“ขิงดอง” ถือเป็นหนึ่งในอาหารทางวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น แต่เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ทำเกษตรจำกัด ทำให้การเพาะปลูกขิงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จำเป็นนำเข้าขิงดองจากต่างประเทศ 100% โดยมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุดปีละหลายร้อยล้านบาท
อย่างเช่นรายของ “บริษัท ชวี่ เฉวียน ฟู้ดส์ จำกัด” ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ใน จ.เชียงราย โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นถึง 98% เน้นจับตลาดบน สร้างรายได้ปีละกว่า 200-300 ล้านบาท
นายเจริญชัย แย้มแขไข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชวี่ เฉวียน ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตขิงดอง ขิงแปรรูป และมะเขือม่วงดองส่งออกรายใหญ่ของไทยกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทฯ เป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับไต้หวัน เดิมตั้งโรงงานอยู่ที่ไต้หวันและได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเมื่อปี 2536 ดำเนินธุรกิจผลิตขิงดองกึ่งสำเร็จรูปส่งออกตลาดญี่ปุ่น และในปี 2541 ได้ทดลองผลิตขิงแปรรูปส่งจำหน่ายซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากลูกค้า จากนั้นจึงได้ทำการผลิตมะเขือม่วงดองเพิ่มซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นการผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 100% ไม่มีจำหน่ายในประเทศ จับกลุ่มลูกค้าตลาดบนเป็นหลัก เนื่องจากไม่ต้องการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งจากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะจีนที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพนั้นยังสู้ไทยไม่ได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ขิงดองและขิงแปรรูปที่บริษัทผลิตขึ้นได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นได้ 30 - 35 % จากผลิตภัณฑ์ขิงดองและขิงแปรรูปที่ส่งเข้าประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
“ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกหลักของบริษัทถึง 98% ที่เหลือกระจายอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคนญี่ปุ่น จีน และไต้หวันอาศัยอยู่ โดยในแต่ละปีสามารถสร้างรายไดให้บริษัทกว่า 200 – 350 ล้านบาท” เจ้าของธุรกิจ เผย
ทั้งนี้ การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไต้หวันมาที่ประเทศไทย ทำให้ต้องหาพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกขิงสายพันธุ์จากญี่ปุ่นโดยเฉพาะขึ้น และพบว่าพื้นที่ทางภาคเหนือมีความเหมาะสมกับการปลูกขิงสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ได้คุณภาพ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่านและพะเยา บริษัทจึงได้มาจัดตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
สาเหตุที่ต้องใช้ขิงสายพันธุ์ญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากขิงญี่ปุ่นมีกากไฟเบอร์น้อย และมีรสชาติเผ็ดน้อยกว่าขิงไทย ปัจจุบันมีการเพาะปลูกขิงสายพันธุ์ญี่ปุ่นเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประมาณ 2 หมื่นไร่ นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกกันมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย รวมพื้นที่เพาะปลูกขิงทั่วประเทศทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นไร่ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกมะเขือม่วงประมาณ 300 ไร่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง
“การรับซื้อขิงอ่อนสดจากเกษตรกรจะมีขึ้นราวเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ขิงมีอายุ 4-6 เดือนมีคุณภาพที่เหมาะสำหรับการผลิตขิงดองและขิงแปรรูป โดยในแต่ละปีบริษัทจะรับซื้อขิงอ่อนสดจากเกษตรกรถึง 12 ล้านกิโลกรัม สามารถผลิตขิงดองและขิงแปรรูปส่งออกได้ปีละ 600 ตู้คอนเทรนเนอร์” นายเจริญชัย เผย
สำหรับขั้นตอนการผลิตขิงดองนั้น เมื่อได้ขิงสดมาแล้วต้องล้างเพื่อเอาดินที่ติดอยู่ออกก่อน จากนั้นจะนำลงบ่อดองที่มีความลึก 3 เมตร กว้าง 5 ยาว 6 เมตร จุได้บ่อละ 5 – 6 ตัน มีจำนวนบ่อดองทั้งสิ้น 150 บ่อ หมักทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน หรือมากกว่านั้น จากนั้นจึงค่อยทยอยนำขึ้นมาปลอกเปลือก หรือที่เรียกว่าตัดแต่ง โดยมีแรงงานที่ทำหน้าที่ในการตัดแต่งกว่า 500 - 800 คน กำลังการผลิตต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 40 – 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำมาคัดขนาด ชั่งน้ำหนัก แพ็คกิ้ง และนำบรรจุลงในลังและพาเลตไม้ เพื่อเตรียมส่งออกต่อไป
แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้มีประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ห้ามนำเข้าบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ หรือ ลังไม้ ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน IPPC เข้าไปยังประเทศญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของแมลงที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจติดมากับบรรจุภัณฑ์ไม้ ซึ่งอาจเข้าไปสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายต่อด้านการเกษตรของประเทศญี่ปุ่น
จากความเข้มงวดดังกล่าว ทำให้ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก บริษัทจึงได้เข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ “การสร้างเตาอบวัสดุบรรจุภัณฑ์จากไม้เพื่อการ Heat Treatment” สำหรับใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ขิงดองส่งออก โดย iTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทได้สร้างเตาอบดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เตา เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน สามารถอบลังไม้ได้ถึงคราวละประมาณ 1,000 ลัง
ผลที่ได้รับจากโครงการฯ นี้ ทำให้บริษัทสามารถส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง เพราะลังและพาเลตไม้ที่ผ่านการอบจากเตาอบที่บริษัทสร้างขึ้นจะมีมาตรฐาน IPPC เป็นเครื่องหมายรับรองลงบนตัวลังและพาเลตไม้ทุกครั้งเพราะการที่บริษัทสามารถควบคุมการอบได้เอง หากเกิดปัญหาขึ้นที่ปลายทางก็ตรวจสอบได้ทันที ซึ่งนอกจากได้เตาอบที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนลงจากเดิมที่ต้องสั่งซื้อลังไม้ที่อบแล้วจากภายนอกโรงงานถึงปีละกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีบริษัทต้องใช้ลังไม้เป็นจำนวนมากนับแสนใบ แต่ที่สำคัญ คือ ความมั่นใจในคุณภาพของบรรจุภัณฑ์และการจัดส่งสินค้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้า มีด้วยกัน 2 แบบ นอกจากบรรจุภัณฑ์ไม้ หรือ พาเลตไม้แล้ว ยังมีพาเลตที่ทำจากสแตนเลสแบบน๊อคดาวน์ เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายเทศบาลที่กำหนดว่าหากมีการเผาวัสดุใดๆก็ตามจะคิดค่าเผาตามน้ำหนักเป็นกิโลถือว่าแพงมาก ดังนั้น จึงมีการจัดทำพาเลตจากสแตนเลสขึ้นใช้นิยมกันมากในเมืองใหญ่ เช่น โอซาก้า และ โตเกียว แต่สำหรับเมืองเล็กๆ ยังคงใช้พาเลตจากไม้เป็นส่วนใหญ่
นายเจริญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขิงดองถือเป็นวัฒนธรรมการกินของชนชาติญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งประเทศอื่นไม่นิยมมากนัก โดยในปี 2546 เป็นต้นมา บริษัทมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปญี่ปุ่นเฉพาะผลิตภัณฑ์ขิงดองและขิงแปรรูปสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทถึงปีละประมาณ 200 - 350 ล้านบาท และอีก 60 ล้านบาทจากผลิตภัณฑ์มะเขือม่วงดองที่ได้รับการตอบรับจากตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังเตรียมขยายผลิตภัณฑ์สินค้าทางด้านเกษตรอื่นๆ เพิ่มเข้าไปยังตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น
“ผมมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก จึงอยากให้คนไทยหันมามองและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกันมากขึ้น ” นายเจริญชัย กล่าวในตอนท้าย
***** ข้อมูลโดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)*****