xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ "ปลาเรืองแสงสีแดง" นักวิทย์เยอรมันบังเอิญพบใต้ทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักวิทยาศาสตร์เยอรมันบังเอิญพบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไม่ต่ำกว่า 32 สปีชีส์ สามารถเรืองแสงสีแดงได้ด้วยตัวเอง มีทั้งแดงเชอร์รี แดงเลือดนก แดงทับทิม นักวิจัยคาดว่าเป็นวิธีสื่อสารระหว่างพวกเดียวกัน

ภาพใต้น้ำของปลาสามครีบ (triplefin) ซึ่งถ่ายไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2551 โดยเป็นภาพถ่ายภายใต้แสงขาว (ภาพซ้าย) และแสงสีน้ำเงินที่ผ่านเครื่องกรองแสง (ภาพขวา) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบปลาเรืองแสงในลักษณะนี้เป็นครั้งแรก ร่วมกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 32 สปีชีส์ ที่สามารถเปล่งแสงสีแดงได้ในลักษณะเดียวกัน (ภาพจาก AFP PHOTO/ MICHIELS ET AL)
สำหนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นิโก มิชิเอลส์ (Nico Michiel) และทีมนักชีววิทยา มหาวิทยาลัยทูบิงเกน (University of Tubingen) ประเทศเยอรมนี บังเอิญพบปลาบางขนิดที่อยู่ใต้ทะเลสามารถเรืองแสงสีแดงได้ และยังมีสิ่งมีชีวิตเรืองแสงโทนสีแดงได้อีกหลายชนิด อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 32 สปีชีส์

มิชิเอลส์และทีมงานสังเกตเห็นปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นที่เรืองแสงสีแดงได้โดยบังเอิญ ขณะดำน้ำสำรวจใต้ท้องทะเล เมื่อเขามองผ่านเครื่องกรองที่ปิดกั้นไม่ให้คลื่นแสงสีเขียวและสีน้ำเงินผ่านได้ ทำให้มีเพียงคลื่นแสงสีแดงเท่านั้นที่ผ่านเครื่องกรองและสามารถมองเห็นได้ และทันใดนั้นพวกเขาก็สังเกตเห็น โลกสีครามใต้ทะเลเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากชนิดที่เปล่งประกายเรืองแสงโทนสีแดงออกมา มีทั้งสีแดงเชอร์รี แดงเลือดนก แดงทับทิม และแดงสนิม

"ตามแนวปะการังใกล้ๆ กับปลาเหล่านั้น เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตเรืองแสงสีแดงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย ปะการัง และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน" มิชิเอลส์ เผย

ทั้งนี้ นักวิจัยได้นำปลาบางชนิดไปทดสอบในห้องทดลอง ก็พบว่าปลาดังกล่าวสามารถเปล่งแสงสีแดงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์แน่นอน เพราะว่าแสงของดวงอาทิตย์ที่ตามองเห็นและมีความยาวคลื่นมากที่สุดไม่สามารถทะลุผ่านไปใต้ทะเลได้ลึกเกินกว่า 10 เมตร

อย่างไรก็ตาม พวกเขาสันนิษฐานว่าที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เรืองแสงออกมา อาจเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งเพื่อการหาคู่หรือเป็นสัญญาณเตือนภัยให้แก่กัน หรืออาจเป็นวิธีพลางตาจากศัตรูก็เป็นได้

"มันแปลกมากที่ทำให้ตัวเองรอดพ้นสายตาผู้อื่นด้วยการเรืองแสง แต่ปลาที่อาศัยอยู่แถวแนวปะการังมักมีแสงเรืองๆ อยู่รอบๆ ตัวมันอยู่แล้ว ทำให้พวกมันดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ" มิชิเอลส์ กล่าว ซึ่งทีมวิจัยของเขาได้รายงานผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวลงในวารสารบีเอ็มซี อีโคโลจี (BMC Ecology)
ภาพถ่ายใต้น้ำของปะการังที่นักวิจัยถ่ายไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2551 เช่นกัน โดยเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายภายใต้แสงขาว (ภาพซ้าย) และภายใต้แสงสีน้ำเงินและผ่านเครื่องกรองแสง จึงทำให้สีแดงที่เรืองแสงออกมาจากปะการัง (ภาพขวา) ซึงนักวิจัยพิสูจน์แล้วว่า แสงสีแดงที่เห็นนั้นเปล่งออกมาจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ มิได้มาจากการสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ (ภาพจาก AFP PHOTO/ MICHIELS ET AL)
กำลังโหลดความคิดเห็น