เราเห็นกล้วยสุกเป็นสีเหลือง แต่ภายใต้แสงดำ กล้วยกลับส่องสว่างเป็นสีน้ำเงิน สร้างความประหลาดใจแก่เหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก คาดว่าเป็นปรากฏการณ์นี้ ช่วยให้สัตว์ที่มองเห็นในแสงย่านยูวี มองเห็นกล้วยได้
กล้วยที่เรืองแสงเป็นสีน้ำเงินนี้ ได้รับการค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินนส์บรูค (University of Innsbruck) ในออสเตรีย และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ในนิวยอร์ค สหรัฐฯ ซึ่งไลฟ์ไซน์ ที่รายงานการค้นพบครั้งนี้ระบุว่า พวกเขานับเป็นทีมแรกที่พบปรากฏการณ์นี้ในกล้วย
ทีมวิจัยเชื่อว่า การเกิดสีในกล้วยสัมพัทธ์กับการลดลงของคลอโรฟิลล์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกล้วยสุก และยังช่วยสัตว์ที่กินกล้วย และเป็นสัตว์มองเห็นได้ในย่านแสงอัลตราไวโอเลต
ทั้งนี้คลอโรฟิลล์คือสารสีเขียว ที่มีอยู่ในพืช ซึ่งช่วยให้พืชได้รับพลังงานจากแสงระหว่างการสังเคราะห์แสง
เมื่อกล้วยสุก คลอโรฟิลล์ก็เริ่มลดลง เรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "คาตาบอลิซึม" (catabolism) หรือ การสลายตัวของสารเชิงซ้อน ในสิ่งมีชีวิตเป็นสารที่ต่ำลง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว เข้มข้นอยู่ภายในเปลือกกล้วย ภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า "แสงดำ" (black light) นั้น ผลจากการลดลงของคลอโรฟิลล์จะทำให้เกิดการเรืองแสงเป็นสีน้ำเงิน
"น่าแปลกใจจริงๆ การเรืองแสงสีน้ำเงินนี้ถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง" เบิร์นฮาร์ด ครอยท์เลอร์ (Bernhard Kräutler) หัวหน้าทีมศึกษาจากมหาวิทยาลัยอินนส์บวร์ก กล่าว
ก่อนที่ทีมวิจัยจะพบปรากฏการณ์นี้ มีการพบการเรืองแสงของสารที่เกิดจากกระบวนคาตาบอลิซึมของคลอโรฟิลล์ในพืชชั้นสูงกว่านี้ และเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
ขณะที่การเรืองแสงสีน้ำเงินของกล้วยลดลงไปตามการสุกที่เกิดขึ้น และผลจากการคาตาบอลิซึมก็อยู่ได้นานกว่าปกติ ซึ่งทีมวิจัยก็ได้รายงานสิ่งที่ค้นพบในวารสาร "อันเกวานด์เต เชมี" (Angewandte Chemie) หรือวารสารเคมีประยุกต์ของเยอรมนี ฉบับออนไลน์วันที่ 10 ต.ค.
ระยะเวลาการเรืองแสงที่นานกว่า ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์อันเกิดจากการลดลงของคลอโรฟิลล์ในเปลือกกล้วย ที่ทีมวิจัยได้ค้นพบ และเป็นสารที่ทำให้เกิดผลอันคงที่ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน เพียงพบว่าการเสื่อมของกล้วยแตกต่างไปจากพืชอื่นๆ แม้กระทั่งใบกล้วยเอง ยังไม่มีความรู้ที่สมบูรณ์ แต่ครอยท์เลอร์ก็มีลางสังหรณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้
"ตรงข้ามกับมนุษย์ สัตว์หลายชนิดที่กินกล้วย มองเห็นแสงได้ในย่านยูวี การเรืองแสงสีน้ำเงินของกล้วย ช่วยให้สัตว์เหล่านั้นเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า กล้วยนั้นสุกแล้ว" ครอยท์เลอร์กล่าว และบอกอีกว่าความน่าจะเป็นอื่นๆ คือสารที่เกิดจากการลดลงของคลอโรฟิลล์ยังมีประโยชน์ต่อหน้าที่ทางชีววิทยาของกล้วย เหมือนเป็นสารที่ช่วยเก็บผลไม้ได้นานขึ้น.