xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ พัฒนาวิธีตรวจแยกสายพันธุ์หวัดใหญ่-หวัดนก 3 ชม.รู้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ทีมคณะแพทย์ จุฬาฯ พัฒนาเทคนิคใหม่ ใช้หลักอณูชีววิทยา ตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ รู้ผลใน 3 ชั่วโมง จำแนกได้ว่า เป็นหวัดคนหรือหวัดนก สายพันธุ์ใดแน่ ให้ผลแม่นยำ รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายถูกกว่าชุดตรวจแบบเดิม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความสำเร็จ ในการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ A และ B ที่ให้ผลการตรวจรวดเร็วและค่าใช้จ่ายถูกกว่าวิธีการหรือชุดตรวจแบบเดิม โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมงานแถลงดังกล่าว ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.51

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ จะแยกไม่ออกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หรือไข้หวัดนก ทำให้เป็นปัญหาในการตรวจคัดกรองผู้ป่วย แต่หากรู้ผลล่าช้าแล้วปรากฏว่าผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก อาจเกิดการแพร่ระบาดจากคนสู่คน และก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คาดคิดได้

ส่วนวิธีตรวจ หรือชุดตรวจที่มีอยู่เดิม สามารถบอกได้แค่ว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่ใช่หรือไม่ ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใดกันแน่  ต้องนำไปตรวจสอบเพิ่มเติม อีกหลายขึ้นตอนจึงรู้ผลอย่างละเอียด

แต่วิธีการตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถตรวจได้พร้อมกันในคราวเดียวได้อย่างแม่นยำ ทั้งการตรวจจำแนกชนิด และสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ว่าเป็นไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่ และเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ทำให้ช่วยลดเวลาในการตรวจให้สั้นลงได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ด้าน ดร.สัญชัย พยุงภร อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งใจทีมวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่าชุดตรวจไข้หวัดใหญ่จากต่างประเทศ พัฒนาขึ้นภายใต้เชื้อที่พบในประเทศนั้นๆ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยก็อาจให้ผลผิดพลาดได้ เพราะเป็นเชื้อคนละชนิดที่พบในไทย

"วิธีการตรวจแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นมี 2 วิธี คือ วิธีเรียลไทม์พีซีอาร์ (real-time RT-PCR) และ มัลติเพล็กพีซีอาร์ (multiplex RT-PCR) ซึ่งอาศัยหลักการทางอณูชีววิทยา ให้ความแม่นยำสูง และใช้เวลาตรวจราว 2-3 ชั่วโมงก็รู้ผล โดยที่วิธีแรกรวดเร็วกว่าและค่าใช้จ่ายสูงกว่า" ดร.สัญชัย กล่าว

"ขั้นตอนแรกเมื่อได้รับตัวอย่างจากผู้ป่วย เช่น น้ำล้างปอด หรือสารคัดหลั่ง สำหรับตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็จะนำมาสกัดแยกสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซึ่งในที่นี้คืออาร์เอ็นเอ (RNA) จากนั้นนำไปสังเคราะห์ให้เป็นดีเอ็นเอ (DNA) แล้วนำไปเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR)" ดร.สัญชัย อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และต่อว่า

ในกรณีที่ใช้วิธี real-time RT-PCR เครื่องนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอ และตรวจสอบว่าเป็นสารพันธุกรรมของเชื้อชนิดใด และสายพันธุ์ใดด้วยการให้ดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส ทำปฏิกิริยากับโพรบหรือดีเอ็นเอสังเคราะห์ที่มีความจำเพาะต่อกัน ซึ่งติดสารเรืองแสงเป็นเครื่องหมาย และดูผลจากสารเรืองแสงที่ตรวจวัดได้ ก็จะรู้ได้ว่าเป็นเชื้อชนิดและสายพันธุ์ใด

ส่วนวิธี multiplex RT-PCR เป็นวิธีการตรวจด้วยเครื่องพีซีอาร์ที่มีอยู่แพร่หลายทั่วไปในห้องปฏิบัติการ ซึ่งหลังจากเพิ่มจำนวนยีนด้วยเครื่องพีซีอาร์แล้ว ก็นำไปตรวจสอบชนิดและสายพันธุ์ของเชื้อด้วยวิธีเจลอิเล็กโตรโฟรีซิส (Gel electrophoresis) และดูแถบดีเอ็นเอที่ปรากฏอยู่บนแผ่นเจลว่าตรงกับตำแหน่งของยีนอ้างอิงใด ก็แสดงว่าเป็นเชื้อชนิดนั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจของทั้ง 2 วิธีนี้ไม่เกิน 200 บาท

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง บอกเพิ่มเติมว่า ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสารนานาชาติ 2 เล่ม ได้แก่ เจอร์นัล ไบโอโลจิคอล เมธอด (Journal Biological Method) และโตโฮคุ เจอร์นัล เอ็กเพอริเมนทัล เมดิซีน (Tohoku Journal Experimental Medicine) ซึ่งหากโรงพยาบาลใดสนใจก็สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้เลยทันที.
ดร.สัญชัย พยุงภร (ซ้าย) และนายกมล สุวรรณการ นักศึกษาปริญญาเอกที่ร่วมวิจัยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น