xs
xsm
sm
md
lg

“พุทธฉือจี้” ขบวนการจิตอาสา...กู้โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดจิ้งซือ ตั้งอยู่ที่เมืองฮวาเหลียน ด้านชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติอันสงบงดงาม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นแพทย์ พยาบาล ผู้นำองค์กรหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดรวมไปถึงนักศึกษาและเยาวชน ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน “มูลนิธิพุทธฉือจี้” ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นต้นแบบของการนำศาสนามาเป็นธงนำทางในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยเน้นการสร้างจิตอาสา ช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

ทุกวันนี้ มูลนิธิพุทธฉือจี้มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลนิธิพุทธฉือจี้มีโรงพยาบาลที่ทันสมัยหลายแห่งในไต้หวัน มีโรงเรียนที่ไม่ใช่เพียงแหล่งให้ความรู้ แต่ผลิตคนให้เป็นคนดี มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยที่สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้เอง มีธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่สัญญาณภาพทั่วโลกจากเงินที่ได้จากการแยกขยะ ซึ่งหลายคนที่ได้ไปเยือนคงอดที่จะประทับใจและอัศจรรย์ใจ ในสิ่งที่พบเห็นไม่ได้
สถานีต้าอ้าย สถานีโทรทัศน์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ที่ถ่ายทอดแต่เรื่องราวดีๆ โดยเงิน 1 ใน 4 ได้รับจากสถานีเก็บขยะ เพื่อสร้างอาคาร รวมถึงสิ่งของหลายอย่างเป็นการนำวัสดุรีไซเคิลมาประดิษฐ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ โต๊ะน้ำชา เป็นต้น
**รู้จัก “ฉือจี้” รู้จักการให้ด้วยใจอาสา
ณ สมณาราม (วัด) จิ้งซือ
ตั้งอยู่ที่เมืองฮวาเหลียน ซึ่งอยู่ด้านชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติอันสงบงดงาม...

ซื่อฟู่ ภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งบวชมานานกว่า 28 ปี เป็นผู้นำคณะศึกษาดูงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมบริเวณโดยรอบสมณารามจิ้งซือ และเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า ฉือจี้ถือเป็นองค์กรพุทธนิกายมหายานแห่งหนึ่งของไต้หวันที่มีการจัดการบริหารแยกส่วนระหว่างวัดกับมูลนิธิอย่างชัดเจน โปร่งใส จนได้รับการยอมรับนับถือ

ทั้งนี้ สมณารามของฉือจี้จะมีอยู่เพียงแห่งเดียวที่ฮวาเหลียน มีภิกษุณี 200 รูป ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่มีการบิณฑบาตแต่เน้นพึ่งพาตนเอง ไม่มีการนำเงินบริจาคมาใช้ เบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุด โดยการกินเจ ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงชีพด้วยการทำงานหลายอย่าง ทั้งรองเท้าเด็ก เทียน เซรามิก เสื้อกั๊ก ไม้แกะสลัก อุปกรณ์ป้องกันการไฟดูด เสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิง ดอกไม้พลาสติก ของเล่น เครื่องประดับ ซึ่งตลอด 40ปี ที่ผ่านมามีงานรวม 21 รายการ สำหรับการทำงานเหล่านี้ไม่ได้หวังผลิตให้ได้เงินมากที่สุด แต่ให้มีพอไว้สำหรับใช้จ่ายในสมณารามเท่านั้น

“เงินที่ได้จาการการทำงานของภิกษุณี และอาสาสมัครที่ต้องการมาฝึกตนทั้งหลาย ถูกแบ่งออกเป็น 2ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในสมณาราม และอีกส่วนนำไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผลผลิตทางการเกษตรก็เช่นเดียวกัน พืชผลส่วนที่ดีจะนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ยากจน ส่วนที่ไม่สวยก็จะนำมาบริโภคภายในวัด ซึ่งท่านธรรมมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ก่อตั้งสำนักพุทธฉือจี้ ให้ข้อคิดไว้ว่า เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจต่อผู้อื่น ของที่ดีๆ ก็ไม่ควรเก็บเอาไว้คนเดียว”
สถานีเก็บขยะไทเป
ซื่อฟู่ อธิบายเพิ่มอีกว่า หลักของฉือจี้ จะเน้นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้านำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ทุกคนสามารถเป็นโพธิสัตว์ได้ในชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า โดยการช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ส่วนมูลนิธิฉือจี้นั้นตั้งขึ้นเมื่อ 2509 โดยเริ่มจากการที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนให้แม่บ้าน 30 คน หยอดเงินคนละ 5 เซนต์ ใส่กระบอกไม่ไผ่ทุกวัน เพื่อให้เห็นว่าเงินเพียงน้อยนิดก็ช่วยเหลือปลอบขวัญผู้ตกทุกข์ได้ยากได้

จนกระทั่งปัจจุบัน มูลนิธิพุทธฉือจี้มีสาขาและสมาชิกทั่วโลกกว่า 5 ล้านคน มีอาสาสมัครหลายแสนคน มีเงินบริจาคมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นหมื่นล้านเหรียญ มีกิจกรรมการกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่เฉพาะที่ไต้หวันเท่านั้น แต่ขยายการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากทั่วโลก ทั้งจากความเจ็บป่วย และภัยธรรมชาติ

**“ฉือจี้ซินเตี้ยน” โรงพยาบาลพระโพธิสัตว์
เนื่องจากความป่วยและความยากจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากป่วยก็ทำให้จน หรือ จนก็ทำให้ป่วยได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ท่านธรรมมาจารย์เจิ้งเหยียนค้นพบและพยายามแก้ปัญหา โดยมีแนวคิดเริ่มออกหน่วยแพทย์ให้การรักษาฟรีเป็นเวลา 15 ปี แต่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด จึงมีแนวคิดในการตั้งศูนย์การแพทย์ขึ้น

อู๋ ฉี เช อิง หนึ่งในอาสาสมัครฉือจี้ ได้นำคณะศึกษาดูงานไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลฉือจี้ซินเตี้ยนไทเป (Tzu Chi Taipei General Hospital) โรงพยาบาลอีกแห่งของฉือจี้ พร้อมให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย บนพื้นที่เกือบ 50,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ก่อสร้าง 15,000 ตารางเมตร ไม่เน้นการสร้างห้องพักมากๆ เพราะต้องการให้มีพื้นที่ว่างที่มีไว้เพื่อใช้ในการพักผ่อน ด้านการรักษาแพทย์จะยึดผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง แพทย์ต้องสำนึกบุญคุณของผู้ป่วยที่ได้ให้แพทย์ได้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น แพทย์จึงไม่ได้รักษาแต่ร่างกายเท่านั้นแต่ดูแลรักษาใจของผู้ป่วยด้วย

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีพนักงานประจำที่เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จำนวน 1,600 คน โดยแพทย์ละพยาบาลถูกคัดมาเป็นพิเศษ ปลูกฝังไม่ให้คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวและดูแลคนป่วยเหมือนเป็นคนในครอบครัว แพทย์ในโรงพยาบาลฉือจี้ จึงอาจเป็นแพทย์ที่อาจต้องเหนื่อยที่สุดในไต้หวัน เพราะมีคนไข้นอก 4 พันคนต่อวันมากกว่าโรงพยาบาลในไต้หวันโดยเฉลี่ยทั่วไป
อาสาสมัครฉือจี้ที่ฝึกตนโดยการช่วยเหลืองานที่วัดโดยการปรุงอาหารร่วมกับภิกษุณี
นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่เป็นอาสาสมัคร จำนวน 220 คน โดยทั้งหมดจะอยู่ประจำ ไม่มีเงินเดือน ซึ่งผู้ที่เป็นอาสาสมัครได้ จะต้องมีเวลาว่าง เมื่อมาทำงานอาสาสมัครก็ไม่กระทบต่อฐานะการเงิน ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาทุกวัน แค่มาวันละ 2 ชั่วโมงก็ได้ หรือ วันละ 8 ชั่วโมงก็ได้ ไม่มีการแบ่งชั้นแบ่งตำแหน่งแต่ทำในสิ่งที่ถนัดสามารถทำได้ เรียกได้ว่า สิ่งสำคัญคือทุกคนที่มาทำงานต้องมีใจ

อู๋ ฉี เช อิง แจกแจงภารกิจในแต่ละวันของอาสาสมัครฉือจี้ในโรงพยาบาลด้วยว่า ใน 1 วัน อาสาสมัครฉือจี้ต้องตื่นตั้งแต่ ตี 4 พอถึง 04.20-06.00 น.จะเริ่มเรียนหนังสือ เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ นั่งสมาธิ ไหว้พระ 07.00-08.20 น.การประชุมอบรมจากธรรมาจารย์ที่มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ต้าอ้ายในช่วงเช้าทุกวัน 08.50-09.00 น.ไปประจำตำแหน่งของอาสาสมัคร 09.00-12.00 น.เริ่มให้บริการผู้ป่วย หลังจากพักกลางวัน ในช่วงบ่าย เริ่มตั้งแต่ 13.30-14.00 น.จะมีการอบรมเนื้อหาหลากหลาย มีแพทย์ พยาบาลมาให้ข้อมูล พอถึง 14.30-17.00 น.เข้าไปทำหน้าที่ตามตำแหน่ง 19.30-21.00 น.ก็จะประชุมตอนเย็น 21.40-03.50 น.เป็นเวลาเข้านอน อย่างไรก็ตาม สำหรับอาสาสมัครที่มาประจำจะมีบ้านพักไว้ให้บริการ ส่วนอาหารการกินหรือค่าเดินทางอาสาสมัครจะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งการทำงานอาสาสมัครทั้งหมด จะเป็นการบังคับด้วยตัวของตัวเองไม่มีใครมาบังคับให้ทำ

ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้น ก็จะเหมือนกับโรงพยาบาลอื่นๆ ของไต้หวัน ซึ่งอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน คือ คนจน ได้รับการยกเว้น ส่วนคนที่จ่ายได้ก็จะต้องร่วมจ่ายตามที่กฎหมายกำหนด

**“บรมครูผู้ไร้เสียง” อาจารย์ใหญ่ผู้มีคุณ
หลังจากก่อตั้งโรงพยาบาลได้ประมาณ 10 ปี วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ฉือจี้ ก็ถือก่อกำเนิดขึ้น ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยฉือจี้ และมีโรงเรียนสาธิตประถม มัธยมศึกษาที่มีการศึกษาครบวงจรแห่งแรกของไต้หวัน มหาวิทยาลัยฉือจี้ใช้หลักการของการ เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการก่อตั้งโรงเรียนและนอกเหนือจากความรู้เฉพาะทางที่ดีเยี่ยมแล้ว ฉือจี้ยังเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำไปสู่ความจริง ความดี และความงามในด้านมนุษยธรรมด้วย

สำหรับการเรียนการสอนฉือจี้จะให้ความสำคัญกับการสอนแบบ 2 ทาง มีการโต้ตอบกัน ฝึกฝนให้มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ รู้จักถาม และมีความสามารถในการแก้ปัญหา รวมถึงสนับสนุนให้เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม ส่วนด้านการให้ความรู้ในการดำเนินชีวิตและเสริมสร้างบุคลิกภาพนั้น ได้จัดให้มีระบบการปรึกษา 2 ทาง มีทั้งครูประจำชั้นและตัวแทนจากอาชีพต่างๆ ที่คัดเลือกจากอาสาสมัครฉือจี้ ช่วยกันดูแลเอาใจใส่ทั้งการเรียน การดำเนินชีวิตและจิตใจ เป็นระบบการปรึกษาที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง

ส่วนการศึกษาเฉพาะทาง การดำเนินชีวิต มนุษยศาสตร์ และศาสตร์แห่งชีวิต วิชาหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญด้านจิตวิญญาณอย่างยิ่ง คือ วิชากายวิภาคศาสตร์ เพราะนอกจากจะมีครูประสิทธิ์ประสาทวิชาแล้ว ยังมีอาจารย์ใหญ่ ผู้ที่เปลี่ยนเรือนร่างที่ไม่มีประโยชน์หลังสิ้นลมแล้วให้มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ดังนั้น นักศึกษาของฉือจี้จะต้องให้เกียรติผู้อุทิศทางเรือนร่างเหล่านี้

มหาวิทยาลัยฉือจี้ เรียกผู้เสียสละเหล่านี้ว่า “บรมครูผู้ไร้เสียง” ผู้กล้าของมวลชนประชา พระโพธิสัตว์ในโลกนี้ เพราะอาจารย์ใหญ่ ไม่เคยโกรธ ด่า หรือ ตี กลับ ถ่ายทอดความรู้ผ่านสรีระโดยไม่เคยบ่นเบื่อ แต่นักศึกษาไม่มีโอกาสแม้แต่ได้ขอบคุณ โดยในชั่วโมงแรกของการเรียนญาติผู้บริจาคจะเขียนจดหมายถึงนักศึกษาแพทย์

“จดหมายฉบับหนึ่งเขียนว่า ขอให้นักศึกษาแพทย์กรีดบนร่างกายของท่านได้เป็นร้อยเป็นพันครั้งแต่ไม่อยากให้กรีดพลาดบนร่างกายของคนไข้”

เมื่อเรียนจบแล้ว นักศึกษาจะต้องเย็บ จัดการกับร่างของอาจารย์ใหญ่ให้เรียบร้อย แล้วแบกโลง พร้อมกับจดหมายฉบับชุดท้ายถึงอาจารย์ใหญ่ด้วย
สถานีเก็บขยะไทเป
นอกจากนี้ นักศึกษาแพทย์จะได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตของอาจารย์ใหญ่ผ่านทางญาติมิตรของผู้บริจาค ซึ่งจะมีการนัดพบปะกัน ทำให้แม้ว่าจะเรียนจบแล้ว แต่อาจารย์จะยังคงสถิตอยู่ในหัวใจนักศึกษาตลอดไป

“เราไม่มีสิทธิ์ครอบครองเรือนร่าง แต่เรามีสิทธิใช้มันเพื่อให้เกิดประโยชน์” ธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน กล่าวไว้ และเผยแพร่แนวคิดนี้ พร้อมกับใช้หลักการให้เกียรติผู้อุทิศเรือนร่างและเคารพยกย่องญาติ จนในปี 2538 มีผู้บริจาคร่างกายเพิ่มมากขึ้นถึง 395 ราย และในปี 2540 ฉือจี้ได้มอบร่างกายผู้เสียสละให้กับสถาบันการแพทย์อื่นอีก 90 ราย จนสามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ได้

นอกจากสถาบันทางการแพทย์แล้ว ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน มีแนวคิดในการก่อตั้งธนาคารไขกระดูกขึ้นโดยประชาสัมพันธ์แนวความคิดไขกระดูกช่วยเหลือบุคคลอื่นได้และปลอดภัยต่อตนเอง เนื่องจากเพียงปลูกถ่ายไขกระดูกจะสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ในปี 2548 จึงเกิดศูนย์คลังข้อมูลไขกระดูกของฉือจี้ ซึ่งสามารถรวบรวมไขข้อมูลผู้บริจาคกระดูกได้มากถึง 27,000 คน ถือว่าเป็นธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่ที่สุดเอเชีย สามารถจับคู่ไขกระดูกกับผู้บริจาคได้มากถึง 856 คู่

นอกจากฉือจี้จะให้ความสำคัญกับการแพทย์และการศึกษาแล้ว ในปี 2539 ฉือจี้ยังได้ก่อตั้งศูนย์จริยศาสตร์และสถานีโทรทัศน์“ต้าอ้าย” สถานีโทรทัศน์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ที่มีรายการดีๆ มากมาย เน้นเรื่องการทำความดี กตัญญูกตเวทิตา การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในสังคม ปัจจุบันข่าวและละครที่แพร่ภาพผ่านฉือจี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยไม่จำเป็นต้องมีรายการโฆษณา เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์มาจากการบริจาค และ 1 ใน 4 มาจากรายได้ของการแยกขยะรีไซเคิลของอาสาสมัครชาวฉือจี้

ด้วยหยาดหยดน้ำใจของมนุษย์ต่อมนุษย์ ในการมีจิตอาสาช่วยเหลือกันและกันนี้เอง ได้กลายเป็นพลังที่ช่วยกอบกู้โลกให้กลับมามีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น