xs
xsm
sm
md
lg

“พีอาร์พี” ทางเลือก‘รักษ์’นักกีฬา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวอร์จิเนีย ราซซาโน ขณะรับการบำบัดข้างสนาม
เคยมีคนเปรียบเทียบไว้ว่าระหว่างกอล์ฟและเทนนิสนั้น กีฬาวงสวิงดูจะมีภาษีดีกว่าสังคมลูกสักหลาดเพราะไม่เพียงแต่เงินรางวัลที่สูงกว่า แต่การยืนระยะของเหล่าโปรบนแฟร์เวย์ นั้นมีช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า ส่วนหนึ่งเพราะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแข่งขันนั้นไม่ต้องโถมแรงเข้าใส่เหมือนกับการแข่งขันเทนนิส จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ทุกวันนี้เรายังคงเห็นนักกอล์ฟที่มีอายุขึ้นเลขสี่อย่างคอลิน มอนท์โกเมอรี่ย์ ลงสนามดวลสวิงอยู่อย่างแข็งขันผิดกับวงการเทนนิส ที่นักเทนนิสบางรายต้องถอนตัวจากวงโคจรด้วยวัยยังไม่ถึง 30 ปีเสียด้วยซ้ำ

ถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้บรรดานักเทนนิสซูเปอร์สตาร์หลายต่อหลายรายต้องอำลาสนามไปก่อนวัยอันควร ในรายของอังเดร อากัสซี่ ที่พยายามจะยืนระยะทำผลงานแต่ก็ต้องหยุดตนเองลงด้วยวัย 35 ปี หรือแม้แต่ แพทริก ราฟเตอร์ จอมเสิร์ฟหนักชาวออสเตรเลีย และเป็นเจ้าของตำแหน่ง นักเทนนิสมือ 1 ของโลกที่มีอายุอยู่บนบัลลังก์สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 1999 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่และข้อมือจนทำให้เจ้าต้องแขวนแรกเก็ตไปในปี 2002

จะเห็นได้ว่าอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ของนักกีฬาเทนนิส มักจะเกิดที่กล้ามเนื้อหัวไหล่ ข้อมือ หรือ หัวเข่า เพราะทักษะของกีฬาประเภทนี้ต้องใช้แรงเหวี่ยงและความเร็วส่งลูกสักหลาดให้ถาโถมเข้าหาคู่ต่อสู้ เมื่อบรรดาข้อต่อและกล้ามเนื้อถูกใช้งานอย่างหนักติดต่อกัน ประกอบกับตารางการแข่งขันในปัจจุบันที่แน่นเสียจนนักเทนนิสหลายรายต้องออกมาร้องอุทธรณ์ เพราะระบบของเอทีพี และ ดับเบิ้ลยูทีเอ กลายเป็นตัวเร่งให้นักกีฬาเหล่านี้หมดอายุในวงการเร็วขึ้น

แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะไม่มีทางออก ด้วยผลการวิจัยล่าสุดของ ดร. อลัน มิชรา (Alan Mishra ) ศาสตราจารย์ทางด้านการศัลยกรรมกระดูกแห่งศูนย์วิจัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดค้นพบวิธีแก้ไข อาการบาดเจ็บหัวไหล่และข้อศอกของเหล่าบรรดานักเทนนิสรวมนักกีฬาประเภทอื่นได้สำเร็จ และเป็นการรักษาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยหายไปอย่างรวดเร็วโดยมีชื่อเรียกการรักษาดังกล่าวว่า “เพลทเลท – ริช – พลาสมา – ทรีทเมนท์” (Platelet-rich plasma treatment)หรือ “พีอาร์พี”(PRP) เป็นการสกัดนำเอาสารพลาสมาในเลือดซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งมาช่วยรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น

โดย ดร. อลัน กล่าวถึงรูปแบบการรักษาดังกล่าวว่า "ร่างกายของมนุษย์เรามีความพิเศษเนื่องจากมันสามารถรักษาตัวมันเองให้หายได้ สิ่งที่เราทำก็เพียงแค่เร่งการเกิดกระบวนการดังกล่าวให้เร็วยิ่งขึ้น โดยนำเลือดออกมาจากส่วนใดก็ได้ของร่างกาย นำมาทำให้เกิดความเข้มข้นมากขึ้น ก่อนจะฉีดมันกลับเข้าไปบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บเพื่อให้มันไปซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย"

จากผลการวิจัย วิธีดังกล่าวจะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการตีลูกด้วยความเร็วกว่า 120 ไมล์ต่อชั่วโมงของบรรดานักเทนนิส กล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆจะกลับมาสู่สภาพปกติแม้จะผ่านการเล่นมาอย่างหนักรวมถึงการใช้งานบางส่วนของร่างกายซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬาที่มีตารางการแข่งขันอันถี่ยิบไม่มีเวลาพักฟื้นนานพอที่จะรอให้อาการบาดเจ็บหายกลับมาปกติ เพราะบ่อยครั้งทีเดียวพบว่าเมื่อไม่มีการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายสนิทดี ผลสุดท้ายแล้วอาการบาดเจ็บจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่สำคัญ “พีอาร์พี” จะช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นตัวลงน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ซึ่งหากเป็นการบาดเจ็บบริเวณเอ็นหรือกล้ามเนื้อเช่นนี้ จะทำให้นักกีฬาต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมานานทีเดียว ส่งผลต่อการเล่นระดับอาชีพที่จะต้องพลาดเงินรางวัลจากการแข่งรายการต่างๆรวมถึงการรักษาอันดับมือวาง แน่นอนว่ามันอาจจะยังไม่เข้ามาทดแทนวิธีการผ่าตัดลงไปเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยวิธีนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

แม้ในปัจจุบันวิธีการรักษาแบบ “พีอาร์พี” ยังไม่ได้การรับรองจากหน่วยงานด้านอาหารและยา ของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) แต่มันก็ไม่ได้ถูกจำกัดสำหรับนักกีฬาที่จะใช้แต่อย่างใด แม้ว่านักกีฬาระดับสมัครเล่นจะไม่ต้องการเสียเงินค่ารักษาไปกับวิธีนี้ แต่สำหรับเงิน 2,500 เหรียญสหรัฐฯ คงไม่เป็นปัญหาสำหรับนักเทนนิสมืออาชีพที่ต้องการจะกลับเข้าสู่ระดับท็อปของโลกอีกครั้ง

ทั้งนี้ “พีอาร์พี” ยังคงต้องผ่านการทดสอบอีกหลายครั้งกว่าที่จะผ่านการรับรองของเอฟดีเอได้ แต่การรักษาชนิดนี้กลายเป็นหัวข้อวิจัยกระแสหลักเรื่องหนึ่งของการรักษานักกีฬาในปัจจุบัน ขณะที่ ดร.มิชรา เอง ก็กำลังมุ่งมั่นที่จะนำการรักษาด้วยวิธีการนี้เข้าไปสู่กีฬาประเภทอื่น รวมถึงการรักษาอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าและเอ็นร้อยหวายขาด ในกีฬาประเภทอเมริกันฟุตบอล ฟุตบอล และ เบสบอล

หากผลวิจัยการรักษาในรูปแบบดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ และ สามารถใช้ได้กับนักกีฬาโดยไม่มีผลข้างเคียง เชื่อแน่ว่าเหล่านักสู้ในทุกสนามต้องยึดเอา “พีอาร์พี” เป็นหนทางสว่างเพื่อหนีจากอาการเจ็บป่วย ขณะที่แฟนกีฬาก็คงได้อานิสงส์จากการรักษาวิธีนี้ไปด้วยเพราะนี่คือวิธีการที่ทำให้ขวัญใจของพวกเขายังยืนระยะอยู่ในสนามไปได้อีกพักใหญ่ แต่ฝันทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นจริงหรือไม่นั้นอาจต้องรอให้เหยื่อจากสนามแข่งขันเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่านี้ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องถึงจะยินยอมเปิดใจยอมรับการรักษาแบบ “พีอาร์พี” ได้
เกรก โอเดน นักบาสที่ต้องบาดเจ็บหัวเข่าขวา
ทอม เบรดี้ เอ็นเข่าฉีกต้องหยุดเล่นทั้งฤดูกาล
กำลังโหลดความคิดเห็น