xs
xsm
sm
md
lg

"โนเบลเซอร์ไพรซ์" ไม่ให้อเมริกันเอี่ยวรางวัลค้นพบเชื้อเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุค มองตากนิแยร์ และฟรังซัวร์ แบร์เร-ซีนอยซี ที่ทำวิจัยร่วมกันเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ณ  สถาบันปาสเตอร์
ครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ประจำปีนี้ มอบให้แก่ 2 นักวิจัยชาวฝรั่งเศส ในฐานะที่ค้นพบ "ไวรัสเอชไอวี" อันเป็นต้นเหตุ แห่งโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทว่าในความรับรู้ของหลายๆ ฝ่าย ยังได้ยินชื่อนักวิจัยจากสหรัฐฯ ขึ้นตำแหน่งผู้ค้นพบเช่นกัน

อีกทั้งการอ้างสิทธิ์ "คนแรก" แห่งการค้นพบก็กลายเป็นข้อพิพากษ์ยาวนาน ที่คล้ายกับว่าจะจบลงตรงที่ "ร่วมกัน" แต่วันนี้คณะกรรมการโนเบล กลับมอบรางวัลแห่งความสำเร็จนี้ ให้เพียงแค่ทีมจากแดนน้ำหอม


ลุค มองตากนิแยร์ (Luc Montagnier) และฟรังซัวร์ แบร์เร-ซีนอยซี (Francoise Barre-Sinoussi) ทั้ง 2 เคยร่วมกันวิจัยที่สถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถระบุว่า เชื้อไวรัสเอชไอวี (human immunodeficiency virus : HIV) ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ เอดส์ ได้สำเร็จ และนั่นเป็นผลให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2551 นี้

ทว่า โรเบิร์ต กัลโล (Robert Gallo) แห่งสถาบันไวรัสวิทยามนุษย์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (Institute for Human Virology at the University of Maryland) สหรัฐอเมริกา (US National Cancer Institute) ก็ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ค้นพบร่วม อีกทั้งยังที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2526 ทีมของมองตากนีแยร์ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสาร "ไซน์" (Science) โดยระบุว่า สามารถแยกไวรัส ที่พบในผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ได้สำเร็จ โดยได้จากต่อมน้ำเหลืองของชายรักร่วมเพศ และให้ชื่อเชื้อที่แยกได้ว่า "ลิมพาเดโนพาธี เอสโซซิเอเต็ด ไวรัส" (Lymphadenopathy associated virus) หรือ LAV ไวรัสที่ร่วมทำให้เกิดการผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง

ทว่า ในเวลาใกล้เคียงกันทีมของกัลโล ก็สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของเอดส์ได้จากเม็ดเลือดขาวของคนไข้ และตั้งชื่อว่า "ฮิวแมน ที เซลล์ ลิมโปทรอปิก ไวรัส ไทป์ ทรี" (Human T cell Lymphotropic virus type III) หรือ HTLY-lll ซึ่งวารสารไซน์ก็รับรายงานของกัลโลลงตีพิมพ์ ในเดือน ธ.ค. ของปีเดียวกัน

จากนั้นในเดือน เม.ย. 2527 กัลโล เปิดเผยการค้นพบสู่สาธารณชน ผ่านการแถลงข่าวที่จัดโดยสถาบันมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐฯ ที่เขานั่งเป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น โดยระบุว่า HTLY-lll เป็นคนละชนิดกับของฝรั่งเศส และเชื่อว่า LAV นั้นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของเอดส์ และนั่นทำให้เชื้อเอชไอวี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่แหลาย

การออกมาอ้างดังกล่าวของกัลโล ทำให้ทีมวิจัยของฝรั่งเศสเดือด จนออกมาเผยว่า กัลโลได้ใช้ตัวอย่างไวรัสจากสถาบันปาสเตอร์ ซึ่งงานวิจัยถัดมาของกัลโลเอง ก็ยืนยันข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะตัวอย่างของกัลโลถูกปนเปื้อนด้วยตัวอย่างจากสถาบันปาสเตอร์ ซึ่งกัลโลก็ออกมาโต้ และกล่าวหากลับไปเช่นกัน

แม้ว่าในที่สุดจะพบว่า LAV และ HTLY-lll เป็นไวรัสตัวเดียวกัน แต่มีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไป องค์กรความร่วมมือด้านอนุกรมวิธานไวรัสสากล จึงได้ตกลงตั้งชื่อเรียกเชื้อดังกล่าวว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV) ในปี 2528 แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังคงต่างโต้แย้ง และอ้างสิทธิ์ในการค้นพบครั้งแรก อยู่ยาวนานหลายปี

เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นเกียรติยศในการค้นพบ แต่หมายถึงจำนวนเงินมูลค่ามหาศาล เพราะการค้นพบดังกล่าวเปิดทางให้เกิดการตรวจเลือด เพื่อค้นหาเชื้อเอชไอวี อันเป็นทางป้องกันโรคที่ดีที่สุดในขณะนั้น

ระหว่างที่ฝุ่นตลบ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ก็นำฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในปี 2530 ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศโดยโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และฌาก ชีรัก นายกรัฐมนตรี แห่งฝรั่งเศส ต่างลงนามข้อตกลงที่ระบุว่า เชื้อเอชไอวีเป็นการค้นพบร่วมกัน โดยมองตากนีแยร์และกัลโลได้เขียนรายงานการวิจัยร่วมกันจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายชุดตรวจเลือด ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

แต่อีก 7 ปีถัดมา สถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐฯ ก็ออกมาเปิดเผยว่า กัลโลได้ใช้เชื้อเอชไอวีของสถาบันปาสเตอร์ เพื่อพัฒนาชุดตรวจเอชไอวีที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก จึงตกลงแบ่งรายได้ส่วนใหญ่ขึ้น จากการจำหน่ายชุดตรวจ ให้แก่สถาบันปาสเตอร์

ล่าสุด ในการประชุมการแพทย์ที่กรุงปารีส เมื่อเดือน พ.ค. 51 ที่ผ่านมา นับว่าครบรอบ 25 ปีแห่งการค้นพบเชื้อเอชไอวี งานนี้กัลโล และ มองตากนีแยร์ จึงออกมาสมานฉันท์และบอกว่า การทะเลาะเบาะแว้งอันยาวนานนั้น ได้จบลงไปแล้ว โดยทั้งคู่ยอมรับในฐานะ "ผู้ค้นพบร่วม"

แต่คณะกรรมการโนเบลกลับยกเกียรติยศทั้งหมด ให้ทีมของฝรั่งเศสเพียงฝ่ายเดียว โดยฮานส์ โยเอิร์นฟาลล์ (Hans Joernvall) เลขาธิการคณะกรรมการโนเบลยังย้ำผ่านสำนักข่าวเอเอฟพีด้วยว่า พวกเขาได้พิจารณาให้รางวัลแก่ผู้ค้นพบไวรัสเอชไอวี ซึ่งมองตากนิแยร์ และ แบร์เร-ซีนอยซี คือ 2 ผู้ค้นพบ

"เป็นที่รู้กันว่าทีมของอเมริกัน ได้สร้างผลงานอื่นมากมาย ทางสาขาเดียวกันนี้ แต่กัลโล และนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสทั้ง 2 ต่างก็ยอมรับว่า การค้นพบเกิดขึ้นในปารีส" เลขาธิการคณะกรรมการโนเบลแจงเหตุที่ปัดกัลโลตกขบวนโนเบล

อีกทั้ง ในระยะหลังจากปี 2530 ที่ทั้ง 2 ทีมได้ร่วมงานกัน กลับกลายเป็นว่า งานวิจัยของมองตากนิแยร์ และ แบร์เร-ซีนอยซี ได้รับการอ้างอิง (citation) มากกว่า  ซึ่งจำนวนการอ้างอิงนั้น นับเป็นสิ่งสำคญ ที่แสดงให้เห็นการยอมรับจากวงการวิทยาศาสตร์ และนั่นทำให้การค้นพบของทีมจากฝรั่งเศสก้าวนำ และกลายเป็นแหล่งอ้างอิงของคณะกรรมการโนเบล

ทางด้านวิลลี โรเซนบาม (Willy Rozenbaum) ประธานสภาเอดส์แห่งฝรั่งเศส (France's National AIDS Council) แสดงความรู้สึกว่า น่าอับอาย ที่ไม่มีผู้อื่นร่วมรับโนเบลนี้ได้ โดยเฉพาะกัลโล เพราะการค้นพบนั้นต้องทำเป็นทีม และทำไมถึงมีเพียงแค่คนจากสถาบันปาสเตอร์ที่ได้รับรางวัล

"นี่จะเป็นความอับอายไปตลอด และนับเป็นด้านลบของรางวัลโนเบล" คำสรุปของโรเซนบาม หนึ่งในนักวิจัยคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในการระบุเชื้อเอชไอวี

ส่วนกัลโลผู้น่าสงสาร ยอมรับผ่านสื่อมวลชนว่า "ผิดหวัง" ที่ไม่ได้รับรางวัลร่วมกับมองตากนิแยร์ และ แบร์เร-ซีนอยซี เพราะเขาก็ทำงานอย่างหนักมากว่า 20 ปี อีกทั้งเขาและมองตากนีแยร์ต่างร่วมมือกัน และบางครั้งก็เขียนงานวิจัยร่วมกันหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี กัลโลก็ได้กล่าวแสดงความยินดี แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปีนี้ ว่า ทั้ง 3 คนถือว่าเหมาะสม และสมควรได้รับรางวัลนี้แล้ว.
แบร์เร-ซีนอยซี กับห้องทำงานในปัจจุบันยังคงอยู่ที่สถาบันปาสเตอร์ แต่วันที่ประกาศผลรางวัล เธอกำลังเดินทางอยู่ในกัมพูชา



การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008

ลุค มองตากนิแยร์ กับการพัฒนาวัคซีนเอดส์ ที่องค์กรของยูเนสโก
ทันทีที่คณะกรรมการโนเบล ประกาศยกรางวัลสาขาการแพทย์ให้แก่ผู้ค้นพบเชื้อ HIV ที่มีแต่ชื่อของชาวฝรั่งเศส ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่คนในวงการไม่น้อย
โรเบิร์ต กัลโล รู้สึกผิดหวังในฐานะที่เป็นผู้ร่วมค้นพบ HIV แต่กลับไม่ได้ร่วมรับรางวัลเกียรติยศ
มองตากนีแยร์ และ กัลโล หลังจากร่วมงานด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น