xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.วีระศักดิ์" ผอ.เอ็มเทคปลื้ม งานเด่น "พลาสติกคลุมโรงเรือน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา และ ดร.จิตติ์พร เครือเนตร
"ดร.วีระศักดิ์" ผอ.เอ็มเทคปลื้ม "พลาสติกคลุมโรงเรือน" ผลงานเด่น ช่วยเกษตรกร พร้อมชูอีกกลุ่ม "บรรจุภัณฑ์ฉลาด" ผลงานช่วยเหลือคลัสเตอร์อาหาร แจงองค์กรเพียบพร้อมทั้งเครื่องมือ-บุคลากร ต้องใช้การบริหารแบบสมัครใจ ไม่บีบบังคับ

หลังจากรับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เกือบครบปี รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา อดีตรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ฤกษ์แถลงผลงานเด่นของศูนย์ "ฟิล์มโพลีพลาสติกสำหรับคลุมโรงเรือน" ซึ่งนำพาคณะนักวิจัยของเอ็มเทคที่ร่วมพัฒนาคว้ารางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น" ประจำปี 2551 โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมงานแถลงผลงานเมื่อวันที่ 14 ต.ค.51 ณ โรงแรมโฟร์ซีซัน

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงว่า หนึ่งผลงานที่ภูมิใจคือผลงานของกลุ่มงาน "โพลีพลาสติก" ทั้งนี้ในการทำงานนั้นไม่สามารถ "กดปุ่ม" ให้เสร็จภายใน 7 วัน 10 วัน ซึ่งกลุ่มงานโพลีพลาสติกก็เริ่มงานมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีนักวิจัยระดับ "ด็อกเตอร์" ถึง 6 คน และนักวิจัยระดับปริญญาโทอีก 6 คน ทำงานต่อเนื่องจนสำเร็จ และเป็นตัวอย่างของผลงานที่ไปถึงเกษตรกรจริงๆ อีกทั้งยังไม่อ่อนด้อยทางวิชาการ เพราะงานนี้มีบทความทางวิชาถึง 10 เรื่อง พร้อมจดสิทธิบัตรอีก 3 เรื่อง

"เป็นความน่าภูมิใจ เป็นงานที่มีผลงานเชิงวิชาการ ไปถึงผู้ใช้จริงๆ ผลงานนี้ส่งผลกระทบทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับโพลีพลาสติกนั้น ดร.จิตติ์พร เครือเนตร นักวิจัยศูนย์เอ็มเทค และหัวหน้าทีมโครงการวิจัยพัฒนาโพลีพลาสติก อธิบายว่า เป็นพลาสติกที่ลดการส่องผ่านของรังสีความร้อน หรือลดความร้อนได้นั่นเอง ซึ่งความสามารถของโพลีพลาสติกที่พัฒนาขึ้นมานั้นคือ ผสมสารลงในพลาสติกซึ่งทำให้ลดอุณหภูมิลงได้ 3 องศาเซลเซียส และโดยปกติไทยจำเป็นต้องนำเข้าพลาสติกประเภทนี้จะประเทศที่มีเทคโนดลยีชั้นนำในด้านนี้ ได้แก่ อิสราเอล ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาได้เองและมีราคาถูกกว่านำเข้า 4 เท่า โดยขายในราคาตารางเมตรละ 30 บาท

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาพลาสติก ซึ่งผสมสารเคมีที่ทำให้พลาสติกมีคุณสมบัติในการคัดกรองรังสีที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน โดยการปรับสัดส่วนของแสงสีแดงและแสงสีน้ำเงินตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด เพื่อปรับผลผลิตให้ได้มากขึ้น รวมถึงตัดช่วงแสงที่จำเป็นต่อการมองเห็นของศัตรูพืช ซึ่งช่วยป้องกันศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

สำหรับอนาคตจะพัฒนา "โพลีพลาสติกอัจฉริยะ" (smart polyplastic) โดยการเติมสารเติมแต่งที่ช่วยให้พลาสติกแปลงรังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวีไปเป็นช่วงคลื่นที่พืชต้องการได้

จบจากการแถลงข่าว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ถาม ดร.วีระศักดิ์ถึงการบริหารงานเอ็มเทค นับแต่รับตำแหน่งเมื่อ 18 ต.ค.50 ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่า เอ็มเทคเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วย "คนเก่ง" โดยมีบุคลากรระดับ "ด็อกเตอร์" ถึง 91 คน และเมื่อรวมกับบุคลากรในระดับปริญญาโทแล้ว ได้ราว 300 คน

ทำอย่างไรจะให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุข ให้ทุกอย่างเดินไปด้วยดีและเกิดความทุ่มเทขึ้น จึงต้องปรับการขับเคลื่อนไปด้วยความสมัครใจและมีความสุข และไม่บังคับ

"ในการบริหารให้เกิดแรงจูงใจการทำงาน ให้เขาทำงานได้อิสระ แต่ไม่ใช้อิสระจนบานปลาย คือต้องเขามีส่วนร่วมกำหนดทางเดินและเป้าหมาย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดี ประชุมทุกครั้งก็มีผู้ร่วมประชุมครบ 100% แสดงว่าแต่ละคนมีพลังเยอะที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น" รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

ผู้บริหารเอ็มเทคยังได้กล่าวถึงผลงานโดดเด่นของศูนย์ว่า มีผลงานที่โดดเด่น 2 คือ กลุ่มอาหารและกลุ่มเกษตร โดยนอกจากกลุ่มโพลีพลาสติกแล้ว ยังมีกลุ่ม "แอคทีฟแพจเกจจิง" (active packaging) ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มอาหาร

"นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิจัยยางและกลุ่มพลังงานที่ช่วยเสริม โดยพลังงานของอนานคตคือพลังงานทดแทนและพลังงานธรรมชาติ แต่ว่าเอ็มเทคยังมีข้อด้อยในเรื่อง "ระบบเก็บพลังงาน" ซึ่งรูปแบบที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักดีคือ "แบตเตอรี" และถ้าใช้รถไฟฟ้าแล้ว แบตเตอรีจะเป็นคำตอบ ส่วนอีก 20 ปี บางเวทีบอกว่า "เซลล์เชื้อเพลิง" (fuel cell) เป็นพลังงานสำหรับอนาคต แต่บางเวทีว่าไม่ใช่ ถึงใช่หรือไม่ใช่เราก็ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา" รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว.
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา
กำลังโหลดความคิดเห็น