xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากภาพยนตร์ในเทศกาลวันครอบครัว (5) เรื่อง "The Pursuit of Happyness"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทเรียนต่อเนื่องในเทศกาล "วันครอบครัว" ตอนจบ สืบเนื่องจากเรื่อง "พ่อจ๋า...อย่าร้องไห้" ซึ่งให้บทเรียนสำหรับลูกๆ ที่น่าจะมีต่อพ่อแม่ มาสู่ "The Family Man" ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับสามีต่อภรรยาและครอบครัว "Evan Almighty" ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับภรรยาและลูกๆ ต่อสามี (หรือกลับกัน) และ สุดท้าย "The Pursuit of Happyness" ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับภรรยาและลูกๆ ต่อสามี

ท่านผู้อ่านคงงงงวยว่า (เฉพาะ "งงงวย" ก็คงงวยงง เช่นกัน) ว่า **Happyness เป็นคำผิด เพราะควรจะเป็น Happiness** จริงๆ แล้ว ผมสังเกตว่า คำนี้ ในชื่อเรื่อง คือ บทเรียนใหญ่ที่สุดของเรื่อง ในตัวภาพยนตร์ จะเน้นเฉพาะตัว "y" อีกด้วย เพื่อจะเน้นให้เห็นตามประโยคของ คริส การ์ดเนอร์ว่า "There is no "Y" in Happiness, it’s an I" ฟังเสียงแล้วแปลได้ว่า ในคำว่า "ความสุข" นั้น ไม่มีคำถามว่า "ทำไม" (WHY) แต่อยู่ที่ "ตัวเรา" (I) ประมาณว่า **อย่าคิดว่า ต้องมีสมบัติมาก จึงมีความสุขมาก ต้องมีสภาพแวดล้อมดี จึงมีความสุขมาก**

เรามนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาอย่างดีเลิศ เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นของโหลๆ โลกทั้งโลก มีเราแต่ละคนอยู่เพียงคนเดียว หนึ่งเดียวในโลก เราทุกคนจึงมีเงื่อนไขที่ต่างกัน คนรวยที่คิดว่าตนมีความสุขเพราะรวย ก็น่าเป็นห่วง เพราะความสุขกับสมบัตินั้น มันช่างชั่วคราวเสียนี่กระไร และน่ากลัว เพราะมักจะนำไปสู่ความโลภไม่สิ้นสุด และการแก่งแย่งสมบัติกัน จนทะเลาะแตกแยกกัน ขาดความรักต่อกัน จนขาดความสุขแท้ในชีวิตไป และก็ไม่ได้หมายความว่า **ความมีสมบัติมากจะเป็นทุกข์ เพราะหากเราทำการงานด้วยความสุจริต มิได้เอาเปรียบใคร เราก็ย่อมทำงานเพื่อความก้าวหน้า และการพัฒนาได้ เราก็ย่อมมีชีวิตที่ดีขึ้นๆ แต่ต้องไม่ให้ความโลภ อยากได้มากกว่าที่เรามี** ทำให้เรามีความทุกข์ได้

เราก็จะมีความสุขได้ในทุกๆเงื่อนไขและสถานะของชีวิต หรือเมื่อมีมาก ก็เข้าใจว่า ทำไมเราจึงถูกสร้างมาให้มีโอกาสมาก เพื่อจะได้เป็นผู้ "ให้" ได้มาก เพราะการให้ย่อมเป็นเหตุให้เป็นสุขยิ่งกว่าการรับ เมื่อมีมาก ก็ช่วยคนอื่นๆและส่วนรวมได้มาก ดังจะเห็นว่า ผู้ที่มีมาก แต่ยังเบียดบังเอาประโยชน์ส่วนรวมไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ก็ไม่เห็นว่าน่าจะมีความสุข

"ความยุติธรรม" ในสังคมยังมีอยู่ และเมื่อใต้ฟ้านี้ ยังมีความยุติธรรม คนก็จะไม่มีค่านิยมที่ผิด ในการมุ่งคิดเอาเปรียบกันโดยไม่เกรงกลัว "ความยุติธรรม" คนจนที่คิดว่า "ไม่มีความสุขเพราะจน" ก็น่าสงสาร เพราะกำลังไขว่คว้าหาสมบัติ ซึ่งก็ไม่ใช่ "ความสุขแท้" **ผมเห็นครอบครัวที่ยากจนไม่น้อย กลับมีความสุขได้ ก็เพราะรักกันและเป็นกำลังใจให้กันเสมอ**

เราหลายๆ คนไม่ต้องดูไกลตัว รุ่นพ่อแม่ของเรา ส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นจากฐานะที่ไม่ใช่ร่ำรวย พ่อแม่ผม ก็ต้องซื้อของมาขาย พ่อต้องหิ้วของไปต่างจังหวัด แม่เฝ้าขายของหน้าร้านที่เช่าพื้นที่คนอื่นเขา ผมก็เห็นครอบครัวพ่อแม่รักกันอย่างมีความสุข

ทุกคนควรจึงตระหนักรู้ว่า เรามีความสุขได้หรือไม่ ไม่อยู่ที่เงื่อนไข (no "WHY") แต่อยู่ที่ "ตัวเรา" (I) เอง

ชีวิตของคริส การ์เนอร์ในเรื่องนี้ ได้มีชีวิตที่ให้บทเรียนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เขาได้ลงทุนทำธุรกิจขายเครื่องสแกนกระดูกกับภรรยาของเขาอย่างผิดพลาด ทำให้ครอบครัวเขาตกในฐานะที่ลำบาก แต่เขายังอดทน หิ้วเครื่องสแกนกระดูกไปขายตามโรงพยาบาลตลอดเวลา เขาเห็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์ดีนวิคเตอร์ (ปัจจุบัน รวมเข้าไปกับบริษัท มอร์แกนแสตนเลย์ไปแล้ว) เขาก็เห็นว่า มีฐานะดี เขาจึงอยากที่จะมีโอกาสบ้าง แต่เขาต้องสมัคร สัมภาษณ์คัดเลือกเหลือเพียง 20 คนต่อรุ่น และต้องทำงานแข่งกัน โดยไม่มีเงินเดือน อ่านหนังสือ ต้องสอบ และต้องหาลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงคนเดียว

ภรรยาเขาเริ่มท้อแท้ ทำงาน 2 กะมา 4 เดือน ค้างค่าเช่ามา 3 เดือน เธอบอกว่า ชีวิตของเธอไม่มีความสุขอีกแล้ว เธอบ่นเมื่อต้องกลับมาดูแลลูก ทำอาหาร ป้อนอาหาร อาบน้ำ แล้วกลับไปเข้ากะ เธอทนไม่ได้แล้ว เธอขอไปจากชีวิตเขา แม้คริสจะพยายามชี้แจง สนับสนุนให้กำลังใจ ก็ไม่เกิดผล เธอจากไปด้วยความทุกข์

ผมคิดตามภาพยนตร์ได้ว่า **แม้ในบางเวลาที่เธอควรจะสุขใจบ้าง อย่างน้อยได้อยู่ร่วมกัน ได้ยืนหยัดเผชิญปัญหาร่วมกันด้วยความรัก ได้ให้ของขวัญแก่ลูกน้อยน่ารัก เธอก็ไม่รับความสุขแล้ว ต่อให้เธอเปลี่ยนเงื่อนไขชีวิตของเธอไป ก็คงไม่มีความสุขได้ง่ายๆ** คริสยังยืนหยัดดูแลลูกต่อไปด้วยความรักมั่นคง เขาไปสมัครงานที่ดีนวิคเตอร์ อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืนเพื่อเตรียมตัวสอบ หิ้วเครื่องสแกนไปขายตามโรงพยาบาลต่อไปด้วยราคาที่ลดลง เพื่อให้ได้เงินมาประทังครอบครัว ติดต่อหาลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ค่านายหน้า ภายหลัง เขาไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ ต้องไปหาที่พักตามสถานอนาถา หรือคริสตจักร คืนหนึ่ง เขากับลูกถึงกับต้องแอบเข้าไปนอนในห้องน้ำสาธารณะ วันนั้นเป็นวันที่ตกอับ แต่เขายังเล่นเครื่องสแกนกระดูกกับลูกของเขาว่าเป็นไทม์แมชชีน

แม้ชีวิตเขาต้องลำบากเช่นนั้น เขาก็ยังเข้มแข็ง เขาหาลูกค้าได้มากมาย และในที่สุด เขาได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งเดียวจาก 20 คนในรุ่นนั้น นาทีที่เขาได้งานทำ เป็นความสำเร็จที่นำมาสู่ความภาคภูมิใจจริงๆ เขาวิ่งไปหาลูกของเขา กอดลูกแน่นด้วยความรักความชื่นชมยินดี ยิ่งเป็นชัยชนะหลังจากผ่านความลำบากมามากเท่าใด ยิ่งทำให้ภาคภูมิใจมากเท่านั้นวลี "The Pursuit of Happiness" มาจากคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ว่า **ชนชาติอเมริกาย่อมมี สิทธิที่จะมี เสรีภาพ สันติภาพ และการแสวงหาความสุข และคริสก็ขยายความว่า ความสุขจะมีได้นั้น เราเองเป็นผู้แสวงหาได้เสมอ** ในภาวะที่ข้าวยากหมากแพง (ดีที่ไม่มีใครกินหมากแล้ว) การฝึกแสวงหาควาสุขได้ในทุกสถานการณ์ก็น่าจะช่วยให้ชาวไทยทุกคนมีความสุข และเข้มแข็งได้ในทุกสถานการณ์นะครับ

มนตรี ศรไพศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น