xs
xsm
sm
md
lg

ปีทองของเขาจริงๆ ! นายกฯ ญี่ปุ่นหน้าบานลูกพระอาทิตย์เต็มเวที "โนเบล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โยอิชิโร นามบุ
ประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2551 ไปแล้ว 3 สาขา แต่คนที่หน้าบานที่สุดในปีนี้เห็นจะเป็น "ชาวญี่ปุ่น" ที่นักวิจัยจากแดนอาทิตย์อุทัย แย่งพื้นที่บนเวทีโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ได้มากกว่าชาติใดๆ โดยขณะนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 12 ราย แต่มีญี่ปุ่นถึง 4 ชื่อ

หลังจากทราบข่าว การประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2551 นายทาโร อาโซ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกอาการดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ 1 ใน 3 ผู้ได้รับรางวัลสาขาเคมี คือนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ที่แม้จะใช้สัญชาติและอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ตาม

รวมกับวันก่อนหน้านี้ ที่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ก็ประกาศมอบให้แก่ นักวิทยาศาสตร์ 3 ราย ที่เป็นชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด แม้หนึ่งในนั้นใช้สัญชาติอเมริกันไปแล้วเช่นกัน

"ผมประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลถึง 4 คนภายในปีเดียวกัน" อาโซะกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว และบอกอีกว่า "ช่างดีจริงๆ"
ทั้งนี้ โอซามุ ชิโมมูระ (Osamu Shimomura) นักชีววิทยาทางทะเลชาวญี่ปุ่น เคยทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์อีก 2 รายสัญชาติอเมริกัน คือ มาร์ติน คาลฟี และโรเจอ เฉียน เพิ่งจะได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ไปหมาดๆ ในฐานะผู้ค้นพบและพัฒนาการนำโปรตีนเรืองแสงออกจากแมงกะพรุน และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวิจัยทางพันธุศาสตร์และชีวภาพ

อีกทั้งวันก่อนหน้านี้ คณะกรรมการโนเบลก็ประกาศยกรางวัลสาขาฟิสิกส์ให้แก่ นักวิทยาศาสตร์ 3 รายที่เป็นชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด ได้แก่ โตชิฮิเดะ มัสกะวา (Toshihide Maskawa) และ มาโกโต โคบายาชิ (Makoto Kobayashi) พร้อมด้วย โยอิชิโร นามบุ (Yoichiro Nambu) ที่ปัจจุบันรับสัญชาติอเมริกัน ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

นอกจากนี้ ยังมีชาวญีปุ่นได้รับรางวัลโนเบลในปีอื่นๆ อีก ได้แก่

ปี 2545 : โคอิจิ ทานากะ สาขาเคมี (รับร่วมกับจอห์น เฟนน์ สหรัฐฯ และเคิร์ต วูธริช สวิตเซอร์แลนด์)

ปี 2544 : เรียโยจิ โนโยริ สาขาเคมี (รับร่วมกับวิลเลียม โนวลีส และแบร์รี ชาร์ปเลส สหรัฐฯ)

ปี 2543 : ฮิเดกิ ชิระคาวะ สาขาเคมี (รับร่วมกับอลัน ฮีการ์ และอลัน แมกเดียร์มิด สหรัฐฯ)

ปี 2524 : เคนอิจิ ฟูคูอิ สาขาเมี (รับร่วมกับโรอัลด์ ฮอฟมันน์ สหรัฐฯ)
มาโกโต โคบายาชิ



การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008

โตชิฮิเดะ มัสกาวา
โอซามุ ชิโมมุระ
กำลังโหลดความคิดเห็น