จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอนโยบายเปิดให้เช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้ง 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดบริการ
ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
โดยจะให้เข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการเป็นระยะเวลา 5 - 30 ปี รวมทั้งให้บริการการท่องเที่ยว ซึ่งอ้างว่าต้องการความเป็นมืออาชีพมาบริหาร และทางกรมอุทยานแห่งชาติ ได้กำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน
แต่เอกชนมองว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป จึงมีข่าวว่าเอกชนที่สนใจได้พยายามจะทำการต่อรอง(อย่างไม่เป็นทางการ)ให้ลดราคาลงเหลือแค่ตารางเมตรละ 3 บาททั้งที่ยังไม่มีการเปิดประมูล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเอกชนที่เข้ามาต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปลูกป่าเพิ่มเติม
กระแสดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ และเกิดคำถามว่ากรมอุทยานมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเปิดอุทยานให้เอกชนเข้ามาบริหาร
นพรัตน์ นาคสถิตย์ กรรมการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านนโยบายเปิดสัมปทานให้เช่าพื้นที่ป่าในนามมูลนิธิสืบฯ ไปแล้วนั้น ได้กล่าวว่า นโยบายให้เอกชนเช่ามีสาเหตุมาจากรัฐบาลมีเงินทุนน้อย เจ้าหน้าที่มีความรู้ต่ำ กรมอุทยานในยุคหลังเน้นเรื่องเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก คิดว่าทรัพยากรที่มีคุณค่าน่าจะนำมาใช้เลยผลักดันนโยบายให้เช่าตรงนี้
"การให้เช่าต้องทำกำไรเท่านั้น ถ้าเกิดเช่าแล้วรายได้ไม่ดีต้องเพิ่มยอด เขาต้องเร่งปริมาณไม่สนใจคุณภาพ อย่างที่อเมริกาทางกรมอุทยานที่นั่น เจ้าหน้าที่ต้องทำเรื่องขอซื้อสัมปทานคืน เมืองไทยเราทางกรมอุทยานเองไม่เคยมีแผนตั้งรับตัวนี้เลย ดังนั้นการที่อยู่ดีๆจะให้เอกชนเข้ามาเป็นเรื่องกะทันหันมาก นี่เป็นลักษณะของทางราชการไม่เคยคิดอะไรล่วงหน้า ไม่เคยเตรียมการ อาจจะเป็นเพราะระบอบทักษิณที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงราชการ ระบบล้มเหลวหมด"นพรัตน์กล่าว
ความล้มเหลวของระบบข้าราชการมีแต่คนเก่าแก่ ทำให้ส่วนกลางที่เคยเป็นสุสานของคนไม่เอาไหน ถูกปรับเปลี่ยนในยุคทักษิณเปลี่ยนเอาคนระดับมันสมองเข้ามาเป็นหน่วยงานวางแผน ฉะนั้นความพร้อมในการตั้งรับจึงหายไป
"ถ้าตรงนี้เกิดขึ้นมันจะอลหม่านเสียมากกว่าได้ ตอนนี้ก็ได้ข่าวว่าภาคเอกชนเขาแบ่งโควต้ากันหมดแล้วว่าใครจะเอาที่ไหนอย่างไร ในชุดนี้ถ้าไม่มีอะไรผลักดันมากก็ต้องหยุดทบทวน แต่ก็ไม่สมควรไว้วางใจอยากให้สังคมรับรู้ว่าฝ่ายธุรกิจเร่งใช้อุปกรณ์ทางธรรมชาติโดย"นพรัตน์กล่าวอย่างเป็นกังวล
ขณะเดียวกันเขาก็มองว่า จุดประสงค์จริงๆเป็นการหาเงินให้ข้างบน เรื่องที่เสียที่สุดคือการบอบช้ำของทรัพยากร อย่างที่เขาหลวง พอชาวบ้านทำอีโคทัวร์เองชาวบ้านตัดทางเละ
อย่างอุ้มผางที่ผู้ประกอบการทำทัวร์อิสระของจริงดูได้ที่อุ้มผาง ที่อุ้มผางเขาใช้เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะวันออกเป็นแหล่งทรัพยากรที่จะพานักท่องเที่ยวเข้าไปตรงนั้น มันจำกัดพอเอากฎระเบียบเข้าไปก็ประท้วง ประท้วงไม่พอก็เดินขบวนให้ผู้ว่าไล่ออกย้ายบ้าง มันก็มีปรากฏการณ์อย่างนี้ มันต้องดูความเป็นไปได้ของพื้นที่ทำได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็เอาข้อจำกัดของนิเวศป่าเป็นหลักอย่าให้กระทบกระเทือนหรือให้น้อยที่สุด
อีกหนึ่งเสียงจากทางด้านของ นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น เจ้าของเทรคกิ้งไทยดอทคอม เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว กล่าวในฐานะนักท่องเที่ยวที่ติดติดตามเรื่องนี้ว่า ข่าวนี้ใช่ว่าเพิ่งจะเคยเกิดขึ้นมันเคยเกิดมาแล้วนานหลายปี ครั้งนั้นนโยบายก็ผ่านหายไป
เขากล่าวว่า ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การพัฒนาเขตอุทยานจะเป็นการเก็บป่าไว้ทั้งผืน ตัวอุทยานตั้งอยู่รอบนอก มีผลดีทั้งในแง่ของการกระจายรายได้และผืนที่ป่าภายใน ทั้งในแง่ของความยุติธรรมที่มีถ้าเป็นแง่ธุรกิจ ในแง่ของสัมปทานไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม มักจะมีผลประโยชน์ตกอยู่กับคนแค่ไม่กี่กลุ่ม ยังไม่นับเรื่องของทรัพยากรที่ต้องใช้
"มันย้อนหลังไปเหมือนกรณีสนามกอล์ฟบนเขาใหญ่จนตอนนี้ไม่มีแล้ว นี่คือการรื้อฟื้น เป้าหมายจริงๆอยู่ที่ เกาะต่างๆมากกว่า 10 อุทยานเป็นเพียงเป้าหลอก อย่างที่เกาะเสม็ด เป็นต้น
การประกาศอำนาจครอบคลุมสุ่มเสี่ยงต่อการใช้พื้นที่ไม่ถูกต้องสมมุติว่าเรามีผืนป่าอยู่ผืนหนึ่ง ผืนป่านี้แน่นอนว่าย่อมทำประโยชน์ได้มากกว่าตารางเมตรละ 30 บาทแน่นอน เมื่อนับมูลค่าของผืนป่า สรรพสิ่งที่เกิดจากต้นไม้ของป่าสร้างคุณค่าได้มากกว่าการนันทนาการ ถ้าจะหวังเรื่องการนันทนาการก็ออกมาตั้งรอบนอกอยู่แล้ว"นิพัทธ์พงษ์กล่าวแสดงความคิดเห็น
ตอนนั้นแนวโน้มของโลกจะนำรีสอร์ทขนาดใหญ่ออกมาอยู่ข้างนอก แม้แต่กระแส "อีโคลอดจ์"ก็ไม่เห็นอยู่ข้างในจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียง แสงตะเกียง น้ำก็ต้องพอดีอาบ แต่บ้านเราคือย้อนกลับ ประเทศที่เคยนำเรื่องสัมปทานในอุทยาน เช่น คอสตาริกา แอฟริกา ปัจจุบันเขาถอยออกมาแล้ว เพราะเขาทราบว่ามันไม่คุ้ม
"ต่างประเทศเขาเกิดปัญหาการร้องเรียน เรื่องความมีส่วนได้ ส่วนเสีย อยากได้สัมปทานภายในกลางป่า ก็มีผลประโยชน์เข้ามา ความจริงอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อยู่แล้ว เพียงแต่มีบางอย่างไม่เอื้อเท่านั้นเอง ปูระบบนิดหน่อยก็บริหารจัดการเองได้แล้ว อันนี้เจ้าหน้าที่บอกมา เอกชนเข้ามาคิดว่าเรื่องเงินเป็นหลักอย่างเขาใหญ่จะทำอะไรก็คงลำบากอยู่แล้วเพราะติดเรื่องมรดกโลก เป้าจริงผมคิดว่าจะไปอยู่ที่พวกเกาะต่างๆ มากกว่าซึ่งเขาจะไม่พูดถึงเลยเพราะว่าเป็นเป้าจริง"นิพัทธ์พงษ์กล่าว
"โดยหลักแล้วการใช้ทรัพยากรมันไม่สอดคล้อง การเอาโรงแรม 4-5 ดาวไปใส่มันก็เหมือนเอาห้างสรรพสินค้าชั้นนำไปตั้งที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผมฟันธงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์" นิพัทธ์พงษ์กล่าวทิ้งท้าย
เช่นเดียวกันความเห็นของ ธรรมรัฐ สุขพินิจ รองประธานฝ่ายกิจกรรมชมรมนักนิยมธรรมชาติ ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติกว่า 20 ปี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สิ่งที่เขากลัวคือเมื่อเอกชนเข้ามาจะเน้นการท่องเที่ยวเอาประโยชน์กว่าการอนุรักษ์ และมองว่าเรื่องแบบนี้ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นแล้วที่ "ภูกระดึง" ที่ให้เอกชนเข้ามาทำสัญญาเช่าทำบ้านพักบนภูกระดึง
"ผมไม่เข้าใจว่า พ.ร.บ.ที่เขาจะประกาศออกมาจะเป็นยังไงแค่ไหน แต่ในฐานะคนท่องเที่ยว ผมก็กังวลว่าราคาการใช้บริการจะสูงขึ้น 10 อุทยานนี้ ผมมองว่าเอกชนน่าจะเลือกเข้าไปทำพื้นที่ที่เป็นจุดเด่นของที่นั่น แค่จะเข้าไปเที่ยวเราก็อาจจะต้องเสียค่าผ่านเข้าไปที่แพงกว่าเดิม"ธรรมรัฐกล่าวอย่างเป็นห่วง
เขายังกล่าวต่อไปว่า เอกชนเมื่อเข้ามาจะต้องเน้นการขายบริการสูงสุด ไม่แน่ใจว่ารูปแบบจะเป็นยังไง บางคนก็กลัวว่าจะมีร้านสะดวกซื้อเข้าไป การพิจารณาจะพิจารณายังไงคนกันเองหรือเปล่าที่ได้ ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าน่าจะขัดกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติหรือเปล่า ฉะนั้นการจะเกิดขึ้นจึงไม่น่าจะง่ายนัก เพราะแนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ว่าก็ยังทำไม่ได้จริงจังสักที
"ผมคิดว่าคงยังไม่เกิดในเร็วๆนี้ยังไงก็ไม่น่าจะเป็นรัฐบาลนี้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะเป็นสมบัติของแผ่นดิน" ธรรมรัฐกล่าว
อีกหนึ่งเสียงจากแหล่งข่าวระดับสูงของกรมอุทยานรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า การเปิดอุทยานให้เอกชนเช่า มีกำไร 100% แต่ก็มีผลกระทบเยอะ สิ่งที่ต้องสูญเสียไป คือ อุทยานต้องมีทิวทัศน์ มีอากาศจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เอาธรรมชาติให้คนชื่นชม แต่เมื่อเอกชนเข้ามาจะต้องสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจการเมือง มักสร้างปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อไม่พอใจหัวหน้าอุทยานก็สั่งย้ายต่อไป พื้นที่นี้ก็จะถูกผูกขาดทำสัมปทานเป็นสิบๆ ปีแล้วจะเอาเขาออกจากตรงนี้ไม่ได้เลย สมมุติว่าทำ 30 ปีเดี๋ยวก็จะมีการต่ออายุสัญญาอีก 30 ปีแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ เอาออกไม่ได้ ติดพวกอิทธิพล
"แนวคิดนี้มีกลุ่มนักการเมืองจะเอา แล้วมาบีบอธิบดีฯให้เปิดทางให้ จริงๆแล้วกรมอุทยานไม่อยากจะเอา แต่โดนบีบคอ"แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวถึงความเป็นไปของแผนการเปิดอุทยานให้กับเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นห่วงเป็นใยและหวาดระแวงกับการมาเยือนของเอกชนอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวทั้งหมดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปิดอุทยานให้เช่าครั้งนี้ยังไงก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะจะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ แผนนี้เคยเกิดขึ้นแล้วและเจ๊งทุกราย ไม่รู้กี่สมัย ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าแผนการให้สัมปทานกับเอกชนครั้งนี้ จะเป็นรูปเป็นร่างหรือเป็นความฝัน(ค้าง)ของใครบางคนต่อไป แต่ถึงอย่างไรต่างก็ไม่อยากให้เน้นขายพื้นดินขายการท่องเที่ยวจนละเลยการอนุรักษ์ เพราะอาจจะนำมาสู่ความฉิบหายของทรัพยากรธรรมชาติ-ป่าไม้-ท้องทะเล ในเมืองไทยได้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการค้านกระทรวงทรัพยากรฯ ดึงเอกชนขยี้10อุทยานแห่งชาติ
เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ/วินิจ รังผึ้ง
เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ 2 /วินิจ รังผึ้ง
อุทยานฯอ้างเอกชนเช่าพื้นที่ ไม่ล้ำเขตอนุรักษ์
ให้เอกชนเช่าอุทยานฯ:ขายฝัน ขายท่องเที่ยว หรือขายป่า???/ปิ่น บุตรี
กรมอุทยานโว เอกชนสนเช่าอุทยานนับ100ราย