xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลง เสี่ยงเป็นมะเร็ง ให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม (Micronucleus) ในกลุ่มเกษตรกรไทย 4 ภาค พบว่า เกษตรกรไทยที่ใช้ยาฆ่าแมลง เสี่ยงเกิดความเสียหายระดับดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ แนะใช้ สารเคมีกำจัดแมลงเท่าที่จำเป็น เวลาใช้ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด และให้พ่นสารเคมีเหนือลม เพื่อลดการรับสารพิษ

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่เลือกใช้สารเคมีกำจัดแมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเพื่อลดจำนวนแรงงานและเวลา ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ปี พ.ศ.2548-2550 พบว่า มีปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร รวม 44,696 55,538 และ 67,894 ตันต่อปี ซึ่งสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2550 มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืชมากที่สุด 73.9% รองลงมา คือ สารเคมีกำจัดแมลง 12.68% และสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช 9.73%

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2550 มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ จำนวน 1,286 ราย ผู้ได้รับพิษส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร สำหรับความเป็นพิษที่ได้รับจากสารเคมีกำจัดแมลงขึ้นอยู่กับวิธีการได้รับสารเข้าสู่ร่างกายจากการกินทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การได้รับผ่านทางผิวหนัง เกิดจากการหกรดตัว-เสื้อผ้าระหว่างผสมสารเคมี การปลิวฟุ้งระหว่างฉีดพ่น การเก็บผลผลิต และหากผิวหนังมีแผลยิ่งทำให้สารเคมีที่สัมผัสซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น โดยสารเคมีกำจัดแมลงที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ กลุ่มอาร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต สารเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดการตกค้างในผลผลิตและตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพอีกด้วย หากได้รับเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพิษเรื้อรัง เช่น พิษต่อระบบประสาท พิษต่อทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังมีผลต่อสารพันธุกรรมในเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินโครงการประเมินและสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรใน 4 ภาคของประเทศไทยจากการได้รับสัมผัส สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี พ.ศ.2550-2551 จำนวน 1,217 คน ช่วงอายุที่ 18-65 ปี แบ่งเป็นเกษตรกรไทยที่ใช้สารเคมี 734 คน และกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ได้แก่ เกษตรกรอินทรีย์ เกษตรกรทางเลือกที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลง รวมถึงเกษตรกรที่เคยใช้แล้วหยุดใช้สารเคมีกำจัดแมลงมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จำนวน 483 คน ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการอ้างอิงโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตรวจความเสียหายระดับ DNA (ความถี่การเกิด Micronucleus) ในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว จำนวน 295 และ 211 คนตามลำดับ พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีจำนวนความเสียหายระดับ DNA ภายในเซลล์เฉลี่ย 4.4 และ 3.9 เซลล์ ต่อ 1000 เซลล์ ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช มีแนวโน้มที่พบความเสียหายระดับดีเอ็นเอมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบเกษตรกรบางคนในจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และสงขลา ใช้สารเคมีห้ามใช้ทางการเกษตร ได้แก่ โมโนโครโตฟอส และพาราไธออน สารดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มอาร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพดังได้กล่าวข้างต้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ เกษตรกรควรใช้ยาฆ่าแมลงให้น้อยที่สุด ควรใช้เฉพาะที่จำเป็นและใช้อย่างระมัดระวัง เช่น ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด สวมรองเท้า ถุงมือ และให้พ่นสารเคมีเหนือลม หรือหันมาทำการเกษตรอินทรีย์แทน นอกจากนี้การวิจัยดังกล่าวยังสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมีข้อมูลทางวิชาการสำหรับแนะนำเกษตรกร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น