นักวิจัยมิตรผลร่วมมือไบโอเทค พัฒนาชุดตรวจโรคใบขาวในอ้อยสำเร็จเป็นครั้งแรก ราคาถูก ใช้ง่าย รู้ผลเร็ว ช่วยเกษตรกรตรวจโรคในอ้อยก่อนนำไปขยายพันธุ์ ทำให้ลดการสูญเสียและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จดสิทธิบัตรแล้ว เตรียมผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศกันยายนนี้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด แถลงข่าวความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนาชุดตรวจโรคใบขาวในอ้อย เมื่อวันที่ 5 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีสื่อมวลชนมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมงาน
ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านการวิจันและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยราว 6 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 2 แสนไร่ที่ประสบปัญหาอ้อยเป็นโรคใบขาว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
โรคใบขาวทำให้ต้นอ้อยแตกหน่อเร็ว หน่อใหม่มักมีสีขาว แตกกอคล้ายตะไคร้ที่มีหน่อสีขาวในอ้อยตอ ต้นอ้อยแคระแกรน น้ำหนักน้อย มีค่าความหวานต่ำลง และหากเป็นมากอ้อยจะตายได้ภายใน 2-4 เดือน ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก หากขุดทิ้งก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
"แต่เกษตรกรมักมีความเชื่อว่าการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากๆ จะช่วยให้ใบขาวกลับมาเขียวได้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ทว่าอ้อยไม่ได้หายจากการเป็นโรค ซึ่งเรียกว่ามีอาการแฝง และเมื่อนำอ้อยดังกล่าวไปขยายพันธุ์ ก็จะส่งผลเสียอย่างรุนแรง ไม่เพียงทำให้อ้อยรุ่นใหม่เป็นโรคใบขาวเช่นเดียวกับต้น แต่ยังเป็นการแพร่กระจายโรคไปมากยิ่งขึ้นด้วย" ดร.พิพัฒน์ เล่าถึงผลเสียที่ตามมา
ทั้งนี้ โรคใบขาวในอ้อยนี้เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา (Phytoplasma) โดยมีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะ หากเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลที่มีเชื้อดังกล่าวแฝงอยู่ไปเจาะลำต้นอ้อยเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง อ้อยต้นดังกล่าวก็จะติดเชื้อได้ทันที จึงทำให้โรคแพร่ระบาดในแปลงอ้อยได้อย่างรวดเร็ว
ดร.พิพัฒน์ บอกว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือการเลือกใช้ต้นอ้อยที่แข็งแรงและปลอดโรคไปเพาะขยายพันธุ์ ร่วมกับการจัดการแปลงปลูกอ้อยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งชุดตรวจโรคจะช่วยให้เกษตรกรทราบได้ว่าต้นอ้อยที่เห็นใบเขียวดีนั้น แท้ที่จริงมีอาการแฝงของโรคใบขาวอยู่หรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการทำชุดตรวจโรคในอ้อย โดยเริ่มวิจัยพัฒนาตั้งแต่ปี 2549 จนได้ผลสำเร็จและจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ชุดตรวจโรคใบขาวในอ้อยอาศัยหลักการตรวจคล้ายกับชุดตรวจโรคในกล้วยไม้ โดยมีโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไฟโตพลาสมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อหยดน้ำอ้อยที่เจาะจากต้นอ้อยลงในหลุมบนชุดตรวจ ภายใน 10 นาที จะปรากฏเป็นแถบสี หากมี 1 แถบสีแสดงว่าอ้อยนั้นปลอดโรคใบขาว แต่หากปรากฏ 2 แถบ แสดงว่าเป็นโรค ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ตรวจและอ่านผลได้เองในไร่อ้อยและโดยใช้เวลาไม่นาน
อย่างไรก็ดี ทางไบโอเทคและมิตรผลได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดตรวจโรคใบขาวในอ้อยให้แก่บริษัท อินโนวา ไบโอเทคโนโลยี จำกัด โดยผลิต
ชุดตรวจล็อตแรกออกมาแล้วจำนวน 1 แสนชุด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทผู้จัดจำน่าย ซึ่งคาดว่าจะพร้อมจำหน่ายได้ราวเดือน ก.ย. ปีนี้
สำหรับราคาจำหน่ายนั้น ดร.พิพัฒน์ ระบุว่าต้องขึ้นอยู่กับบริษัทผู้จัดจำหน่าย แต่จะไม่ให้เกิน 5% ของราคาต้นพันธุ์อ้อยต่อ 1 ไร่ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 บาท โดยใน 1 ไร่ เกษตรกรควรจะต้องใช้ชุดตรวจ 10 ชุด ในการสุ่มตรวจ 10 จุด ฉะนั้นน่าจะเพิ่มต้นทุนในการตรวจโรคใบขาวอีกประมาณ 500-1,000 บาท โดยในช่วงแรกจะเผยแพร่ชุดตรวจแก่ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทย และเผยแพร่สู่ต่างประเทศต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ น.ส.อัปสร เปลี่ยนสินไชย หัวหน้านักวิจัย บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากโรคใบขาวแล้ว ยังมีโรคอ้อยอื่นๆ ที่มีกระทบรุนแรงต่อไร่อ้อยในประเทศไทย เช่น โรคแส้ดำ โรคเหี่ยวเน่าแดง เป็นต้น แต่ว่าโรคเหล่านี้สามารถคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ต้านทานโรคได้ แต่โรคใบขาวยังไม่มีพันธุ์ต้านทานโรค ซึ่งจะดำเนินการวิจัยต่อไปเพื่อหาพันธุ์ที่ต้านโรคดังกล่าวได้
ด้าน ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสของไบโอเทค และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอ้อยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งภาคอาหารและภาคพลังงาน จึงจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตอ้อยให้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องลดความสูญเสียที่เกิดกับผลผลิตด้วย โดยพันธุ์อ้อยที่ดีควรมีความต้านทานโรค สามารถไว้ตอได้ดี หรือสามารถทิ้งกาบใบได้เองโดยที่ไม่ต้องเผาก่อนตัดอ้อย เพื่อไม่เป็นการทำลายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งขณะนี้ไบโอเทคก็กำลังดำเนินการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์อ้อยอย่างต่อเนื่อง.