xs
xsm
sm
md
lg

3 แพทย์ยุโรปประเดิมโนเบลแรก ผู้พบไวรัสเอดส์-มะเร็งปากมดลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเยนซี/โนเบล/ผู้จัดการรายวัน - รางวัลโนเบลแรกของปี ประเดิมในสาขาแพทย์เช่นเคย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน มอบให้แพทย์เยอรมันผู้ค้นพบสาเหตุมะเร็งปากมดลูก และ 2 หมอฝรั่งเศสที่ค้นพบเชื้อเอชไอวี อันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์ อีกทั้งผู้พบไวรัสมะเร็งปากมดลูก ยังได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อ 3 ปีก่อน

สภาโนเบล ณ สถาบันวิจัยการแพทย์คาโรลินสกา แห่งกรุงสตอกโฮมส์ ประเทศสวีเดนได้ประกาศรางวัลโนเบล สาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2008 เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) โดยแบ่งเป็น 2 รางวัล ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 คน จากการค้นพบไวรัส "เอชพีวี" อันเป็นของสาเหตุมะเร็งปากมดลูก และการค้นพบเชื้อ "เอชไอวี" สาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ทั้งนี้ รางวัลครึ่งหนึ่งมอบให้ ศ.นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น วัย 72 ปี จากศูนย์วิจัยมะเร็ง เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี โดยคณะกรรมการกล่าวสดุดีว่า "สำหรับการค้นพบไวรัสแพ็บพิลโลม่า ในมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูก"

ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง มอบให้ 2 นักวิจัยจากฝรั่งเศส คือ ฟรังซัวส์ แบร์เร-ซินอยซี วัย 61 ปี จากหน่วยวิจัยไวรัสวิทยา สถาบันหลุยส์ปาสเตอร์ ในกรุงปารีส และ ลุค มองตากนีแยร์ วัย 76 ปี จากมูลนิธิวิจัยและป้องกันเอดส์ ยูเนสโก โดยคณะกรรมการกล่าวสดุดีว่า "สำหรับพวกเขาที่ค้นพบไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในมนุษย์" ซึ่งก็คือเชื้อ เอชไอวี (HIV) นั่นเอง

ทั้งนี้ คณะกรรมการโนเบลแถลงถึงเหตุที่ มอบรางวัลสาขาการแพทย์ให้แก่ 2 ผู้ค้นพบเชื้อเอชไอวีว่า นับเป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างแรก อันนำไปสู่ความเข้าใจด้านชีววิทยาของโรค และเกิดความพยายามหาการหาหนทางจัดการกับเรโทรไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่มุ่งทำลายภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาวิธีการป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วย ด้วยการตรวจเลือด ทำให้จำกัดการกระจายของโรคได้

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ "เอดส์" ปรากฎเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี 1981 เมื่อแพทย์ชาวสหรัฐฯ พบการเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้รักร่วมเพศ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ซึ่ง ณ ตั้งแต่บัดนัดโรคดังกล่าวก็ได้คร่าชีวิตชาวโลกไปถึง 25 ล้านคน และยังมีอีก 33 ล้านรายที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งทำลายภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการค้นพบเชื้อเอชไอวีแล้วตั้งแต่ปี 1983 โดยแบร์เร-ซินอยซี และมองตากนีแยร์ แต่ในเวลาไล่เลี่ยกันทีมแพทย์จากสหรัฐฯ ก็ค้นพบเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน แม้จะเรียกชื่อต่างกัน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านก็มีการฟ้องร้อง อ้างสิทธิในการค้นพบครั้งแรก จึงทำให้งานวิจัยการค้นพบเอชไอวีเพิ่งจะได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ ทั้งที่เป็นการค้นพบที่สำคัญต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง

สำหรับในส่วนของ ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับรางวัลอีกครึ่งหนึ่งนั้น เขาให้ความสนใจและศึกษาวิจัย แพ็บพิลโลม่าไวรัสของคน หรือ เอชพีวี (human papilloma viruses : HPV) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุของหูด มาตั้งแต่ปี 1970

ต่อมาในปี 1976 เขาก็ตั้งสมมติฐานว่าไวรัสหูด มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี และในที่สุดเมื่อปี 1980 ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น และคณะได้พิสูจน์ว่าไวรัสหูด หรือ เอชพีวี 16 และเอชพีวี 18 เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี โดยการแยกไวรัสทั้งสองได้จากเนื้อมะเร็ง

การค้นพบดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง นำไปสู่การป้องกัน และการรักษามะเร็งปากมดลูกที่ดีขึ้นและแพร่หลายทั่วโลก ลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี และลดอัตราการตายจากโรคนี้ลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำไปสู่การคิดค้นวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้ ศ.นพ.ซัวร์ เฮาเซ่น ยังได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2548 ในการค้นพบเรื่องเดียวกันนี้ อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาแก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) อีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น