xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทยานฯห้วยน้ำดัง
แม้ว่าขณะนี้เรื่องของการเปิดสัมปทานให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างสิ่งปลูกสร้างภายในอุทยานแห่งชาติ จะถูกระงับไปชั่วคราว เพราะทานต่อกระแสคัดค้านของสังคมไม่ไหว แต่กระนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกรมอุทยานก็ยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหาเหตุทำประชาพิจารณ์ ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าอาจเป็นการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบมาพากล

ทำให้ผู้ที่คัดค้านต่อเรื่องนี้ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ด้วยเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแนวคิดอุบาทว์ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายธรรมชาติเช่นนี้จะหวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นสอดส่อง อย่าปล่อยให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมรดกของทุกคนในชาติ

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งและป้องกันมิให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสะดวกสบายบนผืนป่าได้อีก คือ เราต้องร่วมมือช่วยกันหาทางออก ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วล้อมคอก แต่ล้อมคอกไว้กันไม่ให้วัวออกจะดีกว่า

แนวคิดหนึ่งที่มีหลายๆคนนำเสนอก็คือในเรื่องของอุทยานแห่งชาติต้นแบบหรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่าง ซึ่งคัดสรรอุทยานแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนาอุทยานฯอื่นๆ
อุทยานฯอินทนนท์
โดย วินิจ รังผึ้ง ได้นำเสนอแนวคิดนี้ ผ่านคอลัมน์ถนนคนเดินทาง หน้าท่องเที่ยว นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กันยายน 2551 สรุปความได้ว่า เรื่องการปรับมาตรฐานการบริการของอุทยานแห่งชาติก่อนที่จะยกไปให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดระยะยาว

ซึ่งทางกรมอุทยานฯน่าจะลองทำโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบ หรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่างขึ้นมา โดยอาจจะคัดเลือกอุทยานแห่งชาติยอดนิยมสัก 3 แห่งมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเลือกอุทยานแห่งชาติในลักษณะต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกสักแห่งอาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ได้

จากนั้นลองทุ่มเทสรรพกำลังของนักวิชาการอุทยานฯ รวมทั้งผู้บริหารของกรมฯ ออกแบบอุทยานแห่งชาติในฝันขึ้นมา แล้วทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ค่ายพักเยาวชน ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารมาตรฐานไม่ใช่ร้านขายเหล้าขายเบียร์อย่างที่เป็นอยู่ในบางอุทยานฯ

จัดระบบดูแลความปลอดภัยและมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวยามฉุกเฉิน รวมทั้งบริการกิจกรรมนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เช่นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นำทางดูนก ล่องแก่ง จักรยานเสือภูเขา

โดยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารและให้บริการได้ทั้งกับนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตลอดจนทำระบบการสื่อสารการสั่งจองบริการให้สะดวกสบายได้จากทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเหมือนเช่นอุทยานแห่งชาติระดับสากล

เมื่อพัฒนาอุทยานต้นแบบนำร่องได้มาตรฐานเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับราคาค่าธรรมเนียม ค่าบริการให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้หรือเป็นรายได้นำไปปรับปรุงมาตรฐานบริการในส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ
อุทยานฯผาแต้ม(ภาพ : ททท.)
หากโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงอุทยานแห่งชาติอื่นๆให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานอุทยานฯยอดนิยมทีเดียว 10 แห่งโดยมีระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งหากมีความผิดพลาด มีความล้มเหลวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข

สำหรับแนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังมิอาจทราบได้ เพราะต้องมีฝ่ายรับสนองตอบต่อแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน และถ้าหากมองถึงเรื่องอุทยานต้นแบบแล้ว ก็ใช่ว่าอุทยานในบ้านเราจะไม่มี เพราะคนอุทยานส่วนหนึ่งต่างก็ล้วนใส่ใจพัฒนาอุทยานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

พูนสถิตย์ วงสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ซึ่งในปีนี้อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องอุทยานนำร่องและการพัฒนาอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ว่า

สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานดอยภูคาใส่ใจอยู่เป็นนิจ คือ เรื่องของการรักษาธรรมชาติดั้งเดิมไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เราก็จะพยายามให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เราใช้วัสดุที่เป็นของในท้องถิ่น ไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไป

เรื่องของสาธารณสุขเราใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยเป็นหลัก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะที่ดอยภูคามีพืชที่สามารถพบได้เพียงแห่งเดียวของโลกอยู่หลายชนิดด้วยกัน นักท่องเที่ยวจะได้ดูความหลากหลายทางชีวภาพ ดูดาว ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 80 กิโลเมตร
อุทยานฯแก่งกระจาน(ภาพ : ททท.)
"ผมคงไม่สามารถบอกว่าเราเป็นอุทยานต้นแบบ แต่เราพัฒนาเรื่อยๆมากกว่า อย่างเรื่องเช่าอุทยานทำสัมปทานที่มีกระแสข่าว ก็คงต้องค่อยๆศึกษาผลกระทบและการจัดการว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่นี่จะเน้นส่วนร่วมของชุมชนให้มีส่วนร่วม มีกระบวนการตั้งแต่เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยาน ให้คำแนะนำทิศทางการเคลื่อนไหวของอุทยานแห่งชาติ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะทำอะไรก็อยากให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ อุทยานที่ดีต้องในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์"พูนสถิตย์กล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับทางด้านของ อภิชา อยู่สมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคกลาง

และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังเป็น1ใน10 อุทยานแห่งชาติที่มีชื่อติดโผ 10 อุทยาน ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทาน ได้กล่าวว่า แหล่งธรรมชาติในแต่ละที่ก็คงมีความสวยงามแตกต่างกันไป ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่อยู่ที่การบริการจัดการของแต่ละแห่งมากกว่า

"ที่แก่งกระจานเราเน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ ถ้าเอาเรื่องความยิ่งใหญ่ ความสวยงามของงบประมาณเข้ามาเป็นสำคัญอุทยานแห่งเล็กๆก็หมดกำลังใจ แต่เราต้องการสอนว่าบุคลากรมีจิตวิญญาณการเป็นคนบริการอย่างไร และต้องอาศัยความร่วมมือของนักท่องเที่ยว เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องการให้คนที่มาเที่ยวเกิดความสุข อัธยาศัยไมตรีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราเน้น"อภิชากล่าว

ส่วนเรื่องด้านการบริการอื่นๆอย่างเรื่องขยะ เรื่องการกางเต็นท์ เขามองว่าเป็นเรื่องจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวมาเพราะใจรักธรรมชาติ ไม่ต้องเอ่ยอะไรนักท่องเที่ยวจะลงมือทำเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็เจอแต่นักท่องเที่ยวที่ดีทำให้แก่งกระจานมีมนต์เสน่ห์ตรงนี้

"เราไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลกำไร ทำงานหนักหรือทำงานน้อยก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ต้องทำให้คนของเรามีใจทำงาน"อภิชากล่าว

เมื่อถามถึงความสุขที่จะได้รับจากการเข้าป่าท่องเที่ยวตามอุทยานต่างๆอะไรที่นักท่องเที่ยวเรียกว่าเป็นความสุขที่แท้จริง อภิชากล่าวว่า การเข้าป่าสามารถสัมผัสความสุขได้ สามทาง คือ ทางสายตา สามารถสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ สัมผัสที่สองทางร่างกาย ความเย็นของธรรมชาติ สัมผัสที่สาม คือ ทางเสียง ไม่มีเสียงอะไรที่รบกวน นอนใกล้น้ำตกหลับสนิทมีความสุข แตกต่างจากน้ำไหลจากก๊อก ความรื่นรมย์เห็นนกบินตามธรรมชาติ

และหากพูดเรื่องแนวคิดอุทยานต้นแบบ เขาก็เชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสามารถเป็นต้นแบบได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าขณะนี้อุทยานแห่งชาติก็กำลังพัฒนาการเป็นอุทยานนำร่องอยู่ สองเรื่อง คือ ด้านการป้องกันเรามีระบบการลาดตระเวนที่เป็นมาตรฐาน
อุทยานฯเขาใหญ่(ภาพ : ททท.)
ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ไปบรรยายเรื่องนี้ให้กับอุทยานทั่วประเทศมาแล้ว 8 ครั้ง ในเรื่องการวางระบบการป้องกัน สอง เรื่องงานวิชาการ การบริหารจัดการพื้นที่ มันสมองของการจัดการต้องดูว่าจุดไหนเปิดได้กระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนถ้าเปิดแล้วได้กำไรแค่ปีสองปีแรก แต่พอเข้าปีที่สามนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ แต่ธรรมชาติเสียหาย สุดท้ายมันก็ไร้ความหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร

"เพราะจุดประสงค์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ คือ การรักษาสภาพธรรมชาติให้ยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช้แค่รุ่นเราแต่เลยไปถึงรุ่นลูกหลาน"อภิชากล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน บัญชา ประเสริฐศรี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดีเด่น ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุทยานแห่งชาติผาแต้มได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นเพราะ เราเสนอเรื่องการจัดการแหล่งท่องเที่ยวการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเรื่องการดูแลแผนนำร่อง ทำแผนการรองรับนักท่องเที่ยวของอุทยานให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆจะแก้ไขอย่างไร
อุทยานฯภูกระดึง(ภาพ : ททท.)
"ต้องรู้จักการวางแผนการดูแลความปลอดภัย การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ ททท. จังหวัด อบจ. ต้องร่วมมือกันการจัดการบริหารที่ดีต้องเริ่มบุคลากร ทรัพยากร สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ให้มีกำลังใจทำงาน การให้บริการแหล่งข้อมูลต่างๆ น้ำตก ดอกไม้ป่า"บัญชากล่าวและดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามคนเน้นและเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องของการพัฒนาคนนั่นเอง

บัญชายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ตอนนี้ในส่วนของกรมอุทยานเองได้นำอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็น 1ในอุทยานนำร่องของไทย เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดการของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยมีนโยบายว่าต้องได้มาตรฐานสากล ซึ่งอุทยานนำร่องที่ได้รับการคัดเลือกมีด้วยกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติสิมิลัน เป็นต้น

ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทิศทางการพัฒนาอุทยานนำร่องของกรมอุทยาน ที่มีขึ้นนี้จะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ซ้ำรอยกรณีการเปิดสัมปทานเช่าอุทยานในเอกชนอีก

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการแตกประเด็นออกมาจากกรณีกรมอุทยานฯ มีความพยายามที่จะเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทานทำธุรกิจในพื้นที่ 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดัง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ห้วยน้ำดัง, ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยผ้าห่มปก, ภูกระดึง, แก่งกระจาน, เอราวัณ, หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ซึ่งล่าสุด ทาง ทส. ได้ถอนเรื่องออกจากมติครม. เนื่องจากมีกระแสต่อต้านและคัดค้านจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเพราะในอนาคตอาจจะมีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้
 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดเอกชนเช่าอุทยานฯ:คนเล็กรักษ์ป่า คนโตขายป่า/ปิ่น บุตรี
ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร/ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  
โรงแรมในอุทยานแห่งชาติ/เสรี เวชชบุษกร ประธานชมรมนักนิยมธรรมชาติ   
จับตาเปิดเช่าอุทยานฯ ฤาป่าไม้-ทะเลไทยจะฉิบหาย! ! !
นักวิชาการค้านกระทรวงทรัพยากรฯ ดึงเอกชนขยี้10อุทยานแห่งชาติ   
เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ/วินิจ รังผึ้ง  
เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ 2 /วินิจ รังผึ้ง  
อุทยานฯอ้างเอกชนเช่าพื้นที่ ไม่ล้ำเขตอนุรักษ์  
ให้เอกชนเช่าอุทยานฯ:ขายฝัน ขายท่องเที่ยว หรือขายป่า???/ปิ่น บุตรี  
กรมอุทยานโว เอกชนสนเช่าอุทยานนับ100ราย  



กำลังโหลดความคิดเห็น