xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานโว เอกชนสนเช่าอุทยานฯนับ 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ่าวเกือก สิมิลัน
อุทยานแห่งชาติเผยมีเอกชนกว่า 100 ราย รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนใจลงทุนเช่นอุทยานฯ เหตุนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแต่พื้นที่รองรับน้อยลง พร้อมเปิดรับเอกชนทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ หากเข้าเงื่อนไขไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเปิดเช่าทันที ด้านสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ออกหนังสือค้านหวั่นทะเลเสื่อมยก “อ่วเกือก”สิมิลันเป็นตัวอย่าง

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีนโยบายที่จะเปิดให้เอกชนเช่นอุทยานแห่งชาติ วิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ในฐานะ ประธานคณะทำงานการท่องเที่ยวและการลงทุนดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กำลังชี้แจงทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายรับทราบ โดยยังยึดหลักบริหารจัดการอุทยานอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ตามหลักวิชาการเพื่อไม่ไห้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่แตะพื้นที่เขตต้นน้ำลำธาร

พื้นที่ที่มีพืชสัตว์หายาก รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงทางธรณีวิทยา หรือเอกลักษณ์ของอุทยานอย่างเด็ดขาดแต่ถ้าเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่กระทบกับทรัพยากร และคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะเปิดเขตบริการ และที่ผ่านมาก็กำหนดเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้วในแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติที่ปัจจุบันจัดทำแล้วเสร็จประมาณ 30 กว่าแห่งจากทั้งหมด 148 แห่ง

“การเปิดให้เอกชนมาลงทุนสร้างที่พักอาศัยในอุทยานเป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีกิจการ 3 ด้านคือการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก ที่พักอาศัยหรือกิจการอื่นที่จำเป็นแก่การท่องเที่ยวและการบริการนำเที่ยวในอุทยาน แต่ปรากฏว่าช่วง 3-4ปีมานี้ ยังไม่มีการลงทุนด้านที่พักอาศัยแม้ว่าจะมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยวสนใจเข้ามาสอบถามกับกรมอุทยานจำนวนมาก แต่ก็ถอยกลับไปกลับเกือบทั้งหมด”นายวิชิตกล่าว

วิชิตกล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งมองว่าอาจจะมาจากเงื่อนไขข้อบังคับในระเบียบการที่หยุมหยิมประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะอัตราค่าเช่าที่กำหนดไว้ว่าตารางเมตรตละ 30 บาทต่อเดือนรวมทั้งวิธีการที่เอกชชนต้องลงทุนก่อสร้างและให้กรรมสิทธิ์กับอุทยานที่จะเปิดให้เอกชนมาเป็นผู้เช่า จึงต้องให้ระยะสัมปทานถึง 30 ปี

รองอธิบดีกรมอุทยาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเอกชนนับ 100 รายและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ต้องการเข้ามาลงทุน รวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรมมิอาชีพสนใจเพราะนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่แหล่งรับรองท่องเที่ยวไม่มีและอุทยานก็เป็นหนึ่งในสถานที่จะมีคนมาพักผ่อนมาท่องเที่ยวดำน้ำ ดูปะการัง เดินป่าศึกษาพันธุ์ไม้ ดูสัตว์ป่า เพราะไม่อย่างนั้น นักท่องเที่ยวก็คงนอนภูเก็ต นอนที่กทม.ไปดูโคโยตี้ดีกว่า ทำให้เอกชนอยากจะเข้ามาเทคโอเวอร์มาช่วยบริหารจัดการให้

นายวิชิต กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชนขณะนี้เปิดกว้างมากทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น ทุนในประเทศหรือต่างประเทศทุกขนาด วิธีการถ้าเป็นรายเดียวก็คงไม่ประมูล แต่ถ้าหลายรายก็อาจประมูลโดยเลือกจากคุณสมบัติ และมีหลักฐานรายละเอียดที่ถูกต้องโดยมองสิ่งแวดล้อมอันดับแรก และพื้นที่บริการที่ให้ไปแล้วประชาชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ดูครบทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม ถ้าไม่กระทบก็อนุญาตไปส่วนวิธีการกำหนดราคาค่าบริการนั้นอัตราราคาจะอยู่ในเงื่อนไขที่กรมอุทยานและเอกชนจะร่วมกันกำหนดราคา แต่ยอมรับว่าเอกชนก็คงจะต้องคิดค่าที่พักตามเกรดของอุทยาน

ด้าน ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ว่าทางสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ได้มีความเห็นตรงกันว่ากรมอุทยานฯ ควรต้องทบทวนแนวนโยบายนี้ โดยจะต้องเปิดเวทีเพื่อเชิญนักวิชาการ ประชาชน นักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อชั่งน้ำหนักเรื่องนี้อย่างรอบคอบอย่างเร่งด่วน

“ปัญหาท่องเที่ยวทางทะเลที่เกิดปัญหาในปัจจุบันแล้ว เช่น กรณีที่เรือท่องเที่ยวแบบริเวอร์บอร์ดมากกว่าวันละ 20ลำ เข้าไปในเกือก เกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นอ่าวปิด และการไหลเวียนน้ำไม่ดี และเรือเหล่านี้มีการทิ้งของเสียจากห้องส้วมและเศษอาหารลงทะเลโดยตรงจนส่งผลให้คุณภาพน้ำแถวนั้นมีแบคทีเรียและยังทำให้ปะการังตื้นเสื่อมโทรมลงไปมากด้วย”ศักดิ์อนันต์กล่าว

รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ อารยะพันธ์ นายกสมาวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่เป้ฯสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลฯประมาณ150ราย กำลัง ร่างหนังสือขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ ทบทวนนโยบายการเปิดให้เอกชนมาลงทุนในอุทยาน คาดว่าในสัปดาห์หน้าจึงจะส่งไปยังหน่วยงานดังกล่าว โดยเห็นว่าการดำเนินการแบบนี้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของการมีอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์และจัดการดูแลให้ดี แต่ถ้ากรมอุทยานฯจะมองแบบเอาเม็ดเงินและเศรษฐกิจนำถือว่ามองแบบไม่สมดุลมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น