xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องศาลระงับ "เซิร์น" เดินเครื่องหวั่นเกิดหลุมดำทำลายโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิวยอร์กไทม์ - ชาย 2 คนเดินหน้าฟ้องศาลฮาวายระงับเดินเครื่อง "เซิร์น" เนื่องจากหวั่นว่าการจับโปรตอนชนกันจะทำให้เกิด "หลุมดำ" ทำลายล้างโลก ชี้แม้เซิร์นเป็นองค์กรวิจัยนานาชาติที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลในสหรัฐฯ แต่โดยดี ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปไม่ได้

แม้นักฟิสิกส์ทั่วโลกจะใช้เวลาถึง 14 ปีและลงทุนไปกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ที่ใหญ่สุดในโลก ภายใต้ความร่วมมือขององค์การศึกษาวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป "เซิร์น" (Cern) เพื่อเร่งให้อนุภาคโปรตอนชนกัน แล้วสร้างพลังงานและเงื่อนไขที่เหมือนกับเสี้ยววินาทีที่ 1 ในล้านล้านล้านหลังเกิดบิกแบง (Big Bang) โดยนักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์เศษซากที่เกิดขึ้น เพื่อไขปริศนาธรรมชาติของมวลและแรงใหม่ๆ รวมถึงความสมมาตรของธรรมชาติด้วย

หากแต่วอลเตอร์ แอล.วากเนอร์ (Walter L.Wagner) ผู้อาศัยอยู่ในมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา และศึกษาวิจัยฟิสิกส์และรังสีคอสมิกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) ทั้งยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนอร์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในซาคราเมนโต (University of Northern California in Sacramento) และลูอิส ซานโช (Luis Sancho) ซึ่งระบุว่าทำวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีเวลาและอาศัยอยู่ในสเปน ได้ฟ้องต่อศาลฮาวายเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ระงับการทดลองของเซิร์น เนื่องจากอาจทำให้เกิดหลุมดำขนาดเล็กที่อาจ "กินโลก" หรือทำให้เกิดอนุภาคแปลกๆ ที่เปลี่ยนโลกให้หดกลายเป็นก้อนที่มีความหนาแน่นสูง

ทั้งนี้แม้จะฟังดูประหลาด แต่กรณีนี้ก็เป็นประเด็นเคร่งเครียดที่สร้างความวิตกให้กับนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ กล่าวคือพวกเขาจะประมาณความเสี่ยงจากการทดลองใต้ดินที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี้ได้อย่างไร และใครที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะหยุดหรือเดินหน้าการทดลอง

ในเอกสารคำฟ้องร้องของทั้งสองคนยังกล่าวอีกว่า เซิร์นล้มเหลวในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมายด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้ระงับการทดลองชั่วคราวจนกว่าเซิร์นจะได้ทำการประเมินความปลอดภัยและผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน

ผู้ที่เป็นจำเลยของการฟ้องร้องครั้งนี้ นอกจากเซิร์นแล้วยังมีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ห้องปฏิบัติการเร่งอนุภาคเฟอร์มิแห่งสหรัฐฯ (Fermi National Accealerator) หรือเฟอร์มิแล็บ (Fermi Lab) มูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ

วากเนอร์และซานโชได้ยื่นคำร้องให้ศาลไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค.51 ที่ผ่านมา และจะมีการไต่สวนในวันที่ 16 มิ.ย.51 ซึ่งไม่ว่าเซิร์นซึ่งเป็นองค์การวิจัยของชาติยุโรปที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์จะเดินทางไปที่ศาลในฮาวายเพื่อให้ปากคำหรือไม่ แต่วากเนอร์กล่าวว่าองค์กรวิจัยระดับโลกนี้ต้องยอมรับในคำตัดสินของศาลแต่โดยดี  และเพิ่มเติมว่าเขายังสามารถยื่นฟ้องแก่ศาลในฝรั่งเศสหรือสวิตเซอร์แลนด์ได้ อย่างไรก็ดีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายพวกเขาจึงยื่นฟ้องในสหรัฐฯ แทน

นอกจากนี้วากเนอร์ยังเรียกร้องให้เฟอร์มิแล็บและกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนและช่วยเหลือในการสร้างแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดขนาดยักษ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องเร่งอนุภาคไม่ว่าอย่างไรก็ตาม

ทางด้านเจมส์ ยิลลิเอส (James Gillies) หัวหน้าโฆษกที่เซิร์นกล่าวว่า เซิร์นยังไม่มีความเห็นใดๆ ต่อการฟ้องร้องดังกล่าว และยังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าศาลท้องถิ่นในฮาวายจะพิพากษาองค์กรนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ที่ยุโรปได้อย่างไร

โฆษกของเซิร์นระบุอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรใหม่ที่บ่งชี้ว่าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีนั้นไม่ปลอดภัย และเสริมอีกว่าความปลอดภัยของเซิร์นได้นำเสนอผ่านรายงาน 2 ฉบับ ส่วนฉบับที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำซึ่งจะเป็นหัวข้อให้อภิปรายกันในวันเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมห้องปฏิบัติการใต้ดินของเซิร์นในวันที่ 6 เม.ย.51 นี้

อย่างไรก็ดีคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่จากเซิร์นก็ไม่ได้ทำให้วากเนอร์สงบลง โดยเขาได้กล่าวว่าเซิร์นได้ปล่อยโฆษณาชวนเชื่ออย่างมากว่ามีความปลอดภัย แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ยังเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่ออยู่นั่นเอง

นักฟิสิกส์ที่อยู่ทั้งในและนอกเซิร์นกล่าวว่าการศึกษาหลายๆ แห่งซึ่งรวมถึงรายงานอย่างเป็นทางการของเซิร์นเมื่อปี 2546 ให้ข้อสรุปว่าการทดลองไม่มีปัญหาใด แต่เพียงเพื่อความมั่นใจ เมื่อปีที่แล้วกลุ่มประเมินความปลอดภัยนิรนามได้เตรียมเพื่อจัดทำบทวิจารณ์ความปลอดภัยอีกครั้ง

"ความเป็นไปได้ที่หลุมดำจะกลืนกินโลกนั้นเป็นเรื่องเคร่งเครียดที่ถกเถียงกันเฉพาะในหมู่คนสติไม่สมประกอบเท่านั้น" มิเคาลางเจโล มางกาโน (Michelangelo Mangano) นักทฤษฎีที่เซิร์นกล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วากเนอร์ออกมาคัดค้านการทดลอง เมื่อปี 2542 และ 2543 เขาได้ยื่นฟ้องในลักษณะเดียวกันนี้กับห้องปฏิบัติการบรูกฮาเวนแห่งสหรัฐฯ (Brookhaven National Laboratory) ไม่ให้เดินเครื่องเร่งไออนธาตุหนัก (Relativistic Heavy Ion Collider) แต่ศาลก็ไม่รับคำฟ้องดังกล่าวในปี 2544 ขณะที่เครื่องดังกล่าวได้เร่งให้ไออนของทองชนกัน เพื่อหวังว่าจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า "พลาสมาควาร์ก-กลูออน" (Quark-gluon plasma) โดยไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมาตั้งแต่ปี 2543.


กำลังโหลดความคิดเห็น