xs
xsm
sm
md
lg

แมงกะพรุนเรืองแสงพานักวิทย์สหรัฐฯ 3 เชื้อชาติคว้าโนเบลเคมีปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากโปรเจคเตอร์ของคณะกรรมการขณะประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2551 โดยมอบให้นักวิทยาศาสตร์ 3 คน คือ มาร์ติน คาลฟี, โอซามุ ชิโมมูระ และโรเจอร์ เฉียน (ตามลำดับในภาพ) ที่ค้นพบและมีส่วนร่วมในการนำโปรตีนเรืองแสงไปใช้พัฒนาวิทยาศาสตร์ (ภาพเอเอฟพี)
3 นักวิทย์สหรัฐฯ จาก 3 เชื้อชาติ ควงแขนกันคว้าโนเบลเคมีปีนี้ จากการค้นพบโปรตีนเรืองแสงสีเขียวในแมงกระพรุน และนำไปพัฒนาต่อจนเรืองแสงได้หลากสี พร้อมนำไปใช้เป็นกุญแจไขความลับในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต

เมื่อเวลาประมาณ 16.35 น. ของวันที่ 8 ต.ค. 51 ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศผลรางวัลโบเบล สาขาเคมี ประจำปี 2551 ให้แก่ นักวิทยาศาสตร์ 3 รายจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ โอซามุ ชิโมมุระ (Osamu Shimomura) วัย 80 ปี จากหน่วยปฏิบัติการณ์ชีววิทยาทางทะเล (Marine Biological Laboratory: MBL) มลรัฐแมสซาชูเซตต์

พร้อมด้วยมาร์ติน ชาลฟี (Martin Chalfie) วัย 61 ปี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) มลรัฐนิวยอร์ก และ โรเจอร์ เฉียน (Roger Y. Tsien) วัย 56 ปีจากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ในซานดิเอโก (University of California) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ค้นพบโปรตีนเรืองแสง และนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายในงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์และชีววิทยา

ทั้งนี้ ชิโมมุระ เป็นบุคคลแรกที่แยกโปรตีนเรืองแสงสีเขียว หรือจีเอฟพี (green fluorescent protein : GFP) ได้จากแมงกะพรุน เอควาเรีย วิคตอเรีย (Aequorea victoria) ที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของอเมริกาเหนือ ซึ่งเขาพบว่าโปรตีนนี้ จะเรืองแสงสีเขียวได้เมื่ออยู่ภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต

หลังจากนั้น ชาลฟีก็นำโปรตีนจีเอฟพี ไปใช้ศึกษาทางด้านพันธุกรรม และติดตามปรากฏการณ์ต่างๆ ภายในเซลล์สิ่งมีชีวิต ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย

ส่วนเฉียนนั้นเป็นผู้ที่ศึกษากลไกการเรืองแสงของโปรตีนดังกล่าว และพัฒนาจนได้โปรตีนที่เรืองแสงได้หลากหลายสี.
โรเจอร์ เฉียน หนึ่งใน 3 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2551



การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008

กำลังโหลดความคิดเห็น