xs
xsm
sm
md
lg

"โลกร้อนสร้างวิกฤติ" วัยเรียนชวนคิดแก้ไขด้วยวิทย์และเทคโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. มอบรางวัลให้เหล่านักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเขียนเรียงความในหัวข้อ โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้
วิกฤติโลกร้อน สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการค้นคว้าข้อมูล และนำมาเขียนเรียงความร่วมส่งประกวด หวังให้ทุกคนที่ได้อ่านเกิดความตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน และเร่งหาทางแก้ไขเสียแต่วันนี้ โดยที่ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดเรียงความในหัวข้อ "โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโนช่วยได้" เมื่อวันที่ 9 ก.ย.51 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ค้นคว้าหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 12 ผลงาน แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

- รางวัลชนะเลิศ ด.ญ.ศุภานิช ชุติจิรัฐิติกาล ชั้น ม.2 โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี

- รองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ช.ศิวกร ปั้นกระจ่าง ชั้น ม.1 โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพฯ

- รองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ช.จันทร์ทรา แก้วสุขแท้ ชั้น ม.3 โรงเรียน วัดอุดมรังสี กรุงเทพฯ

- รางวัลชมเชย ด.ญ.ชยนา ชุมะศารทูล ชั้น ม.3 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนด์ กรุงเทพฯ

- รางวัลชมเชย ด.ช.วัชรภัทร ด่านคงรักษ์ ชั้น ม.2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช

- รางวัลชมเชย ด.ญ.บงกชกร มนตรีวิวัฒน์ ชั้น ม.3 โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

- รางวัลชนะเลิศ น.ส.ช่อทิพย์ รักธรรม ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช

- รองชนะเลิศอันดับ 1 น.ส.พิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ ชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

- รองชนะเลิศอันดับ 2 นายฐาปกรณ์ เกษะประกร ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

- รางวัลชมเชย น.ส.ธัญลักษณ์ ยะสะกะ ชั้น ม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม

- รางวัลชมเชย น.ส.ธรรมิตาว์ เกษมสำราญกุล ชั้น ม.5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี จ.นนทบุรี

- รางวัลชมเชย น.ส.ปริยา สิทธิคง ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท, 8,000 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับ ส่วนรางวัลชมเชย ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 3,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ โดยมี ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. เป็นผู้มอบรางวัล และผลงานของเยาวชนที่ได้รางวัลนี้ จะนำไปจัดแสดงในการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 7 "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน" ในวันที่ 17 ก.ย.51 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

หลังเสร็จสิ้นการรับรางวัล ด.ญ.ศุภานิช หรือน้องฟ้า ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ในปัจจุบันหน่วยงานและสื่อต่างๆ ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน แม้แต่การ์ตูนก็ยังมีเรื่องนี้สอดแทรกอยู่ ส่วนที่โรงเรียนก็กำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน ทำให้เราได้รู้ว่าภาวะโลกร้อนนั้นก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จึงตัดสินใจเขียนเรียงความส่งเข้าร่วมประกวด เพราะอยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนด้วย

"ทุกคนควรใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนให้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ส่งผลทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเห็นได้จากภัยธรรมชาติในหลายประเทศ และการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น จนทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาในบางพื้นที่แล้ว แม้จะยังแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละจุด"

"เริ่มจากวิธีง่ายๆ เช่น ใช้กระดาษให้น้อยลง และใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่จะได้ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าลงด้วย หรือกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพื่อลดการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งปศุสัตว์เป็นแหล่งหนึ่งที่ปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศ และมีส่วนทำให้เกิดภาวโลกร้อน" ฟ้าแนะวิธีลดโลกร้อนที่ทำได้ไม่ยาก

ฟ้าบอกอีกว่าที่สำคัญต้องช่วยกันลดใช้พลังงานจากฟอสซิล แล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้นำพลังงานเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

ส่วน ด.ช.จันทร์ทรา หรือน้องแจ๊ค ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น บอกว่า ภัยธรรมชาติรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน เช่น พายุไซโคลน น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่ม เป็นต้น และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้นอีกในอนาคต โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีการแก้ปัญหาจริงจังเท่าที่ควร

แจ๊คบอกว่า เขาใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลและเขียนเรียงความเรื่องนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และหวังว่าผลงานของเขาจะช่วยทำให้ใครก็ตามที่ได้อ่าน ได้เกิดความตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้นทุกที และอยากให้ช่วยกันหาทางแก้ไขหรือลดผลกระทบให้น้อยลง พร้อมยกตัวอย่างที่ทำได้ง่ายๆ เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ใช้รถโดยสารสาธารณะ หรือเดินไปโรงเรียนหรือทำงานถ้าหากว่าอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก

ด้าน น.ส.พิณนรี หรือพิณพิณ, น.ส.ปริยา หรือแป้ง และนายฐาปกรณ์ หรือเตอร์ 3 เยาวชน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ได้รับรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จับกลุ่มกันเล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟัง โดยเตอร์ ซึ่งเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เรียนสายศิลป์ภาษา บอกว่า การเขียนเรียงความในหัวเรื่องนี้ไม่ยากเลยแม้ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรง เพียงแค่ศึกษาข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งก็หาได้ง่ายจากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และนำมาเรียบเรียงโดยใช้ภาษาของเราเองประกอบกับความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เรามีอยู่

"หวังว่าผลงานการประกวดเรียงความนี้จะมีส่วนช่วยให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่าปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไรบ้าง และหวังให้พวกเขาได้ตื่นตัวพร้อมกับรีบหาแนวทางแก้ไขให้เร็วที่สุด เพราะปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่แก้ไขยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังสามารถแก้ไขได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เพราะมนุษย์เป็นผู้ก่อปัญหา มนุษย์ก็ต้องเป็นผู้แก้ไขเอง" พิณพิณ พูดเสริม

"ดูประหนึ่งว่าความสนใจในการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่เห็นอยู่ในตอนนี้จะมีอยู่มากมายในสังคม แต่ก็เป็นแค่นโยบายที่จัดตั้งขึ้นมาตามกระแส ส่วนคนที่ทุ่มเททำจริงนั้นยังมีอยู่น้อยมาก" แป้งแสดงความเห็นบ้าง และแนะนำว่าถึงเวลาที่พวกเราควรรีบแก้ปัญหานี้กันแล้ว ในระยะสั้นอาจทำได้โดยกำหนดกฏเกณฑ์ หลักการปฏิบัติที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้

เตอร์พูดเสริมว่า ต้องปลูกจิตสำนึกของคนในสังคม และเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ตัวเรา ซึ่งทำได้หลายวิธีและไม่ยากเกินความสามารถ จากนั้นค่อยขยายสู่ระดับครอบครัว จนไปถึงระดับสังคม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

"ทำให้ทุกคนเห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่คิดแค่น้ำแข็งขั้วโลกละลายเท่านั้น แต่มันมีผลกับธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา และยังส่งผลมาถึงราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง กับชีวิตประจำวันของทุกคน ก็จะทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักและใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น"

"ส่วนวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวก็คือการส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์พร้อมกับพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" แป้งเสนอแนวทาง และตัวเธอเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อหวังนำความรู้ในศาสตร์สาขานี้มามีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหา.
ด.ญ.ศุภานิช ชุติจิรัฐิติกาล


อ่านเรียงความทีได้รับรางวัล
เรียงความ "โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโน ช่วยได้" ระดับ ม.ปลาย ที่ได้รับรางวัล

เรียงความ "โลกร้อนสร้างวิกฤติ วิทย์ & เทคโน ช่วยได้" ระดับ ม.ต้น ที่ได้รับรางวัล
ด.ช.จันทร์ทรา แก้วสุขแท้
น.ส.พิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์, น.ส.ปริยา สิทธิคง และ นายฐาปกรณ์ เกษะประกร
กำลังโหลดความคิดเห็น