หลังจากถูกต่อต้านไปพอสมควรสำหรับ "หอดูดาวแห่งชาติ" ซึ่งเดิม กำหนดก่อตั้งบนยอดดอยอินทนนท์ ที่สุดตำแหน่งที่ตั้งของหอดูดาว จึงต้องลดระดับลงมาอยู่ในพื้นที่ของ "ทีโอที" ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน โอกาสที่ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้ไปเยือนที่ตั้งใหม่นี้ จึงเก็บภาพบรรยากาศโดยรอบมาฝาก
เดิมทีหอดูดาวแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบการก่อสร้างโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แหงชาติ (สดร.) มีกำหนดก่อตั้งบนยอดดอยอินทนนท์ บริเวณจุดบริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร แต่ก็เกิดกระแสต่อต้าน เนื่องจากหวั่นเกรงว่า การก่อสร้างจะกระทบกระเทือนต่อสภาพแวดล้อม อันอ่อนไหวของป่าเมฆบนยอดดอย พร้อมกับข้อเสนอให้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งของหอดูดาว ที่สุดได้ข้อสรุปว่าที่ตั้งใหม่ของหอดูดาวอยู่บริเวณพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,450 เมตร
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พร้อมสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา และมีโอกาสเดินทางไปชมสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของหอดูดาวแห่งชาติ โดยมี ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร., นายประพนธ์ อิสสริยะกุล วิศวกรอาวุโส สดร. และ นายศุฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สำรวจสถานที่ตั้งหอดูดาวแห่งชาติ ร่วมนำทาง
ทั้งนี้ พื้นที่ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ของทีโอทีอยู่ไม่ไกลจากทางหลวงมากนัก แต่ต้นไม้สองข้างทางและเมฆหมอกที่ปกคลุมตลอดเกือบเวลาบดบังสิ่งก่อสร้างออกไปหมด เมื่อเข้าไปในบริเวณพื้นที่ใช้สอยของทีโอที พบอาคารร้างเล็กๆ กับเสาสัญญาณต้นใหญ่ 1 ต้น และมีพื้นว่างสำหรับตั้งอาคารหอดูดาว ซึ่ง ดร.ศรันย์ระบุว่าใช้พื้นที่ทั้งหมด 100 ตารางเมตร โดยหอดูดาวสูง 17 เมตร และตอกเสาเข็มลึกลงไป 20 เมตร
นายประพนธ์ วิศวกรอสาวุโส สดร.อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การตอกเสาเข็มนี้เพื่อให้ฐานของหอดูดาวแข็งแรง และป้องกันการสั่นสะเทือน ส่วนความสูงของหอดูดาวนั้นเดิมกำหนดไว้ 11 เมตร แต่เมื่อย้ายที่ตั้งก็สามารถเพิ่มความสูงของหอดูดาวได้โดยไม่รบกวนสัญญาณเรดาร์ของทหารอากาศซึ่งตั้งสถานีอยู่บนยอดดอย
การควบคุมกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาว ดร.ศรันย์ ระบุว่าสามารถควบคุมระยะไกลได้ แม้กระทั่งควบคุมจากกรุงเทพฯ โดยสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์จะส่งตรงผ่านสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทีโอทีไปยังศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำการของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กิโลเมตร 31 และตอนนี้พร้อมสำหรับการฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่พร้อมสำหรับการให้บริการข้อมูลดาราศาสตร์ และจะทำการส่งมอบในวันที่ 30 ต.ค.51 นี้
สำหรับการก่อสร้างหอดูดาวจะเริ่มได้เมื่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ผ่านการอนุมัติ โดยจะส่งอีไอเอให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเมื่อพิจารณาผ่านแล้วจะส่งต่อให้กับอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ดร.ศรันย์คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาและช่วงเดือน ธ.ค. อีไอเอน่าจะผ่านการพิจารณา จากนั้นน่าจะเริ่มก่อสร้างหอดูดาวในช่วงต้นปี 2552