาชนสามารถฉวยโอกาสไปโฆษณาว่า ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่งใช้มาไม่กี่เดือน ยังไม่พบปัญหาใดๆเลย มีแต่พรรคการเมืองที่กลัวจะถูกยุบพรรค ที่ตื่นตกใจจน ต้องการแก้ไขเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะตั้งขึ้นมานั้น จะมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติ มีแนวโน้มสูงมากที่ ส.ส.พรรครัฐบาล ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาฯ แปรญัตติออกแบบโครงสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีสัดส่วนที่ได้เปรียบ สุดท้าย ส.ว.จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับพรรคพลังประชาชน ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้เนื่องจากเจตนาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน นั้นชัดเจนว่า ต้องการที่จะปลดล็อกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน

"พรรคพลังประชาชน มีวาระชัดเจนว่า จะแก้ มาตรา 237 ยกเลิกโทษยุบพรรค และตัดมาตรา 309 ซึ่งจะเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และสมาชิกบ้าน 111 ต่อสู้ให้คำสั่งคปค. เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับเมื่อปี 2535 ที่ศาลเคยสั่งว่า คำสั่งรสช.ไม่ชอบ สุดท้ายต้องคืนทรัพย์สินให้กับนักการเมืองที่ถูกยึดในช่วงยึดอำนาจ เชื่อว่าทั้ง 111 ใช้แนวทางนี้ในการต่อสู้ ซึ่งหมายความว่า หากครั้งนี้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ตัดมาตรา 309 สำเร็จ และทั้ง 111 คน ต่อสู้ชนะ ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.51 นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และทั้ง 111 จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกรอบ" นายคำนูณ กล่าว

ปชป.รอดูท่าทีก่อนตัดสินใจ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะดื้อดึง เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่จะมุ่งแก้เพื่อประโยชน์ของตนเองในฐานะนักการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ ตามพรรคจะรอดูท่าที การประชุมของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้(7 พ.ค.)ก่อน เพราะมีกระแสข่าวว่า หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับการแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญจะเรียกประชุม ส.ส.ด่วนทันที เพื่อพิจารณาลงมติว่าพรรคจะดำเนินการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้แนวทางคว่ำบาตรการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงข้อเสนอของ ส.ส.บางคน แต่ไม่ใช่มติพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เสียงส.ส.ได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายแรกนำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค เห็นว่า ไม่ควรร่วมสังฆกรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และมีส.ส.หลายคนให้การสนับสนุน แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานคณะทำงานติดตามผลการปฏิบัติงานตามรัฐธรรมนูญ และแก้ไข เห็นว่าเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่ควรต้องร่วมพิจารณาด้วย หากไม่เห็นด้วยในมาตราใด ก็ให้แปรญัตติ

ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ควรจะทำเช่นนั้น เพราะสุดท้ายก็จะแพ้เสียงข้างมาก ทำให้นายอภิสิทธิ์ เสนอให้ที่ประชุมลงมติว่า จะมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ก็ถูกค้านจากนายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราฎร์ธานี ว่าไม่ควรลงมติในขณะนี้ เพราะทางฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

ขณะที่นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ เสนอมอบอำนาจให้นายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจว่าจะวางจุดยืนพรรคอย่างไร แต่นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธใช้อำนาจหัวหน้าพรรคตัดสินใจในเรื่องนี้ และได้เสนอว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาฯ พรรคก็จะเรียกประชุมด่วน แล้วกำหนดมติพรรค ร่วมกันทันที

"เติ้ง"หัวชนฝา ลั่นต้องแก้รธน.

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนยืนยันไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ต้องแก้ ส่วนวิธีแก้ต้องดูอีกที แต่คงไม่จำเป็นต้องไปตั้งอะไรให้มันมากมาย เห็นตรงไหนไม่ดีก็เสนอความเห็นมา และเป็นเรื่องของสภา ส่วนจะเสนอให้ทันสมัยประชุมนี้หรือไม่นั้นตอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ (7 พ.ค.) จะได้ข้อยุติเลยหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า คงจะได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขที่เป็นไปได้ เมื่อถามว่า ได้คุยกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน หรือยัง นายบรรหาร กล่าวว่า เจอกันแล้ว แต่คงต้องไปฟังความเห็นในการหารือกันก่อน ส่วนระหว่างพรรคเพื่อแผ่นดิน กับพรรคชาติไทยยังมีประเด็นต้องหารือร่วมกันอีกหรือไม่นั้น ยังไม่มี นายบรรหาร กล่าวว่า สำหรับมาตรา 309 ต้องดูรายละเอียดกันอีกที ที่สำคัญเสนออะไรมาก็แล้วแต่ ต้องสามารถแปรญัตติได้ และเห็นว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องอยู่ที่เดิม ไม่ควรสังกัดกระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม คิดว่าทุกฝ่ายจะยอมรับได้ เพราะรัฐธรรมนูญ.ปี 50 ไม่ได้ร่างอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อของ ส.ส.ที่จะยื่นญัตติ นายบรรหาร กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่รู้จะคุยเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส.ที่ลงชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายบรรหาร กล่าวว่า ก็แล้วแต่ เป็นความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย เมื่อถามว่าหลายฝ่ายห่วงว่าอาจจะกลับไปสู่เหตุการณ์ 19 ก.ย. นายบรรหาร กล่าวว่า ถ้าอีกทีมันคงไม่ไหวแล้ว บ้านเมืองระส่ำระสาย ก็ช่วยๆกันหน่อย อดใจอย่าวิจารณ์กันมาก แค่เบาะๆก็พอ เอาแบบเป็นน้ำจิ้มพอ อย่าละเลงเหมือนตำน้ำพริก เหมือนขนมเบื้อง

ส.ส.ร.50 เตือนคิดให้ดีก่อนแก้รธน.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร.ปี 50 กล่าวถึงผลสรุปที่ประชุมชมรม ส.ส.ร.50 ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามแก้นั้นบกพร่องตรงไหน รัฐบาลจึงควรศึกษาก่อนว่าสมควรแก้เรื่องใด แต่หากอนาคตจะมีการแก้ไขจริง ไม่สมควรให้ฝ่ายการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นผู้แก้ไข และที่สำคัญต้องเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมชมรม ส.ส.ร. 50 ยังรอดูท่าทีการประชุมของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) ก่อนจะดำเนินการใดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น