xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่เลิกกินอุทยาน เอกชนเสนอแผนสร้างรร.ห้าดาวบนเกาะตะรุเตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทยานฯตะรุเตา
กรมอุทยานฯยังไม่เลิก เดินหน้าสำรวจ 7 อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามันให้เอกชนเช่า ล่าสุดกลุ่มบริษัทบ้านปูละคร เสนอแผนลงทุนโรงแรม 5 ดาว ที่อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น กรณีนโยบายเอกชนเข้าใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดบริการท่องเที่ยวในวันที่ 24 ก.ย. นี้ แต่ในระดับพื้นที่กลับมีการเนินการสำรวจเปิดเช่าอุทยานแห่งชาติ โดยล่าสุดสรุป 7 อุทยานแห่งชาติที่มีศักยภาพเปิดเอกชนเช่าพื้นที่ได้แล้ว

จากการตรวจสอบเอกสารการประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมบริการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ที่มีนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธาน โดยการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 ได้สรุปแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเช่าอุทยานแห่งชาติ โดยแบ่งคณะทำงานเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 ภาคใต้ ชุดที่ 2 ภาคเหนือ และชุดที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง

สำหรับหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าวจะทำหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์และนำเสนอรายละเอียดความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบ พร้อมสรุปบริเวณที่จะให้เอกชนลงทุนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้คณะกรรมการอำนวยการฯได้จัดประชุมครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายนภดล พฤกษะวัน หัวหน้าคณะทำงานชุดที่ 1 (ภาคใต้) ได้สรุปรายละเอียดการสำรวจอุทยานภาคใต้เบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ กระทั่งมีมติเลือก 7 อุทยานแห่งชาติ และกำหนดจุดบริการเพื่อการท่องเที่ยว 24 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณเกาะตาชัย เนื้อที่ 45 ไร่ บริเวณอ่าวงวงช้าง เกาะแปด พื้นที่ 40 ไร่ 2.อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต บริเวณท่าฉัตรไชย หาดลายัน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณหัวแหลมอ่าวปอ เนื้อที่ 30 ไร่

3.อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา บริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป.3 (ปาง) และบริเวณข้างเคียง และบริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป.3 (ปาง) ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ 4.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มี 4 แห่งคือบริเวณหาดนพรัตน์ธารา พื้นที่ 5 ไร่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 (สุสานหอย) เนื้อที่ 12 ไร่ บริเวณที่ราบเกาะปอดะใน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพีดอน เนื้อที่ 40 ไร่

5.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง รวมพื้นที่ 7 แห่ง รวมทั้งหมด 1,910 ไร่ ได้แก่บริเวณที่ทำการอุทยาน (หาดฉางหลาง) เนื้อที่ 809 ไร่ บริเวณหาดยาว เนื้อที่ 440 ไร่ บริเวณเกาะกระดาน เนื้อที่ 118 ไร่ บริเวณหาดหยงหลิน เนื้อที่ 53 ไร่ บริเวณหาดฉางหลาง (เพิ่มเติม) เนื้อที่ 179 ไร่ บริเวณหาดสั้น เนื้อที่ 162 ไร่ และบริเวณเกาะมุก เนื้อที่ 149 ไร่

6.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ 2 แห่ง คือพื้นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ 1 (เกาะรอก) เนื้อที่ 336 ไร่ บริเวณชายหาดอ่าวไม้ไผ่ ใกล้จุดที่ทำการอุทยานฯลันตา เนื้อที่ 26 ไร่ และ 7.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล 4 จุด คือบริเวณอ่าวจาก เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 80 ไร่ อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 40 ไร่ บริเวณอ่าวราชา เกาะราวี เนื้อที่ 30 ไร่ และบริเวณอ่าวตะโละปะเหลียน เกาะราวี เนื้อที่ 60 ไร่ 

นอกจากนั้น ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีนำเสนอการขออนุญาตเช่าพื้นที่บริการบริเวณอ่าวเมาะและ ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยบริษัทบ้านปูละคร (2550) จำกัด ที่ได้เสนอแผนวิเคราะห์การลงทุนพัฒนาโรงแรมระดับห้าดาวจำนวน 140 ห้อง บนพื้นที่อ่าวเมาะและ แต่ที่ประชุมยังเห็นว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบว่าด้วยการอนุญาตปี 2547 จึงไม่พิจารณา และให้นำเรื่องกลับไปพิจารณาโดยละเอียดว่าไม่ครบถ้วนในประเด็นใดบ้าง และให้นำเสนอเป็นเอกสารมาอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรฯระบุว่า แผนสำรวจพื้นที่บริการของอุทยานทางภาคใต้ที่เสนอให้กับนายวิชิตเป็นเพียงการพิจารณาความเป็นไปได้เบื้องต้นเท่านั้น เชื่อว่าต้องมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะส่งให้เอกชนมาลงทุนได้ เนื่องจากต้องส่งรายละเอียดให้กับส่วนศึกษานันทนาการและสื่อความหมาย รวมทั้งสำนักวิจัยอุทยานฯพิจารณาว่าพื้นที่บริการเหล่านั้นกำหนดอยู่ในแผนแม่บทการจัดการอุทยานแห่งชาติหรือไม่

“บางแห่งที่กำหนดเขตบริการเพิ่มเติมนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติต้องพิจารณานำเสนอให้เป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานปี 2547 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดไว้ว่าพื้นที่ที่จะขออนุญาตเป็นเขตบริการการอนุญาตและขออนุญาต ซึ่งในเรื่องนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติต้องรายงนกรมอุทยานฯเพื่อพิจารณาอนุมัติ และกรณีอุทยานที่ยังไม่ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการอุทยาน จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการออกไปสำรวจคัดเลือกพื้นที่และกำหนดเป็นเขตบริการ เพื่อเอกชนสามารถขอใช้ประโยชน์พื้นที่” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีอุทยานแห่งชาติที่มีมีการประกาศจัดตั้งรวม 110 แห่งจากทั้งหมด 148 แห่ง ที่กำหนดเป็นอุทยานฯ และมีเพียง 60 แห่งที่จัดทำแผนแม่ททแล้วเสร็จ แต่ในจำนวนนี้ 45 แห่งหมดอายุแล้ว เช่น เขาใหญ่ ตะรุเตา เกาะพีพี เขื่อนศรีนครินทร์ แก่งกระจาน ถูกระดึง ทับลาน สุรินทร์ สิมิลัน ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ-ปุย เป็นต้น เนื่องจากกำหนดแผนคราวละ 5 ปี ส่วนอีก15 แห่งยังไม่หมดอายุ ส่วนอีก 50 แห่งยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติม และอีก 38 แห่งกำลังเตรียมการประกาศ

สำหรับแผนแม่บทการจัดการอุทยานแห่งขาติ จะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรในอุทยาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงได้โซนนิ่งพื้นที่เอาไว้ 6 ลักษณะ ได้แก่ เขตบริการ เขตนันทนาการ เขตสงวนสภาพธรรมชาติ เขตหวงห้าม เขตฟื้นฟู และเขตกิจกรรมพิเศษ รวมทั้งต้องมีรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ ทรัพยากรพืช สัตว์ที่มีความโดดเด่น ลักษณะสภาพพื้นที่ อากาศ ดิน น้ำ ชายหาด แหล่งท่องเที่ยว มีประชาชนอยู่หรือไม่ ตลอดจนจำนวนบุคลากร

ดังนั้นเมื่อครบ 4 ปี จึงจำเป็นต้องทบทวนรายละเอียดใหม่ทั้งหมด โดยดูจากปัจจัยทั้งด้านธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อเปิดให้เอกชนใช้พื้นที่หรือไม่นั้น ทางสำนักวิจัยฯไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง เพียงแต่อยู่ในแผนแม่บทแห่งหนึ่ง ต้องจ้างนักวิชาการเก็บข้อมูลและสรุปมากกว่า 1ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น