xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยมหิดลศึกษาแบคทีเรียควบคุมไข้เลือดออก-รับทุน "มูลนิธิเกตส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิเกตส์มอบทุนวิจัย 105 โครงการ นักวิจัยไทยจากมหิดลผู้นำเสนอการควบคุมไข้เลือดออกด้วยแบคทีเรียร่วมคว้าทุนนี้ด้วย ด้านผู้ให้ทุนระบุ จำนวนโครงการดีมีเข้ามาเยอะเกินคาด จึงต้องเพิ่มจำนวนทุนเป็น 2 เท่า

มูลนิธิเกตส์ (The Bill & Melinda Gates Foundation) ส่งข่าวการมอบทุนในโครงการ Grand Challenges Explorations มายังโต๊ะข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ โดยระบุว่า ทางมูลนิธิได้ประกาศมอบ 105 ทุน มูลค่าทุนละประมาณ 3,400,000 บาท แก่นักวิทยาศาสตร์จาก 22 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก สำหรับการสำรวจวิจัยวิธีการต่างๆ ที่ท้าทาย และส่วนใหญ่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน เพื่อการพัฒนาสุขภาพโลก และยังเป็นการมอบทุนวิจัยครั้งแรกของโครงการ

การประกาศมอบทุนวิจัยเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น.ของวันที่ 22 ต.ค.51 ตามเวลาประเทศไทย โดยมี 105 โครงการจาก 4,000 โครงการที่สมัครเข้าไป ได้รับคัดเลือกให้รับทุนวิจัย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ส่งโครงการวิจัย เพื่อให้คณะกรรมการผู้พิจารณามุ่งเน้นที่นวัตกรรมทางความคิดของผู้สมัคร โดยไม่มองที่ประวัติ ถิ่นฐาน หรือความมีชื่อเสียงขององค์กร ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ที่ส่งโครงร่างวิจัยเข้าร่วมโครงการจากทุกระดับ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับทุนวิจัยมาก่อน ทุนวิจัยยังมอบให้กับมหาวิทยาลัยและองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรอื่นๆ หน่วยงานรัฐบาล และบริษัทเอกชน จำนวน 6 บริษัท

ในจำนวนโครงการที่ได้รับทุนวิจัยนั้น รศ.ดร. ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิดล ได้รับทุนจากมูลนิธิเกตส์นี้ด้วย จากโครงการด้านการเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการจำกัดโรคติดต่อ โดยจะทำการสำรวจวิธีใหม่ๆ ในการควบคุมไข้เลือดออกด้วยการวิจัยแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติตามธรรมชาติในการกำจัดโรคดังกล่าว และสามารถเข้าชมรายละเอียดโครงการวิจัยทั้งหมดที่ได้รับมอบทุนในโครงการได้ที่ www.gcgh.org/explorations

ทางมูลนิธิระบุด้วยว่า การมอบทุนวิจัยในรอบแรกนี้จะกระตุ้นทรรศนะที่สร้างสรรค์ในการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีป้องกันหรือรักษาโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค รวมทั้งลดการดื้อยา ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนวิจัยเป็นผู้แสดงให้เห็นว่า โครงการของตนอยู่นอกเหนือกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ หากหารวิจัยประสบความสำเร็จ โดยได้อธิบายรายละเอียดต่างๆ ภายในใบสมัครจำนวน 2 หน้ากระดาษเท่านั้น

"เราหวังว่าโครงการ Grand Challenges Explorations จะมีกติกาที่เสมอภาคกัน ทำให้ผู้ที่สนใจ ที่มีแนวคิดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสามารถประเมินศักยภาพของความคิดของตนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่การพัฒนาสุขภาพโลก" ดร.ทาชิ ยามาดะ (Dr.Tachi Yamada) ประธานสุขภาพโลก (Global Health) แห่งมูลนิธิเกตส์ กล่าวในการมอบทุนวิจัยในการประชุมประจำปีครั้งที่ 4 ในโครงการ Grand Challenges in Global Health ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯ

"งานวิจัยที่นำเสนอเข้ามานั้นดีเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นการยากสำหรับผู้พิจารณาในการคัดเลือกความคดิที่ดีที่สุดเพียงความคิด จนกระทั่งเราต้องเพิ่มจำนวนการให้ทุนเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่าของที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น" ดร.ยามาดะกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น