xs
xsm
sm
md
lg

การบ้านรัฐบาลใหม่ทลายขุมทรัพย์ชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสื้อเหลือง) และ สุเทพ เทือกสุบรรณ (ภาพจาก www. ok nation)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ได้เวลาทีมมือปราบทุจริตรัฐบาลประชาธิปัตย์เร่งรัดสางคดีทุจริตที่ถูกดองเค็ม สั่งไม่ฟ้อง ในยุครัฐบาลทักษิณและนอมินีเรืองอำนาจ วัดใจกล้าแตะคดีที่พัวพันถึง “เนวิน” และกล้ารื้อคดีสุวรรณภูมิฉาว ทั้ง คิงพาวเวอร์ – สัมปทานแท็กซ์ รวมทั้งเร่งคดี ซีทีเอ็กซ์ - แอร์พอร์ตลิงก์ ที่ป.ป.ช. แช่แข็งไว้หรือไม่ จับตาคลังสั่งรีดภาษีครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ 3 หมื่นกว่าล้านที่ยังค้างคา

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการ “เวทีชาวบ้าน เวทีพันธมิตร” ทางASTV เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลทักษิณและนอมินี ทำให้มีปัญหาที่ต้องสะสางมากมากเมื่อเทียบกับวิกฤตการณ์เมื่อปี 2540 ที่มีแค่ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีทั้งปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ และการสะสางคดีทุจริตที่เกิดขึ้นในยุคระบอบทักษิณ

สำหรับคดีทุจริตที่นายสมเกียรติ จะเข้าไปเร่งสะสาง คือ 1) คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบไว้แล้วแต่กระบวนการยังไม่ส่งขึ้นสู่ชั้นศาล 2) คดีการทุจริตของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และ 3) ชะล้างองค์กรต่างๆ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนของระบอบทักษิณ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมประชาสัมพันธ์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, องค์การอาหารและยา รวมทั้งการปฎิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ ควบคู่กับการให้ข้อมูลความรู้ภาคการเมืองให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจทำทีวีการเมืองภาคประชาชน

นั่นเท่ากับเป็นคำประกาศของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสวมหมวกอีกใบคือ แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองนอกสภาที่ติดตามตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในยุครัฐบาลทักษิณและนอมินีมาอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนกลับไปดูสำนวนคดีของ คตส. ที่ส่งต่อให้หน่วยงานต่างๆ ภายหลังหมดวาระ จะพบว่า คตส. ได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด 7 คดี คือ

1) คดีการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดท่าอากาศสุวรรณภูมิ (ซีทีเอ็กซ์)
2) คดีโครงการก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยไฟใต้ดินของการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
3) คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร

4) คดีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบข้อหารือภาษีหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ชอบ
5) คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมด
6) คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม
7) คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยผิดปกติจากมาตรการเอื้อประโยชน์จากการคงถือหุ้นสัมปทาน 76,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ใน 7 คดีข้างต้น อัยการสูงสุด ได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 คดี คือ คดีพ.ต.ท.ทักษิณ แปลงค่าสัมปทานฯ และ คดีร่ำรวยผิดปกติ เท่านั้น ส่วนคดีอื่นได้ส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเพิ่มเติม ยกเว้นคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่อยู่ในมืออัยการสูงสุดและยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นอกเหนือจากการส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดแล้ว คตส.ยังได้ส่งคดีให้ ปปช. ดำเนินการต่อ จำนวน 6 คดี คือ

1) คดีการจัดซื้อจัดจ้างเรือและรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร โดยสำนวนไต่สวนแล้วเสร็จแต่พิจารณาไม่ทัน
2) คดีโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แอร์พอร์ตลิงก์) สำนวนไต่สวนแล้วเสร็จ แต่พิจารณาไม่ทัน
3) คดีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่เหลือ เช่น ร่มเกล้า, บางพลี, รังสิต, คลอง 9, กบินบุรี, อรัญประเทศ โดยสำนวนไต่สวนแล้วเสร็จแต่พิจารณาไม่ทัน

4) คดีจัดจ้างก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์บริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เซ็นทรัลแล็ป)
5) กรณีซื้อทีมฟุตบอลแมนซิตี้
6) กรณีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หุ้น บริษัทธนชาติประกันภัย 60 ล้านบาทในชื่อนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

ส่วนกรณีที่ คตส. ส่งกรมสรรพากรเพื่อประเมินภาษี มี 4 กรณี คือ

1) นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่รับหุ้นจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร มีภาระภาษี 546 ล้านบาทเศษ
2) นายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นแอมเพิลริช ในราคา 1 บาท ขายในราคา 49.25 บาท มีภาระภาษี 11,808 ล้านบาท
3) แอมเพิลริช ขายหุ้น 1 บาท ราคาตลาด 49.25 บาท มีภาระภาษี 20,923 ล้านบาท
4) บริษัทชินแซทเทิลไลท์ รับเงินค่าสินไหมทดแทน มีภาระภาษีจากรายรับ 1,082 ล้านบาท

ในการจัดเก็บภาษีจากครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ข้างต้น ต้องจับตาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ จะสั่งการเร่งรัดหรือเพิกเฉยเหมือนกับรัฐบาลนอมินีทักษิณที่ผ่านมา


*** ป.ป.ช.-อัยการ แช่แข็งคดี

สำหรับคดีที่ คตส. ทำสำนวนคดีส่งให้กับทางอัยการสูงสุดและป.ป.ช.ไปแล้วก่อนหมดวาระ และจนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้า คือ คดีซีทีเอ็กซ์ ซึ่งอัยการสูงสุด อ้างว่าสำนวนไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ จึงได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดและผู้แทนฝ่ายคณะกรรมการป.ป.ช. โดยมีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

แต่กระบวนการสอบสวบรวบรวมพยานที่ไม่จำกัดกรอบเวลาของคณะทำงานที่รับผิดชอบคดีซีทีเอ็กซ์ มีข้อท้วงติงจากหน่วยงานที่ติดตามคดีนี้ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยมีหนังสือแจ้งไปยัง ป.ป.ช.ว่า สำนวนคดีมีความสมบูรณ์เพียงพอแล้วพร้อมกับแจกแจงรายละเอียดยิบในทุกประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาสอบสวนซ้ำ

ขณะเดียวกัน อดีตคณะกรรมการ คตส. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งคณะทำงานร่วมของอัยการสูงสุดและป.ป.ช.เป็นเทคนิกในการดึงคดี เพราะอัยการสูงสุด ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย และคณะกรรมการป.ป.ช.ไม่มีความชัดเจนว่าจะแยกสำนวนฟ้องอัยการสูงสุด ออกไปต่างหาก ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ คตส.

ส่วนคดีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่อร้อยไฟใต้ดิน, ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้, แอร์พอร์ตลิงก์, บ้านเอื้ออาทร, เซ็นทรัลแล็ป ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด เช่นกัน

ในบรรดาคดีความต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง คดีความในชั้น ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด ที่เกี่ยวข้องกับ นายเนวิน ชิดชอบ คือ คดีเซ็นทรัลแล็ป และคดีทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิหลายคดี ซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเนวิน มีเอี่ยวอยู่ด้วย จะได้รับการชำระสะสางหรือไม่

*** ทลายขุมทรัพย์สุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ การตรวจสอบโครงการทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ นอกเหนือจากคดีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000, โครงการแอร์พอร์ตลิงก์, โครงการก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟ แล้ว ยังมีคดีร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (คิงพาวเวอร์), การประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัย, รถเข็นกระเป๋า, แท็กซี่ลีมูซีน, ระบบไฟฟ้า 400 เมกะเฮิร์ต และระบบพีซีแอร์ (งวงช้าง) อีกด้วย

กล่าวสำหรับ 5 คดีหลัง นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบคดีในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ในวันที่ส่งสำนวนต่อ ป.ป.ช. เมื่อเดือนก.ย. 2550 ว่า หลักฐานเอกสารชัดเจน เป็นคดีไม่ได้ซับซ้อน นั่นหมายความว่า ป.ป.ช. น่าจะสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ชักช้าได้บ้างแล้ว

แต่จนบัดนี้ยังไม่มีคดีที่เกี่ยวข้องกับสนามบินแห่งนี้ถูกส่งฟ้อง กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. บางคนถูกตั้งข้อกังขาว่ามีส่วนเอื้อประโยชน์ด้วยการดองเรื่องการสอบทุจริตสุวรรณภูมิ ซึ่งเกี่ยวพันกับ “ชินวัตร – วงศ์สวัสดิ์” และพวกพ้อง

กล่าวสำหรับกรณีรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ดีเอสไอเข้าตรวจสอบนั้น นับเป็นหนึ่งในสัมปทานที่บริษัทไทยแอร์พอร์ตส กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แท็กส์ ได้รับการว่าจ้างบริหารจัดการจาก ทอท. ภายหลัง แท็กส์ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น จนเกิดข้อกังขาว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ในแท็กส์ เป็น “นอมินีเจ๊” ซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี คว้างานในสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศเร่งเครื่องก่อสร้างเพื่อเปิดสนามบินสุวรรณภูมิให้ทันในวันที่ 28 ก.ย. 2549

ในบรรดาสัญญาที่ แท็กส์ คว้าสัมปทานในสุวรรณภูมินอกเหนือจากรถเข็นกระเป๋า ที่ยังมีปัญหาจนถึงบัดนี้แล้ว ยังมีกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นข้อร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และอาจพัวพันกับการได้รับงานสัมปทานโครงการบริหารเขตปลอดอากรและศูนย์โลจิสติกส์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ของ แท็กส์ อีกด้วย

ทั้งนี้ แท็กส์ ได้เข้ารับงานบริหารเขตปลอดอากรพื้นที่ 6 แสนตารางเมตร และศูนย์โลจิสติกส์พื้นที่อีก 4 หมื่นตารางเมตร สัญญานี้มีมูลค่างานเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาสัญญา 10 ปี รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท โดยไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน ซึ่งในช่วงที่แท็กส์ได้งานขณะนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ทอท. อยู่ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีกรณีการประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัยสนามบินสุวรรณภูมิ โดยวิธีพิเศษ และเพิ่มงบประมาณ จากเดิม 3,086 ล้านบาท เป็น 5,400 ล้านบาท คดีนี้ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2550 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก คือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล, นายศรีสุข จันทรางศุ รวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยมอบหมายให้นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน

รวมทั้งกรณีกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกับพวก ซึ่งมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมอยู่ด้วย ร่วมกันทุจริตโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค และการบริหารกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2550 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน

*** จับตา “กรณ์” รื้อฟื้นคดีเอสซี แอสเซท

คดีอื้อฉาวที่อัยการสูงสุดถูกตั้งข้อกังขาคือ คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัทบริษัทเอสซี แอสเสท นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัทฯ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 1-4 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัทเอสซี แอสเสท

เหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องคดี เพราะอัยการมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 นั้นเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างโดยมีบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแทน และผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตรวจสอบถูกต้องแล้ว

ส่วนการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน นั้น อัยการเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการซื้อ -ขายหุ้นด้วยตัวเอง แต่ซื้อขายหุ้นผ่านกองทุน ดังนั้นหน้าที่การรายงานการซื้อขายหุ้นจึงเป็นของกองทุน ไม่ใช่หน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่จะต้องรายงาน ตามที่ถูกกล่าวหา

ภายหลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามคดีนี้มาโดยตลอด ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)
 
จดหมายเปิดผนึกของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้เห็นว่า คำแถลงเหตุผลของอัยการในการไม่ยื่นฟ้องนั้น ล้วนเป็นการอ้างหลักการทางกฎหมายที่คลาดเคลื่อน และไม่ตรงตามคำร้องเดิมของดีเอสไอ สมัย นายสุนัย มโนมัยอุดม ที่ได้ยื่นฟ้องเอาไว้ และนายกรณ์ ได้นำเรื่องนี้หารือกับคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค เพื่อหาช่องทางเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป

ส่วนคดีอื่นๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ ยังมี โครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 3,192 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และถูกยื่นตรวจสอบจากหลายฝ่ายมากที่สุดโครงการหนึ่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานตรวจสอบทุจริตของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสตง.ขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งในการอนุมัติโครงการและขั้นตอนการประมูล รวมทั้งมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 5 ประเด็นหลัก คือ

1. การอนุมัติโครงการในคณะกรรมการ กฟภ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ทำสัญญาส่อพิรุธ เช่น การเปลี่ยนจากการซื้อเป็นเช่า ซึ่งเมื่อเทียบกับการจัดซื้อแล้วรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่าการเช่า
2.วงเงินงบประมาณการเช่าจำนวน 3,192 ล้านบาทสูงเกินจริง
3.ขั้นตอนการประมูลไม่โปร่งใส จากผู้ยื่นประกวดราคาทั้งสิ้น 8 ราย แต่กลับมีผู้ผ่านเทคนิคเพียงรายเดียวที่ได้รับการเปิดซองราคา ซึ่งราคาที่ผู้ชนะการประมูลนั้นมีราคาใกล้เคียงกับราคากลางมาก
4.บริษัทในกลุ่มกิจการค้าที่ชนะการประมูลของ กฟภ.เป็นของน้องสาวนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท แต่ชนะการประมูลมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท
และ 5.บริษัทที่ปรึกษาอินทนนท์ ที่ได้รับจ้างให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว มีผลการศึกษาที่น่าเคลือบแคลง

สารพัดโครงการที่เป็นขุมทรัพย์ของครอบครัวชินวัตร – วงศ์สวัสดิ์ – ดามาพงศ์ ซึ่งถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตมาโดยตลอดสมัยที่ทักษิณและนอมินีกุมอำนาจบริหารประเทศ จะถูกเชคบิลในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ขึ้นมามีอำนาจหรือไม่ หรือจะเป็นแต่เพียงทีใครทีมัน สลับกันขึ้นมาแสวงหาประโยชน์บนข้ออ้างว่าเพื่อชาติ ต้องติดตามกันต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น