xs
xsm
sm
md
lg

พลาสติกคลุมโรงเรือนอัจฉริยะ พาทีมวิจัยเอ็มเทคคว้านักเทคโนโลยีดีเด่น 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.จิตติ์พร เครือเนตร (กลาง) พาทีมนักวิจัยจากเอ็มเทคคว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2551 พร้อมด้วย ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา (ซ้าย) และ ดร.เสาวภาคย์ โสตถิวิรัช 2 นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปีนี้
นักวิจัยเอ็มเทคพัฒนาพลาสติกใสคลุมโรงเรือน แบบควบคุมรังสี และเลือกความยาวคลื่นแสงได้ด้วยเทคโนโลยีหนึ่งเดียวในโลก ที่ผสมโลหะออกไซด์ให้เป็นเนื้อเดียวกับพลาสติก คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปีนี้ไปครอง ส่วนนักวิจัยเนคเทค ควงคู่หมอศิริราชคว้านักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จากโปรแกรมวางแผนผ่าตัดรากฟันเทียม และเทคนิคใหม่วินิจฉัยดีเอ็นเอทารกในครรภ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลการคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.51 ที่โรงแรมอโนมา โดยมีสื่อมวลชนสนใจเข้าร่วมงานมากมาย

ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับรางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปีนี้คือ กลุ่มเทคโนโลยีโรงเรือนเพื่อเพิ่มผลิตภาพของพืชผล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยมี ดร.จิตติ์พร เครือเนตร เป็นหัวหน้ากลุ่ม จากผลงานการใช้เทคโนโลยีวัสดุภัณฑ์พลาสติกใสชนิดใหม่ และเทคโนโลยีการออกแบบโรงเรือน ที่สามารถลดและควบคุมปริมาณการส่องผ่าน ของรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) รังสีอินฟาเรด (รังสีความร้อน) และคัดเลือกแสงในช่วงความยาวคลื่นได้ตรงตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด

ดร.จิตติ์พร เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ฝนไม่ตกตามฤดูกาล โรคและแมลงระบาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อการกำจัดศัตรูพืช และเพื่อเพิ่มผลผลิต หรืออีกวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้คือเพาะปลูกพืชในโรงเรือนแทนในที่โล่งแจ้ง

ทว่าสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน และสภาวะในโรงเรือนทั่วไปไม่เหมาะสมกับพืชที่ต้องการปลูก ส่งผลต่อผลผลิตของพืช จึงได้พัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือนที่สามารถลดและควบคุมปริมาณการส่องผ่านของรังสียูวี รังสีอินฟาเรด และเลือกแสงในช่วงความยาวคลื่นที่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยใช้โลหะออกไซด์เป็นส่วนประกอบในพลาสติก ควบคู่กับการออกแบบโครงสร้างของโรงเรือนให้สภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนใกล้เคียงกับภายนอกมากที่สุด และระบายอากาศได้ดี

"แรกเริ่มเราใช้เทคโนโลยีพ่นเคลือบโลหะออกไซด์ลงบนพลาสติก แต่ปัจจุบันเราสามารถปรับปรุงโครงสร้างของโลหะออกไซด์เพื่อผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับพลาสติก ทำให้สารที่ผสมเข้าไปจะไม่หลุดออกเหมือนการพ่นเคลือบ โดยเลือกชนิดสารเติมแต่งในพลาสติกให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด และควบคุมขนาดของสารให้อยู่ระหว่าง 30-200 นาโนเมตร ซึ่งยังคงความใสของพลาสติกเอาไว้ และควบคุมอุณภูมิให้ลดลงได้ 2-3 องศาเซลเซียส" ดร.จิตต์พร แจงและอธิบายต่อว่า

ในการสร้างโรงเรือน จะเริ่มจากตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ในบริเวณนั้น นำข้อมูลมาประมวลทางคณิตศาสตร์เพื่อออกแบบโครงสร้างของโรงเรือนให้สภาวะภายในและภายนอกโรงเรือนใกล้เคียงกันให้มากที่สุด และเลือกใช้พลาสติกคลุมโรงเรือนที่เหมาะกับพืชแต่ละชนิด

หากต้องการปลูกมะเขือเทศให้มีสีแดงสดสวย ก็ต้องทำให้พลาสติกยอมปล่อยรังสียูวีเอผ่านได้มาก หรือหากเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น ก็ทำให้รังสีอินฟาเรดผ่านเข้าโรงเรือนได้น้อยลง หากปลูกพืชที่ต้องการใบก็ทำให้แสงในช่วงความยาวคลื่นแสงสีน้ำเงินผ่านได้มากขึ้น

งานวิจัยนี้ทำให้ไทยผลิตพลาสติกแบบเลือกแสงได้เองในประเทศ ซึ่งถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 4 เท่า และเป็นแห่งเดียวในโลกที่สามารถผสมโลหะออกไซด์เข้าไปในพลาสติกได้ ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการออกแบบและสร้างโรงเรือนถูกลง 30% แต่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้ถึง 40% ช่วยลดการใช้สารเคมีลงได็ 30-50% โดยผลงานนี้ได้นำไปใช้งานจริงที่มูลนิธิโครงการหลวง เช่น โรงเรือนมะเขือเทศ สตรอเบอร์รี เมลอน พริกหวาน และผักใบต่างๆ

ดร.จิตติ์พร บอกว่าได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกคลุมโรงเรือนให้กับ บริษัท ควอลิตี้ แพคพริ้นติ้ง 2000 และกำลังพัฒนาต่อให้พลาสติกดังกล่าวมีราคาถูกลง และเกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้มีราคาแพงกว่าพลาสติกธรรมดาไม่ถึงเท่าตัว รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถควบคุมการผลิตสารสำคัญในพืชที่ต้องการได้ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี 2 รางวัล ได้แก่ ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยทารกในครรภ์โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของทารกในกระแสโลหิตของมารดาด้วยวิธี เรียลไทม์ ฟลูออเรสเซนซ์ พอลิเมอร์ เชน รีแอคชัน (real-time fluorescence polymer chain reaction)

และ ดร.เสาวภาคย์ โสตถิวิรัช นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จากผลงานการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการวางแผนการผ่าตัดรากฟันเทียมตัวแรกของประเทศไทยภายใต้ชื่อ เดนติแพลน (DentiPlan)

ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์ เผยว่า การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์ ปรกติจะต้องเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของทารกจากการเจาะถุงน้ำคร่ำ เนื้อเยื่อรก หรือเลือดจากสายสะดือ ทำให้มารดาเสี่ยงต่อการแท้งบุตร 0.5-2% และต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ผู้ที่อยู่ห่างไกลจึงอาจขาดโอกาสในการเข้าถึงส่วนนี้ โดยเฉพาะการตรวจโรคธาลัสซีเมียในทารก

ทว่าวิธีใหม่ที่พัฒนาขึ้นสามารถตรวจได้จากการสกัดสารพันธุกรรมของทารกจากเลือดของมารดาโดยการเจาะเลือดมารดาตามปรกติ เพราะเลือดของมารดาและทารกเชื่อมโยงถึงกันด้วยสายสะดือ นำดีเอ็นที่สกัดได้มาเพิ่มปริมาณ และตรวจหาว่ามีความผิดปรกติของยีนที่ทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ โดยใช้ยีนโพรบที่ติดสารเรืองแสงเข้าทำปฏิกิริยา

วิธีนี้ให้ผลการตรวจแม่นยำสูงโดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับครรภ์เลย และสามารถเก็บตัวอย่างเลือดจากมารดาที่อยู่ห่างไกลมาตรวจในห้องแล็บได้ อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังสามารถตรวจได้ครั้งละ 1 ยีน เท่านั้น ซึ่ง ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์ กำลังพัฒนาให้สามารถตรวจได้ครบทุกยีนที่ต้องการทราบในคราวเดียวกัน เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจ

ด้าน ดร.เสาวภาคย์ เผยว่า DentiPlan เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยทันตแทย์วางแผนในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม โดยใช้ข้อมูลภาพ 3 มิติ ในมุมมองต่างๆ ที่ได้จากเครื่องเอ็กซ์-เรย์ ซีที (X-ray CT) ซึ่งให้ข้อมูลถูกต้องและแม่นยำ ช่วยจัดวางรากฟันให้อยู่ตำแหน่งที่เหมาะสม และวิเคราะห์ความแข็งแรงของกระดูกบริเวณนั้นได้

"เดิมทันตแพทย์จะต้องวางแผนการผ่าตัดเองโดยอาศัยภาพจากฟิล์มเอ็กซ์-เรย์ ซึ่งเป็นภาพ 2 มิติ โดยส่วนที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือเส้นประสาทหลักบริเวณกรามล่าง หากการผ่าตัดไปกระทบกระเทือนบริเวณดังกล่าว จะทำให้คนไข้มีโอกาสสูญเสียความรู้สึกบริเวณใบหน้าช่วงล่าง ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์แต่ละคน และในไทยยังมีทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมไม่มากนัก ส่วนซอฟต์แวร์ของต่างประเทศก็มีราคาแพงมากถึง 2 ล้านบาท" ดร.เสาวภาคย์ อธิบาย

นักวิจัยใช้เวลาพัฒนาซอฟต์แวร์นี้มา 3 ปี จากการเก็บข้อมูลความต้องการของทันตแพทย์ในประเทศไทย และเสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยได้นำตัวอย่างซอฟต์แวร์นี้ไปใช้แล้วหลายแห่ง เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC)

ทั้งนี้ นักเทคโนโลยีดีเด่นจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 600,000 บาท ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัลละ 100,000 บาท โดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะเข้ารับพระราชทานรางวัลประติมากรรมเรือใบซูเปอร์มดจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 31 ต.ค.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท.34)
ดร.จิตติ์พร เครือเนตร
ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา
ดร.เสาวภาคย์ โสตถิวิรัช
กำลังโหลดความคิดเห็น