xs
xsm
sm
md
lg

หมอภูธร 14 จังหวัดใต้ ติวเข้มเตรียมรับมือการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - กรมควบคุมโรค ติวเข้มแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าบุคลากรทางการแพทย์จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมพร้อมการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าอาจะเกิดความรุนแรง ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่รวมถึงทั่วโลกโดยการประสานความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่อาจมองว่าเป็นโรคทั่วไปเกิดได้บ่อยรักษาได้ง่าย แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั่วโลกเป็นกังวลกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มาจากการกลายพันธ์ของเชื้อไข้หวัดนก จึงต้องมีการวินิจฉัยที่แม่นยำ ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ สำหรับสถิติการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2550 มีผู้ป่วย 18,368 ราย เสียชีวิต 15 ราย ปี 2551 นับถึงวันที่ 13 ก.ย. มีผู้ป่วยแล้ว 11,683 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี

ในส่วนของวัคซีนสำหรับป้องกันโรค นายแพทย์ศุภมิตร กล่าวว่า ทุกปีจะต้องมีการผลิตวัคซีนโดยนำเชื้อที่ระบาดมาแล้วมาผลิต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากมีการระบาด อย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนจะใช้เมื่อมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสโรคที่อาจติดโรคได้ง่าย และการให้วัคซีน จะต้องไม่ใช่สาเหตุของการประมาท ขาดความระมัดระวังในการติดต่อ

ด้าน นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า เรื่องของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น ในปี 2551-2553 ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินการ 4 ด้าน คือ การเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดโรค การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในคนและสัตว์ การเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและนานาประเทศ และที่สำคัญเร่งด่วนคือการให้วัคซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่นผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และอื่นๆ รวม 4 แสนคน ใช้งบตั้งโรงงานผลิตวัคซีน 1,400 ล้านบาท ดำเนินการ 5 ปีนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น