xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มก.พบหิ่งห้อยชนิดใหม่ กะพริบไฟสื่อภาษารักได้ 4 ท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หิ่งห้อย ลูซิโอลา อะควอติลิส หิ่งห้อยน้ำจืดไทยสายพันธุ์ใหม่ สื่อภาษารักได้ถึง 4 แบบ (ภาพจาก สกว.)
นักวิจัย ม.เกษตรพบหิ่งห้อยน้ำจืดสายพันธุ์ใหม่ สื่อภาษารักได้ถึง 4 แบบ ไม่เหมือนชนิดใดๆ ในโลก ทั้งกะพริบไฟแต่งตัว หาคู่ เกี้ยวพาราสี และผสมพันธุ์ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมโชว์ในสัปดาห์วิทย์ปีนี้

เพื่อฉลองการค้นพบ และเพาะพันธุ์หิ่งห้อยน้ำจืดพันธุ์ใหม่ของโลกได้สำเร็จในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ "ถอดรหัสงานวิจัยหิ่งห้อย: ปริศนาการกะพริบแสงสู่ความสำเร็จของการเพาะเลี้ยง" ขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.51 ณ ห้องโถงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรุงเทพฯ

ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยหิ่งห้อยในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยว่า ได้ค้นพบหิ่งห้อยน้ำจืด สายพันธุ์ใหม่ของโลก ตามแหล่งน้ำนิ่งตามธรรมชาติ คูน้ำ และท้องร่องของพื้นที่เกษตรกรรม ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ ชานเมืองกรุงเทพฯ อย่างเขตบางแค หรือ ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม รวมถึงแหล่งน้ำใน จ.ราชุบรี จ.นครปฐม และ จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

นักวิจัยการศึกษาด้านชีววิทยาและพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยน้ำจืด เผยว่า เมื่อกว่า 10 ปีก่อนต่างเชื่อกันว่าหิ่งห้อยดังกล่าว เป็นหิ่งห้อยน้ำจืดสายพันธุ์ "ลูซิโอลา บราห์มินา" (Lucilola brahmina) ที่มีการค้นพบมาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการศึกษาจนเสร็จสิ้นเมื่อกว่า 2 ปีก่อนพบว่า หิ่งห้อยที่ว่าไม่สามารถจัดอยู่ในสายพันธุ์ดังกล่าวได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อใหม่คือ "ลูซิโอลา อะควอติลิส" (Luciola Aquatilis)

"ลูซิโอลา อะควอติลิส" มีจุดเด่นคือ ที่โคนปีกมีสีน้ำตาลเข้มเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า ตัวอ่อนทำหน้าที่เป็นผู้ล่าหอยน้ำจืด ที่เป็นพาหะนำโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ อีกทั้งยังถือเป็นศัตรูพืชหลายชนิด โดยตัวอ่อนมีรูปร่างแตกต่างกันถึงสามแบบซึ่งไม่พบในสายพันธุ์ใดมาก่อน

ที่สำคัญ หิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่นี้ ยังสื่อสารภาษารักได้แตกต่างกันถึง 4 แบบ แบ่งเป็นช่วงแต่งตัว ช่วงหาคู่ ช่วงเกี้ยวพาราสี และช่วงผสมพันธุ์ จึงถือเป็นจุดแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่พบในหิ่งห้อยสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะกะพริบแสงได้เพียงแบบเดียว โดยหิ่งห้อยชนิดนี้จะมีวงจรชีวิตระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัยระหว่าง 3-5 เดือน

ดร.อัญชนา เผยด้วยว่า การศึกษายังพบความน่าสนใจของลูซิโอลา อะควอติลิส ในฐานะดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และคุณภาพของแหล่งน้ำนิ่งตามธรรมชาติด้วย เนื่องจากหิ่งห้อยที่ ดร.อัญชนาศึกษาอยู่ จะสามารถปรับตัวอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเสียได้ระดับหนึ่ง แต่หากระดับความเน่าเสียเพิ่มขึ้น ตัวอ่อนหิ่งห้อยจะคลานขึ้นบกเพื่อหาแหล่งน้ำใหม่ เป็นคำตอบที่ว่าเพราะเหตุใดจึงสามารถค้นพบหิ่งห้อยดังกล่าวได้ทุกภาคของประเทศ

ทั้งนี้ นักวิจัย กล่าวว่า ได้มีการประกาศผลการค้นพบดังกล่าวแล้วในวารสาร "ซูแทกซา" (Zootaxa) ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติ ที่ตีพิมพ์รายงานการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญในการตั้งชื่อสายพันธุ์หิ่งห้อย อีกทั้งได้รับการยอมรับการเป็นสายพันธุ์ใหม่จากผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานหิ่งห้อยระดับโลกจากประเทศออสเตรเลียและไต้หวัน

"หากไม่มีการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ปัจจุบันของหิ่งห้อยแล้วก็เชื่อว่าแนวโน้มที่จะหมดไปมีมาก เช่น การขยายตัวของเขตเมืองไปยังที่ที่ยังรกร้าง และแสงไฟรบกวนจากบ้านเรือน จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในการอนุรักษ์พื้นที่นั้นๆ ไม่รบกวน และรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพที่ดีเพื่อช่วยกันอนุรักษ์หิ่งห้อย" ดร.อัญชนาว่า

นอกจากนี้ ขณะนี้ได้มีการค้นพบเทคนิค อุปกรณ์ และอาหารเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยดังกล่าวแล้ว ที่โรงเพาะเลี้ยงของภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะมีการยื่นจดสิทธิบัตรคุ้มครองในอนาคต จากปัจจุบันมีความเชื่อว่าหิ่งห้อยจะมีสรรพคุณรักษาโรคหอบหืดได้ และล่าสุด ประเทศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียยังได้แสดงความสนใจติดต่อนำเข้าหิ่งห้อยของไทยเพื่อทำสวนหิ่งห้อยสำหรับการศึกษาของเยาวชน

ด้านอาจารย์สมหมาย ชื่นราม คณะกรรมการพิเศษโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร เล่าประสบการณ์ในโครงการว่า ได้มีการเริ่มต้นศึกษาหิ่งห้อยเมื่อปี 40 หรือกว่า 10 ปีก่อน โดยทำการศึกษาหิ่งห้อยทั้ง 3 ชนิดจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย คือ หิ่งห้อยน้ำจืด หิ่งห้อยบก และหิ่งห้อยน้ำกร่อย พบว่าในอดีตประเทศไทยมีหิ่งห้อยค่อนข้างมาก แตกแตกต่างกับปัจจุบันที่หิ่งห้อยเหลือน้อยลงทุกที เชื่อว่าเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยยังขาดการศึกษาอย่างลึกซึ้งอีกบางด้านเช่น ผลกระทบของเสียงรบกวนต่อหิ่งห้อย เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจชมหิ่งห้อยน้ำจืดสายพันธุ์ใหม่ของไทยสามารถติดตามชมได้ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 51 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8-22 ส.ค.51

นอกจากนั้นระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค.51 ประเทศไทยโดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหิ่งห้อยครั้งที่ 2 ของโลก ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในฐานะผู้ริเริ่มโครงการศึกษาหิ่งห้อยของไทยทรงมีพระชนมพรรษาครบ 75 ปีในปีนี้.
(ภาพจาก สกว.)
หิ่งห้อย ลูซิโอลา อะควอติลิส ตัวผู้ (ภาพจาก สกว.)
ดร. อัญชนา ท่านเจริญ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาจารย์สมหมาย ชื่นราม คณะกรรมการพิเศษโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร
แผนภาพระยะพัฒนาตัวของหิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่ ตั้งแต่ระยะไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ จนถึงตัวโตเต็มวัย พร้อมสืบพันธุ์ (ภาพจาก สกว.)
(ภาพจาก สกว.)
(ภาพจาก สกว.)
กำลังโหลดความคิดเห็น