สทศ.รายงานผลการจัดทดสอบโอเน็ต กศน.พบผลคะแนนต่ำจนน่าตกใจ ดันสถานศึกษาเข้มงวดเรื่องคุณภาพการสอน พร้อมเชื่อจะไต่คะแนนได้ในปีหน้า
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ประจำปีการศึกษา 2550 ระดับ ม.ปลาย ซึ่งมีนักศึกษาของ กศน.เข้าร่วมสอบด้วย
และขณะนี้ทาง สทศ.ได้จัดส่งรายงานผลการทดสอบมายังสำนักงาน กศน.แล้ว พบว่า วิชาภาษาไทย มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบจำนวน 1,771 คน ได้คะแนนต่ำสุด 10.00 สูงสุด 88.75 เฉลี่ย 42.16 ขณะที่คะแนนระดับประเทศอยู่ที่ 50.70 วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 2,102 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 สูงสุด 72.50 เฉลี่ย 33.11 คะแนนระดับประเทศ 37.76 วิชาภาษาอังกฤษ มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 1,968 คน คะแนนต่ำสุด 11.00 สูงสุด 94.00 เฉลี่ย 27.55 คะแนนระดับประเทศ 30.93
วิชาคณิตศาสตร์ มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 2,012 คน คะแนนต่ำสุด 4.00 สูงสุด 77.00 เฉลี่ย 27.71 คะแนนระดับประเทศ 32.49 วิชาวิทยาศาสตร์ มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 1,761 คน คะแนนต่ำสุด 10.00 สูงสุด 83.75 เฉลี่ย 28.83 คะแนนระดับประเทศ 34.62 วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 1,737 คน คะแนนต่ำสุด 18.00 สูงสุด 74.00 เฉลี่ย 50.40 คะแนนระดับประเทศ 52.71 วิชาศิลปะ มีนักศึกษา กศน.เข้าสอบ 1,737 คน คะแนนต่ำสุด 16.00 สูงสุด 70.00 เฉลี่ย 38.31 คะแนนระดับประเทศ 41.61 และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี มีนักศึกษากศน.เข้าสอบ 1,737 คน คะแนนต่ำสุด 16.00 สูงสุด 74.00 เฉลี่ย 47.31 คะแนนระดับประเทศ 49.50
ดร.ชัยยศ กล่าวต่อไปว่า จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าผลคะแนนอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยน่าพอใจ เพราะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศพอสมควร โดยเฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่ง นายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน.ได้สั่งให้แจ้งผลคะแนนดังกล่าวไปยังสำนักงาน กศน.จังหวัดรับทราบด้วย เพื่อให้หาทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทางจังหวัดได้เห็นตัวเลขแล้วน่าจะเกิดการตื่นตัวมากขึ้น
“ผลคะแนนที่ออกมาถึงแม้จะต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยในระดับประเทศ และไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ แต่หากพิจารณาให้ดีก็ยังไม่ถือว่าต่ำมากนัก ซึ่งหากสถานศึกษาออกแรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเข้มงวดเรื่องการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น เชื่อว่าน่าจะสามารถไล่กวดได้” ดร.ชัยยศ กล่าวและว่า การทำงานของ กศน.จะไม่ใช้ระบบสั่งการแต่จะส่งข้อมูลให้จังหวัดและครูได้เห็นตัวเลขจริงๆ จะได้ช่วยกันคิด และพัฒนาคุณภาพได้