ประกาศผลรางวัลโนเบลเริ่มแล้ว ประเดิมในสาขาแพทย์เช่นเคย โดยในปีนี้แบ่งรางวัลเป็น 2 มอบให้ "ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น" แพทย์ผู้ค้นพบสาเหตุมะเร็งปากมดลูก และ 2 แพทย์ฝรั่งเศสที่ค้นพบเชื้อเอชไอวี อันเป็นต้นเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง อีกทั้ง นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น ยังได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในการค้นพบเดียวกันนี้
เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 6 ต.ค.51 (ตามเวลาประเทศไทย) สภาโนเบล ณ สถาบันวิจัยการแพทย์คาโรลินสกาแห่งสต็อกโฮม (Stockholm’s Karolinska Institute of medical research) ในกรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดนได้ประกาศรางวัลโนเบล สาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2551 โดยแบ่งรางวัลเป็น 2 มอบให้แก่แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 คน จากการค้นพบไวรัส "เอชพีวี" อันเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก และเชื้อเอชไอวี สาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทั้งนี้ รางวัลครึ่งหนึ่งมอบให้ ศ.นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Professor Harald Zur Hausen) วัย 72 ปี จากศูนย์วิจัยมะเร็ง เมืองไฮเดลเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Cancer Research CentreHeidelberg, Germany) โดยคณะกรรมการกล่าวสดุดีว่า "สำหรับการค้นพบไวรัสแพ็บพิลโลม่าในมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูก" ("for his discovery of human papilloma viruses causing cervical cancer") หรือเชื้อ "เอชพีวี" นั่นเอง
ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง มอบให้ 2 นักวิจัยจากฝรั่งเศส คือ ฟรังซัวส์ แบร์เร-ซินอยซี (Francoise Barre-Sinoussi) วัย 61 ปี จากหน่วยวิจัยไวรัสวิทยา สถาบันหลุยส์ปาสเตอร์ ในกรุงปารีส (Regulation of Retroviral Infections Unit, Virology Department, Institut Pasteur Paris, France) และ ลุค มองตากนีแยร์ (Luc Montagnier) วัย 76 ปี จากมูลนิธวิจัยและป้องกันเอดส์ ยูเนสโก (World Foundation for AIDS Research and Prevention Paris, France) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงปารีส
คณะกรรมการกล่าวสดุดีว่า "สำหรับพวกเขา ที่ค้นพบไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในมนุษย์" (for their discovery of human immunodeficiency virus) หรือเชื้อ เอชไอวี (HIV) นั่นเอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการโนเบลแถลงถึงเหตุที่ มอบรางวัลสาขาการแพทย์ให้แก่ 2 ผู้ค้นพบเชื้อเอชไอวีว่า นับเป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างแรก อันนำไปสู่ความเข้าใจด้านชีววิทยาของโรค และเกิดความพยายามหาการหาหนทางจัดการกับรีโทรไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่มุ่งทำลายภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาวิธีการป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วย ด้วยการตรวจเลือด ทำให้จำกัดการกระจายของโรคได้
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ “เอดส์” ปรากฎเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 เมื่อแพทย์ชาวสหรัฐฯ พบการเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้รักร่วมเพศ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ซึ่งตั้งแต่บัดนั้นโรคดังกล่าว ก็ได้คร่าชีวิตชาวโลกไปถึง 25 ล้านคน และยังมีอีก 33 ล้านรายที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งทำลายภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อปี พ.ศ.2526 แบร์เร-ซินอยซี และมองตากนิแยร์ สามารถแยกเชื้อโรคที่ก่อภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ จากต่อมน้ำเหลืองของชายรักร่วมเพศ และให้ชื่อเชื้อที่แยกได้ว่า "ลิมพาเดโนพาธี เอสโซซิเอเต็ด ไวรัส" (Lymphadenopathy associated virus) หรือ LAV ไวรัสที่ร่วมทำให้เกิดการผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง
ทว่า ในเวลาใกล้เคียงกันทีมของ นพ.โรเบิร์ต กัลโล (Robert Gallo) ในสหรัฐฯ ก็สามารถแยกเชื้อไวรัสได้จากเม็ดเลือดขาวของคนไข้ และตั้งชื่อเชื้อไวรัสว่า Human T cell Lymphotropic virus type III
ต่อมาพบว่า LAV และ HTLY-lll เป็นไวรัสตัวเดียวกัน แต่มีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไป จึงได้ตกลงตั้งชื่อเรียกเป็นสากลว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV)
สำหรับในส่วนของ ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับรางวัลอีกครึ่งหนึ่งนั้น เขาให้ความสนใจและศึกษาวิจัย แพ็บพิลโลม่าไวรัสของคน หรือ เอชพีวี (human papilloma viruses : HPV) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุของหูด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513
ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 เขาก็ตั้งสมมติฐานว่าไวรัสหูด มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี และในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2523 ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น และคณะได้พิสูจน์ว่าไวรัสหูด หรือ เอชพีวี 16 และเอชพีวี 18 เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี โดยการแยกไวรัสทั้งสองได้จากเนื้อมะเร็ง
การค้นพบดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง นำไปสู่การป้องกัน และการรักษามะเร็งปากมดลูกที่ดีขึ้น และแพร่หลายทั่วโลก ลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี และลดอัตราการตายจากโรคนี้ลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำไปสู่การคิดค้นวัคซีนป้องกัน
นอกจากนี้ ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น ยังได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2548 ในการค้นพบเรื่องเดียวกันนี้ อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาแก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) อีกด้วย.
การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008