อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา หรือ เซรามิก ถือเป็นงานศิลปะปั้นมือที่สร้างสรรค์จากธรรมชาติสู่ภาชนะใช้สอยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการจากงานชิ้นเล็กๆ ตั้งแต่ถ้วย จาน ชาม แจกัน กรอบรูป ไปจนถึงแจกันตั้งพื้นขนาดใหญ่ความสูงไม่เกิน 80 ซ.ม สำหรับตกแต่งสถานที่ หรือแม้แต่นำไปใช้ในเรื่องของความเชื่อหรือฮวงจุ๊ย
ในอดีตอาชีพทำเซรามิก จะเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครัวเรือน ผลิตขายกันภายในประเทศ แต่ปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวได้ขยายตัวและเติบโตขึ้นจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะเครื่องเคลือบดินเผาของไทยที่ผลิตจาก บริษัท เปรมประชาคอลเลคชั่น จำกัด ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ก้าวไปไกลในตลาดโลก
เกษม สมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายการผลิต บริษัท เปรมประชาคอลเลคชั่น จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทฯ ผลิตเครื่องเคลือบเดินเผาประเภทของประดับบ้านมานานกว่า 21 ปี โดยผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นด้านออกแบบทันสมัย เน้นความหรูหราด้วยเทคนิคบนพื้นผิวภาชนะและการใช้สีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสร้างงานศิลปะ ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาของบริษัทมีความสวยงามหรูหราล้ำค่าและทันยุคสมัย ตอบสนองความต้องการโดดใจลูกค้าระดับบนทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดยุโรป ประกอบกับเป็นงานฝีมือที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก และความใส่ใจในคุณภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าของบริษัทส่งออกต่างประเทศถึงร้อยละ 95
เกษม เล่าต่อว่า กว่าจะเติบโตและขยายตัวขึ้นได้จนถึงวันนี้ ต้องล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูกอยู่นานกว่า 10 ปี เริ่มจากกิจการเล็กๆ ผลิตออกจำหน่ายในท้องถิ่น แต่เนื่องจากดีไซน์ยังไม่โดดเด่น รูปแบบไม่เป็นสากล ไร้ข้อแตกต่างจากรายอื่นๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าเท่าที่ควร
“ บริษัทพยายามปรับปรุงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์มากขึ้น เริ่มจากผลิตตามแบบที่ลูกค้าให้มาก่อนพอสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น บริษัทก็เริ่มมีรูปแบบการดีไซน์เป็นของตัวเอง และเพิ่มความหลากหลายขึ้น พร้อมกับได้เรียนรู้ถึงความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน และในแต่ละปีจะมีการปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนกัน ซึ่งบริษัทได้นำมาประยุกต์รูปแบบการดีไซน์ให้มีความทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดในแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น ” เกษม เผย
สำหรับรูปแบบของดีไซน์ที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประเทศ เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศแถบยุโรป เน้นความเป็นธรรมชาติและโทนสีที่แสดงถึงความอบอุ่น มักนิยมใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งแบบตั้งโชว์มากกว่า ขณะที่ตลาดในกลุ่มเอเชียบางประเทศจะเน้นด้านประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้เทรนด์ของตลาดจะเน้นเรื่องของสภาวะโลกร้อน การดีไซน์เครื่องเคลือบดินเผาของบริษัทจึงเน้นนำเอาความเป็นธรรมชาติใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ เช่น การนำใบไม้มาใช้ตกแต่ง และเน้นโทนสีธรรมชาติอย่างสีน้ำตาล และสีเขียว เพิ่มสีสันให้สวยงาม ทำให้มีบริษัทมีออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก
ทว่า ข้อจำกัดเทคโนโลยีที่ใช้ไม่ทันสมัย และบุคลากรยังขาดทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้งานเตาเผาเซรามิก ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นจากกระบวนการผลิตทั้งวัตถุดิบ และระยะเวลา เนื่องจากการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานกว่า 1 เดือน และกระบวนการในการเผาเซรามิกถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งมอบ ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการเผาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการจะเกิดผลเสียหายทั้งในเรื่องของ สี และรอยตำหนิในชิ้นงาน ทำให้เกิดปัญหาการส่งมอบไม่ตรงตามกำหนด ส่งผลกระทบต่อรายได้และความน่าเชื่อถือของบริษัท
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว บริษัทจึงได้ขอรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ในโครงการพัฒนาเตาเผาเซรามิกและปรับปรุงวิธีการเผาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดย iTAP จัดส่งนายสุขสันต์ ชัยชนะ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาลำปาง เข้ามาทำการปรับปรุงเตาเผาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม ปรับปรุงวิธีการควบคุมการเผาผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยลดตำหนิและการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างมาตรฐานการควบคุมการเผาผลิตภัณฑ์ให้คงที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ
ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ เกษม กล่าวว่า หลังการพัฒนาพบว่าเตาเผาเซรามิกของบริษัท มีประสิทธิภาพในการเผาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ทางผู้เชี่ยวชาญยังได้เพิ่มทักษะความรู้เรื่องการใช้พลังงานที่ถูกหลักวิชาการให้กับบุคลากรของบริษัท ทำให้บริษัทมีวิธีควบคุมการเผาง่ายขึ้น มีมาตรฐานการควบคุมการเผาเซรามิกให้คงที่และสามารถแก้ไขปัญหาหน้างานได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดตำหนิและการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนการเผาดิบ จากเดิมร้อยละ 7 เหลือไม่เกินร้อยละ 2 และลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนการเผาเคลือบจากเดิมร้อยละ 40 ลงมาเหลือไม่เกินร้อยละ 10
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิต 50,000 ชิ้นต่อเดือน มีบุคลากรมากกว่า 500 คน และมีการพัฒนาเตาเผาเซรามิกขึ้นมารองรับถึง 10 เตา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการปีละกว่า 120 ล้าน บาท แต่เนื่องจากในปี 2550 ที่ผ่านมาผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดขายตกลงมาอยู่ที่ 80 ล้านบาท
สำหรับในปี 2551 นี้ บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายให้กลับมายืนอยู่ที่ 100 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าหลังจากบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยขยายตลาดจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปมายังแถบตะวันออกกลางและเอเชียเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นจากเดิมที่เน้นเฉพาะกลุ่มระดับไฮเอนท์เท่านั้น ทำให้ตั้งแต่ตั้งปีที่ผ่านมาเริ่มมีออร์เดอร์ทยอยเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
เกษม ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตของบริษัทไม่ได้นำมาคิดเป็นต้นทุนและบวกเพิ่มเข้าไปในราคาสินค้าแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากของเสียลงได้มากกว่าและยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวอีกด้วย
****************
โทรศัพท์ 0-5333-8857
*** ********** **
ข้อมูลจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)