xs
xsm
sm
md
lg

iTAP พัฒนา ‘ระบบทดสอบเครื่องฆ่าเชื้อ’ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอแท็ป - โครงการไอแท็ป (iTAP) สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย (TiTEC) มจธ.เข้าออกแบบและสร้างระบบทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์แบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ให้กับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยให้ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อการใช้งานของบุคลากรและคนไข้ในโรงพยาบาล และลดการนำเข้าเครื่องฆ่าเชื้อราคาแพงจากต่างประเทศ พร้อมระบุ เทคโนโลยีฝีมือคนไทยไม่ด้อยกว่าชาติอื่น มีประสิทธิภาพ และราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า

ปัญหาการติดเชื้อถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงต้องมีระบบการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในกระบวนการฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น สเตอริไลส์แบบใช้ไอน้ำ การฆ่าเชื้อด้วยโอโซนและใช้รังสี เป็นต้น ส่วนการฆ่าเชื้อด้วยเครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่อุณหภูมิต่ำ(60๐c)เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป เนื่องจากใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่ในกระบวนการผลิตเครื่องฆ่าเชื้อประเภทนี้จำเป็นต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องก่อนถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน เพราะมีการใช้สารเคมีที่อันตรายในการปฏิบัติงานด้วย

นอกจากการวัดและตรวจสอบการตกค้างของก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ในเครื่องมือแพทย์แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานระหว่างการฆ่าเชื้อ เนื่องจากก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์เป็นก๊าซพิษ หากเข้าสู่ร่างกายผู้ปฏิบัติอาจทำให้เกิดอันตรายได้ บริษัท เชียงใหม่เมดเทคซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์แบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (LTSF)รายแรกของไทย ได้ขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ใน “โครงการออกแบบสร้างระบบทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์"

เนื่องจากเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์แบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งบริษัทผลิตขึ้นเป็นวิธีการฆ่าเชื้อในอุณหภูมิต่ำ (60๐c) สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์บางชนิดที่ไม่สามารถทนต่อความร้อนในอุณหภูมิสูงๆ (120๐c)ได้ เช่น ท่อ หรือ สายยางที่ทำจากพลาสติก และเพื่อให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลมั่นใจประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องว่ามีความปลอดภัย จากอันตรายที่เกรงว่าจะได้รับจากก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่อาจรั่วไหลในขณะเครื่องทำงานซึ่งจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเกิดการตกค้างของก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์บนเครื่องมือแพทย์ ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน ทางบริษัทจึงได้ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ

นายสุชาติ ศาสตร์เวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เมดเทคซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะที่ใช้ในห้องผ่าตัดส่วนใหญ่ต้องนำเข้าและมีราคาแพง กว่าร้อยละ 95 จึงต้องผ่านการฆ่าเชื้อเพื่อนำกลับมาใช้หมุนเวียน หากไม่มีการนำไปผ่านการฆ่าเชื้อแล้วโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อในผู้ป่วยเป็นไปได้มาก จึงต้องนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อให้ปราศจากเชื้อ 100% และการฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คือ “การฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ” ถือว่าดีที่สุด มีประสิทธิภาพและถูกที่สุด

“หลังจากบริษัทได้พัฒนาเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์แบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์(LTSF)ขึ้น แต่เริ่มแรกยังไม่ได้รับการายอมรับเพราะผู้ใช้ไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องให้การรองรับ บริษัทจึงต้องหาวิธีการตรวจสอบและรับประกันประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์แบบไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์(LTSF) ที่บริษัทผลิตขึ้นนี้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องของสารตกค้าง และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม”

โครงการ iTAP เครือข่ายภาคเหนือ ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เข้าไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อออกแบบและสร้างระบบทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้ไอน้ำร่วมกับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ตามมาตรฐานการทดสอบ และกำหนดวิธีการตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อและสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน โดย iTAP ยังได้สนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายให้อีกร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการฯ

สำหรับผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการฯ นายสุชาติ กล่าวว่า ทำให้บริษัทมีห้องปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยของเครื่องฆ่าเชื้อที่มีมาตรฐานสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ได้ว่าเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากเครื่องฆ่าเชื้อที่บริษัทผลิตขึ้นปราศจากเชื้อ100% ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการยอมรับจากโรงพยาบาลมากขึ้น ประกอบกับเครื่องฆ่าเชื้อที่บริษัทผลิตมีราคาถูกกว่าเครื่องฆ่าเชื้อนำเข้าถึง 3 เท่า ทำให้ขณะนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทมีกำลังการผลิตเพียง 6 เครื่องต่อเดือนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการพัฒนาต่อยอดด้วยการสร้างเครื่องทดสอบแบบเคลื่อนที่ สามารถนำไปทดสอบเรื่องความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน ณ สถานที่ติดตั้งเครื่องปฏิบัติงานจริงได้ทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทในการทำวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ เพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาแพงได้

ด้าน นายวรรณภพ กล่องเกลี้ยง ผู้จัดการเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการดังกล่าว กล่าวว่า “ จากโจทย์ดังกล่าว ทางโครงการ iTAP ได้เข้ามาสร้างระบบและสร้างห้องทดสอบให้กับบริษัท โดยระบบทดสอบนี้จะใช้วัดระดับปริมาณการรั่วของก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่ออกจากตัวเครื่องฆ่าเชื้อขณะทำงาน หากพบการรั่วของก๊าซฯ ระบบก็จะส่งสัญญาเตือน ซึ่งระบบนี้มีความสามารถในการตรวจวัดปริมาณการรั่วของก๊าซฯ ได้ละเอียดและไวกว่าจมูกคน คือหากเกิดการรั่วของก๊าซฯ เพียง .01 พีพีเอ็มจะสามารถวัดค่าได้ทันที ขณะที่ระบบทดสอบนี้ได้กำหนดค่าไว้ไม่เกิน 0.3 พีพีเอ็มตามที่มาตรฐานกำหนด เพราะหากมีการรั่วไหลของก๊าซฯ เกินกว่า 0.3 พีพีเอ็ม จะถือว่าอันตราย

ทั้งนี้การทำงานของระบบทดสอบดังกล่าวยังเชื่อมต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะคอยบันทึกผลการทำงานตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมงของรอบการทำงานของเครื่องฆ่าเชื้อ ซึ่งระบบทดสอบดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพซึ่งต้องใช้ร่วมกับวิธีการทดสอบสารตกค้างและการฆ่าเชื้อที่เป็นมาตรฐานอื่นๆอีก 4 – 5 วิธีที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากบริษัทจะได้วิธีการทดสอบที่ถูกต้อง พร้อมห้องทดสอบ และระบบทดสอบที่สามารถนำไปทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งานได้ว่าเครื่องฆ่าเชื้อดังกล่าว สามารถป้องกันการรั่วของก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ได้จริง พร้อมใบรับรองที่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของเครื่องว่า“ได้ผ่านการทดสอบ”แล้ว ยังถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งจาก สวทช. และ สถาบันการศึกษา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

นายวรรณภพ กล่าวต่อว่า “ ในฐานะนักวิจัยถือว่าเป็นโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนฝีมือคนไทย และสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยมีความก้าวหน้าขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง เมื่อบริษัทฯ นำระบบทดสอบดังกล่าวมาใช้ทำให้ได้มียอดขายเพิ่มขึ้น และยังสามารถแก้ไขได้ทันหากกรณีที่ผลการทดสอบพบว่าเกิดปัญหาขึ้นกับเครื่องฆ่าเชื้อก่อนส่งมอบสินค้า ”

“ การพัฒนาดังกล่าวยังเป็นการตอบโจทย์ หรือ แก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด เพราะการที่บริษัทมีระบบทดสอบดังกล่าว นอกจากจะทำให้สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพของเครื่องแล้ว ยังทำให้เครื่องมือแพทย์ที่คนไทยพัฒนาขึ้นนี้สามารถแข่งขันได้กับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ไทยลดการนำเข้าเครื่องราคาแพง ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีโยฝีมือคนไทยที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศได้ ช่วยให้บริษัทสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขณะที่นักวิจัยเองเกิดองค์ความรู้เพิ่มขึ้นจากผลของการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งจะได้นำความรู้ไปต่อยอดการพัฒนาและประยุกต์ใช้กับกรณีอื่นๆ ต่อไป” นายวรรณภพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น