กองทุน ศ.ดร.สิปปนนท์ มอบรางวัลเด็กที่ทำคะแนนสอบ O-NET วิชาวิทย์-คณิต สูงสุด โดยนักเรียนจากสมุทรสงครามประเดิมเป็นปีแรก เผยวิทย์พื้นฐานไม่ยาก หากตั้งใจจริงเด็กศิลป์ก็ทำได้ เตรียมเข้ารับประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจาก ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน 26 ก.ค.นี้ ที่วังสวนผักกาด พร้อมด้วยอันดับที่ 2 อีก 7 รางวัล
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.51 กองทุน ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวการมอบรางวัลสิปปนนท์ แก่นักเรียนที่ทำคะแนนได้สูงสุด ในการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอ-เน็ต (O-NET) ปีการศึกษา 2550 ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 8 คน
รางวัลผู้ทำคะแนนโอ-เน็ต วิชาวิทยาศาสตร์สูงสุด อันดับแรก จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ นายสุริยะกุล วงษ์ซื่อ จากโรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม
ส่วนรางวัลผู้ทำคะแนนโอ-เน็ต วิชาวิทยาศาสตร์สูงสุด อันดับที่ 2 จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ นายกิตติพันธ์ พงศ์มรกต, น.ส.สิรภัทร แต่สุวรรณ, น.ส.ศศิผกา สินธุเสน, นายกิตติพงศ์ วันถาวรประเสริฐ, น.ส.กุสุมา ตั้งอมตะกุล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, น.ส.แก้วกฤตยา ตรึกธรรม โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และนายพงศธร สถิรพัฒนกุล โรงเรียนพัทลุง จ.พัทลุง
นายสุริยะกุล หรือโอ๊ต กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า ดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ทราบถึงที่มาของรางวัลและกองทุน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า อยากจะเรียนให้จบและมาทำงานทางด้านการศึกษา หรือพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศชาติ
แม้ว่าสาขาที่เลือกเรียนจะไม่ใช่ทางด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันโอ๊ตกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เหตุที่เลือกเข้าเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ โอ๊ตบอกแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เดิมทีมีความตั้งใจที่จะเรียนแพทย์ แต่พี่สาวที่ทำงานเป็นพยาบาลอยู่ ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อเรียนจบและถึงเวลาทำงานจริงๆ แล้ว แพทย์จะทำงานหนักมาก หากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ ซึ่งตัวโอ๊ตเองก็สุขภาพไม่ค่อยดี และมีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัว สุดท้ายจึงเลือกเรียนทันตแพทย์แทน
ครั้นผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถามถึงเคล็ดลับ ที่ทำให้โอ๊ตทำคะแนนสอบโอ-เน็ต วิชาวิทยาศาสตร์ได้สูงที่สุด โอ๊ตบอกว่าไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ตั้งใจเรียนและอ่านหนังสือให้เต็มที่ ที่สำคัญต้องรู้จักแบ่งเวลาทำสิ่งต่างๆ ให้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งบางคนอาจละเลย หรือไม่ค่อยอ่านหนังสือเพราะเห็นว่าวิชานี้ง่าย
"วิชาวิทยาศาสตร์ในการสอบโอ-เน็ต เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ต้องเรียนเหมือนกันทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กว้างๆ และเข้าใจได้ไม่ยาก ดังนั้นหากมีความตั้งใจ นักเรียนสายศิลป์ก็มีสิทธิ์ที่จะทำคะแนนสูงสุดได้เหมือนกัน" โอ๊ตเล่า
สำหรับรางวัลสิปปนนท์ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ กองทุน ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต, สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.), สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์, มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) และไบโอเทค สวทช.
ทางด้าน นางเอมิลี เกตุทัต ภรรยาของ ศ.ดร.สิปปนนท์ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯ ว่าเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศ.ดร.สิปปนนท์ ผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา สังคม และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค.49 และเพื่อดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยตามปณิธานของ ศ.ดร.สิปปนนท์
การมอบรางวัลสิปปนนท์แก่นักเรียนที่สอบโอ-เน็ตได้คะแนนสูงสุดของประเทศในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมของกองทุนที่เพิ่งดำเนินการปีนี้เป็นปีแรก โดยมอบประกาศนียบัตรพร้อมกับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท สำหรับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 และประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท แก่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับที่ 2 ซึ่งพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 26 ก.ค. 2551 ณ วังสวนผักกาด โดยมี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานผู้มอบรางวัล
อย่างไรก็ดี การมอบรางวัลในปีแรกยังไม่ได้มีการมอบรางวัลในรายวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งนางสาวธาริสา เกตุทัต บุตรสาวของ ศ.ดร.สิปปนนท์ เปิดเผยว่าเนื่องจากปีนี้มีผู้ทำคะแนนสูงสุดในการสอบโอ-เน็ตวิชาคณิตศาสตร์เกินกว่า 20 คน ซึ่งทางกองทุนฯ ไม่สามารถมอบรางวัลให้ได้อย่างทั่วถึงกัน.