WWF ไทยเสนออีก 20 พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแรมซาร์ไซต์ ระบุต้องใช้เวลาศึกษา 1 ปีและต้องรอกระบวนการภาครัฐอนุมัติ คาด "บึงบอระเพ็ด" ได้ขึ้นลิสต์ก่อน เผยพื้นที่ชุ่มน้ำประจำนครสวรรค์นี้เข้าเกณฑ์มานานแล้ว โดยมีทั้งนกและปลานับพันชนิด แจงชาวบ้านยังเข้าใจผิดหากขึ้นลิสต์แล้วจะทำกินไม่ได้
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทยจัดการประชุมโครงการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ 20 แห่งของไทยให้เป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.51 ณ โรงแรมมารวยการ์เดน ซึ่งนายคอลิน แมคไคส์ตัน (Colin Mcquistan) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ WWF ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำจืดว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหาเรื่องน้ำ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่มีปริมาณน้ำน้อยลง และเรากำลังมีปัญหากับความหลากหลายทางชีวภาพ โดย 50% ของความหลากหลายอยู่ในแหล่งน้ำจืด
"1.1 พันล้านคนกำลังมีปัญหาเรื่องน้ำโดยส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา และ 3-10 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะขาดน้ำ และ 40 ปีที่ผ่านมาเราใช้น้ำจืดมากขึ้นทุกวัน โดยเราใช้น้ำจืดถึง 54% ของทั้งหมดทั่วโลก ทั้งจากบ่อเก็บน้ำและอ่างเก็บน้ำ ภายในปริมาณดังกล่าว 70% ใช้เพื่อการเกษตร อีก 20% ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และที่เหลือ 10% ใช้ดื่ม บริโภค และกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้าน" นายแมคไคส์ตันกล่าว
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญ WWF ประเทศไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำใหม่อีก 20 แห่งเพื่อเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ ได้แก่ 1.แม่น้ำโขง จากเชียงแสนถึงเวียงแก่นและหนองหล่ม จ.เชียงราย 2.ลุ่มแม่น้ำปาย จ.แม่ฮ่องสอน 3.ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน และจ.ตาก 4.ลุ่มแม่น้ำนานตอนบน จ.น่าน 5.ลุ่มน้ำคลองชมพู จ.พิษณุโลก 6.บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 7.แม่น้ำโขงในส่วน จ.เลย 8.ลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.หนองคาย จ.สกลนคร และจ.นครพนม 9.ลุ่มแม่น้ำมูลตอนล่างและแม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี 10.อ่าวไทยตอนใน จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ กทม. จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงครามและ จ.เพชรบุรี
11.หินกรุด เกาะรำร่าถึงบ้านกลางอ่าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ 12.ชายฝั่งชุมพรและพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.ชุมพร 13.อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี 14.เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช 15.ปากพนัง แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช 16.อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี 17.ทะเลสาบสงขลาและชายฝั่ง จ.สงขลา และจ.พัทลุง 18.เกาะระ-เกาะพระทอง จ.พังงา 19.หาดท้ายเหมือง-ท่าฉัตรชัย จ.พังงา และ 20.ป่าชายเลนตราด จ.ตราด
สำหรับปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว 11 แห่ง ได้แก่ ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย อุทยานแห่งชาติแหลมสน -ปากแม่น้ำกระบุรี -ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติพังงา จ.พังงา ควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม -เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง -ปากน้ำตรัง จ.ตรัง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส และมีอีก 1 แห่งที่กำลังจะได้ขึ้นทะเบียนเร็วๆ นี้คือพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จ.หนองคาย
ทางด้านนายยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศและลุ่มน้ำโขง WWF ประเทศไทย ได้กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า น้ำมีความสำคัญเพราะน้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต ทั้งนี้เรามีความต้องใช้น้ำมากขึ้น ทั้งเพื่อดำรงชีวิต ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งกระแสเศรษฐกิจที่มาแรงทำให้มีความต้องการน้ำมากขึ้น โดยประเด็นเกี่ยวกับเรื่องน้ำมี 2 เรื่อง คือ เรื่องปริมาณที่มักมีปัญหาเมื่อหน้าฝนก็ท่วมและเมื่อหน้าแล้งก็ไม่พอใช้ กับเรื่องคุณภาพที่ครั้งแม้จะมีน้ำแต่คุณภาพใช้ไม่ได้
"การเสนอพื้นที่น้ำจืดรวมถึงพื้่นที่น้ำกร่อยและน้ำเค็มให้เป็นแรมซาร์ไซต์นั้น เป็นแนวทางในการอนุรักษ์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต่างจากเขื่อนที่ใช้งบประมาณมหาศาลและทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลาย แต่แรมซาร์ไซต์เป็นมาตรการต้นทุนต่ำ ซึ่งยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้มีการหามาตรการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม" นายยรรยงกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์
เจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย ยังเผยว่า เกณฑ์การจัดพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นแรมซาร์ไซต์นั้นเน้นความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลัก โดยมีสิ่งมีชีวิตในการพิจารณาที่สำคัญคือพืช นก และปลา และพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นเป็นศูนย์รวมประเพณี การดำรงชีวิต มีคุณค่าการวิจัยในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 22 ล้านไร่ คิดเป็น 7.5% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ทั้งนี้แบ่งเป็นพื้นที่น้ำจืด 45% และพื้นที่น้ำเค็ม 55%
"สถานการณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำของไทยตอนนี้วิกฤตเนื่องจากถุกบุกรุก ทั้งจากนโยบายการเกษตร การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม" นายยรรยงกล่าว พร้อมระบุว่าการขึ้นทะเบียนแรมไซต์นั้นดำเนินการโดย WWF ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ และมีความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้ประสานงานกลางของไทยในอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์
ทางด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส WWF ประเทศไทย กล่าวว่า ในการศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำทั้ง 20 แห่งนั้นต้องใช้เวลาศึกษา 1 ปีโดยจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.52 และต้องผ่านกระบวนการทางภาครัฐอีกราว 1-2 ปี จึงได้ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ รวมใช้ระยะเวลาทั้งหมดราว 3 ปี โดยคาดว่า "บึงบอระเพ็ด" จ.นครสวรรค์ และ "เกาะกระ" จ.นครศรีธรรมราช น่าจะได้เป็นแรมซาร์ไซต์ก่อน
"สำหรับบึงบอระเพ็ดนั้นเข้าเกณฑ์แรมซาร์ไซต์มานานแล้ว โดยมีทั้งนกและปลานับพันธุ์ชนิด อีกทั้งคนในพื้นที่ก็สนับสนุน" ดร.ชวลิตกล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษระหว่างการประชุม พร้อมทั้งระบุปัญหาว่าคนในพื้นที่มักเข้าใจว่าเมื่อขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์แล้วจะไม่สามารถถือครองพื้นที่ซึ่งประกาศขึ้นทะเบียนได้ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ไม่มีการบังคับทางกฎหมายเหมือนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ประเภทอื่นๆ อาทิ เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
ส่วนขั้นตอนการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแรมซาร์ไซต์นั้น จังหวัดหรือหน่วยงานท้องถิ่นเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำของตนให้เป็นแรมซาร์ไซต์ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทาง สผ.ก็จัดทำพื้นที่ชุ่มน้ำตามแบบฟอรืมของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ จากนั้นส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้อง และรอขั้นตอนการให้ความเห็นชอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามลำดับ จนสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำพิจารณาขึ้นบัญชีและประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์.