ความรับรู้ของเด็กเมืองยุคดิจิตอลต่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘หิ่งห้อย’ เป็นไปได้มากว่าส่วนใหญ่รับรู้ผ่านเทพนิยาย หรือไม่ก็คงได้ยินผ่านตำนานรักต้นลำพูกับหิ่งห้อย หรือไม่ก็โกโบริกับอังศุมาลิน หรือไม่ก็การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องสุสานหิ่งห้อย จึงทำให้เด็กกรุงจำนวนไม่น้อยเติบโตขึ้นมาโดยไม่เคยเห็นเจ้าสิ่งมหัศจรรย์เล็กๆ ชนิดนี้เลยสักครั้ง
ลองนึกดูว่าเด็กๆ จะรู้สึกมหัศจรรย์แค่ไหนที่เห็นดาวดวงเล็กๆ ลอยไปลอยมาในความมืด...
แต่ก็เหมือนกับธรรมชาติที่กำลังเป็นไปบนโลกใบนี้ หิ่งห้อยเองก็ถูกคุกคาม ไล่ที่ ไม่ผิดอะไรกับชาวบ้านในชุมชนแออัด อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและแสงไฟมลังเมลืองที่ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยหายไป แม้ว่าในอดีตจะมีหิ่งห้อยกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ
1
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศการค้นพบหิ่งห้อยน้ำจืดสายพันธุ์ใหม่ของโลกในประเทศไทย โดยผู้ที่ค้นพบคือ ดร.อัญชนา ท่านเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอเป็นนักวิจัยใน โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เจ้าหิ่งห้อยน้ำจืดตัวที่ว่าได้รับการตั้งชื่อว่า ‘ลูซิโอลา อะควอติลิส’ (Lucilola Aquatilis)
ดร.อัญชนา เล่าว่าความไม่เหมือนใครของลูซิโอลา อะควอติลิสคือ มันสามารถกระพริบแสงในตัวเพื่อสื่อสารกับตัวเมียได้ถึง 4 แบบ แบ่งเป็นช่วงแต่งตัว ช่วงหาคู่ ช่วงเกี้ยวพาราสี และช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งเราจะไม่พบในหิ่งห้อยสายพันธุ์อื่น ไม่ว่าจะในยุโรปหรืออเมริกาที่กระพริบแสงได้แค่แบบเดียว
แต่สิ่งที่กระตุกความสนใจตามมา กลับเป็นข่าวที่ห้อยท้ายว่าจะมีการจัดประชุมหิ่งห้อยโลกขึ้นในประเทศไทย ในวันที่ 26-30 สิงหาคมนี้
เกิดคำถามตามมาทันทีว่า สิ่งมีชีวิตนามหิ่งห้อยมีความสำคัญขนาดนี้เลยหรือ และครั้งนี้ก็เป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่โปรตุเกส ดร.อัญชนาบอกว่า
“การประชุมครั้งที่แล้วเป็นการประชุมที่ได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจัยหิ่งห้อยค่อนข้างดี อย่างเราได้เห็นรายงานที่นักวิจัยทำขึ้น เรารู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้เลยว่าเขาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่การประชุมครั้งนั้นทำให้เรารู้จักกัน และถ้าเราสนใจงานวิจัยชิ้นนั้น เราก็จะสามารถคุยกับเขาได้โดยตรงเลย ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่าและเป็นการเปิดโลกทัศน์ เสมือนว่าเป็นเพื่อนทางวิชาการ การประชุมครั้งแรกถือเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิชาการด้านหิ่งห้อยให้รู้จักกัน แต่ก็ยังเป็นกลุ่มแคบๆ เพราะยังเป็นการประชุมแบบบอกต่อกัน แต่ก็ถือว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมค่อนข้างเยอะจากนานาชาติ”
2
นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัยและการศึกษาหิ่งห้อยในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากลแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 76 พรรษา ซึ่งทรงเป็นผู้ดำริโครงการหิ่งห้อยขึ้น
“ครั้งหนึ่งพระองค์เคยเสด็จฯเยือนสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2539 พระองค์ได้มีพระราชเสาวนีย์กับ ดร.สง่า สรรพศรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พระองค์ได้ตรัสให้ทางสวนพฤกษศาสตร์ลองศึกษาความสัมพันธ์ของพันธุ์ไม้ป่ากับหิ่งห้อย ศึกษาวงจรชีวิตและความสมดุลกับธรรมชาติ เพราะเนื่องจากหิ่งห้อยเป็นแมลงที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อความสมบูรณ์ของป่าและสิ่งแวดล้อม”
สมหมาย ชื่นราม คณะกรรมการพิเศษโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร เล่าความเป็นมาของโครงการให้ฟัง พร้อมกับเสริมว่า
“โครงการนี้มีประโยชน์มาก ทำให้เราได้รู้อะไรมากมาย อันเป็นสิ่งอัศจรรย์ของธรรมชาติ การศึกษาทำให้ได้รู้ถึงวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ได้รู้ว่ามันกินอะไร สามารถที่จะเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ได้ เพราะหิ่งห้อยถือเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาตินั้นๆ เพราะหิ่งห้อยในช่วงที่เป็นหนอนตัวอ่อน มันจะอาศัยกินหอยตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ถ้าที่ตรงนั้นดินไม่สมบูรณ์ น้ำไม่มีความสะอาด หอยก็อยู่ไม่ได้ แต่จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาบอกได้เลยว่าในปัจจุบันหิ่งห้อยมีจำนวนลดน้อยลงมาก ปัจจุบันโครงการนี้ก็ยังดำเนินการอยู่”
3
ณ ชั่วขณะที่คุณกำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ มีหิ่งห้อยที่โลกรู้จักแล้วประมาณ 2,000 ชนิด และมีถึงกว่า 100 ชนิดที่มีแหล่งอาศัยในประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีปริมาณชนิดพันธุ์มาก อันเป็นผลจากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของภูมิประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางด้านอนุกรมวิธานในประเทศไทย จึงทำให้เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าหิ่งห้อย 100 กว่าชนิดนั้น แต่ละตัวมีชื่อเสียงเรียงนามอะไร
“ในระดับโลกจะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ไม่กี่คนที่สามารถบอกได้ว่าหิ่งห้อยชนิดนี้เป็นหิ่งห้อยชนิดใหม่ แต่สำหรับในบ้านเรา การจำแนกชนิดหิ่งห้อยยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง บางทีเราเก็บหิ่งห้อยมาตัวหนึ่ง เราอยากรู้ว่ามันชื่ออะไร สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือไปที่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ และนำไปเทียบตัวอย่างว่าเหมือนกันมั้ย บางครั้งต้องเทียบลึกถึงระดับอวัยวะเพศของหิ่งห้อยจึงจะสามารถบอกได้ว่ามันเป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่า แต่การที่ต้องเอาหิ่งห้อยตัวหนึ่งไปเทียบตัวอย่างที่ต่างประเทศมันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง จึงทำให้การศึกษาอนุกรมวิธานของหิ่งห้อยในบ้านเรายังมีขอบเขตจำกัดอยู่” ดร.อัญชนา เล่าถึงความยากลำบากในการศึกษาหิ่งห้อยในประเทศ
อันที่จริง ถึงแม้ว่าหิ่งห้อยจะเป็นสัตว์แสนมหัศจรรย์ (ในสายตาเรา) แต่กลับมีคนที่สนใจศึกษามันอยู่น้อยมาก จากคน 6,000 กว่าล้านคนบนโลก ดร.อัญชนาบอกว่าน่าจะมีคนที่ศึกษาหิ่งห้อยอย่างจริงจังประมาณ 50-60 คน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นคนที่แสดงตัวว่าเป็นผู้สนใจหิ่งห้อยในการประชุมครั้งที่แล้ว แต่จะมีนักวิจัยหิ่งห้อยทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัว
และเนื่องจากยังมีการศึกษาหิ่งห้อยเพียงน้อยนิด เราจึงไม่สามารถรู้อย่างชี้ชัดได้ว่าหิ่งห้อยมีประโยชน์อย่างไรต่อระบบนิเวศ และเราจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาหิ่งห้อยไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ สำหรับในเมืองไทย หิ่งห้อยสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าความเป็นอยู่ของหิ่งห้อยจะดีขึ้นตามมูลค่าทางเศรษฐกิจ
4
เมื่อพูดถึงหิ่งห้อยคงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันหิ่งห้อยลดจำนวนลงมากจนน่าตกใจ ทั้งที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จักเพื่อนร่วมโลกเรืองแสงนี้ดีพอ และการขยายตัวของเมืองก็เป็นไปตามกระแสการพัฒนาที่ไม่อาจทัดทานได้
“ในแง่การอนุรักษ์เราก็ทำได้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ของส่วนราชการเพราะมีการประสานความร่วมมือกัน มีกรมป่าไม้เป็นคณะกรรมการอยู่ เราจึงสามารถขอความร่วมมือ และเขาก็เห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน เราไม่สามารถเข้าไปดูแลตรงนั้นได้ เพราะมันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของเขา ชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้เห็นประโยชน์ตรงนี้ เขาก็ตัดต้นลำพูทิ้ง เปลี่ยนมาปลูกต้นจาก เพราะมันเก็บลูกไปขายได้ ตรงนี้มันก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศความเป็นอยู่ของหิ่งห้อยได้ เพราะต้นลำพูมันจะมีลักษณะของรากที่เหมาะแก่การเกาะของหอยซึ่งเป็นอาหารของตัวอ่อนหิ่งห้อย ถึงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง มันก็ไม่ได้ซัดลงไปเพราะมันเกาะติดอยู่ตามรากของต้นลำพู ถ้าเป็นต้นไม้ชนิดอื่นๆ จะไม่ค่อยมีลักษณะนี้” สมหมายอธิบายการอนุรักษ์หิ่งห้อยในปัจจุบัน
เมื่อเราสอบถามจาก ดร.อัญชนา เธอเล่าให้ฟังว่าการอนุรักษ์หิ่งห้อยเป็นเหมือนกันหมดทั้งโลก พอพูดถึงหิ่งห้อยไม่ว่าจะในอเมริกา ยุโรป หรือกระทั่งเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ก็ต้องหมายถึงการอนุรักษ์ ซึ่งนี่อาจหมายถึงภาวะวิกฤตของหิ่งห้อย
นอกจากที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยจะลดน้อยลงแล้ว แสงสว่างของเมืองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หิ่งห้อยลดน้อยลง ดร.อัญชนา อธิบายว่า
“การที่หิ่งห้อยกะพริบแสงเป็นการสื่อสารกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย เหมือนเป็นภาษารักให้ตัวผู้ ตัวเมียเจอกัน ถ้ามีแสงไฟเยอะ แสงของหิ่งห้อยก็จะเป็นแค่แสงไฟเล็กๆ ท่ามกลางแสงไฟที่สว่างมากๆ ทำให้มันหากันไม่เจอ เพราะมองไม่เห็นแสงไฟเล็กๆ ของกันและกัน เมื่อหากันไม่เจอก็ไม่มีการผสมพันธุ์กัน จึงทำให้มันค่อยๆหายไปจากพื้นที่นั้น”
5
ถ้าพูดถึงหิ่งห้อยโดยไม่กล่าวถึงอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก็คงเหมือนเล่าเรื่องไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การล่องเรือชมหิ่งห้อยกลายเป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้แก่ชุมชนริมน้ำแม่กลองนี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็เหมือนกับทุกครั้ง หากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวไม่เป็นไปอย่างสมดุล ขณะที่คนเราได้ประโยชน์ก็อาจทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นเสียประโยชน์
“ปัญหานี้มีมาสองปีครึ่งแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2548 การท่องเที่ยวใหม่มันรุกล้ำให้สิ่งแวดล้อมตรงนี้เสื่อมลง ปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังใช้เรือยนต์วิ่งกันอยู่ มันสร้างมลพิษต่อบริเวณนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบทั้งระบบ ทั้งในส่วนของวิถีชีวิตชุมชนและระบบธรรมชาติ ต้นไม้ชายฝั่งก็กำลังได้รับผลกระทบมาก หิ่งห้อยก็กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเพราะแต่ก่อนแถวบ้านผมระยะทางยาวเป็นสิบกิโลเมตรก็ยังมีหิ่งห้อยเต็มไปหมดเลย แต่ปัจจุบันมันเหลือแค่กลุ่มคนบ้านลมทวน 4 กลุ่มเท่านั้นที่ยังช่วยกันอนุรักษ์อยู่ ส่วนที่เหลือก็แทบจะไม่เหลือแล้ว หรือไม่ก็เหลือน้อยเต็มที”
ปรีชา เจี๊ยบหยู ประธานศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม บอกเล่าภาวะคุกคามจากการท่องเที่ยว
แม้ว่าปรีชาและกลุ่มชาวบ้านบางส่วนจะพยายามช่วยกันดูแลระบบนิเวศ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นการยากที่จะคัดง้างกระแสการท่องเที่ยว ในสายตาของเขา จากเดิมที่หิ่งห้อยมีอยู่ 100 เขาเชื่อว่าตอนนี้มีอยู่แค่ 30 อันเป็นผลจากการถางต้นลำพูซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย การเปลี่ยนมือของที่ดินที่มีนายทุนจากกรุงเทพฯเข้ามาซื้อ และถมที่เปลี่ยนเป็นรีสอร์ตหรือที่พักอาศัย ทำให้ดักแด้ของหิ่งห้อยที่อยู่บริเวณหน้าดินถูกฝังไปด้วย และแน่นอนที่สุด การท่องเที่ยวก็มีส่วนโดยเฉพาะเสียงดังที่เกิดจากเรือยนต์
“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ต่างชาติจะมีน้อย คนไทยนี่แหละ คนต่างชาติจริงๆ เขาจะใช้มือพายกัน พวกฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี มีนักท่องเที่ยวชุดหนึ่งที่ผมประทับใจเขามาก คือไกด์พาเขาไปนั่งเรือยนต์ เขาไม่เอานะ เขาขึ้นเลย ถ้าจะพาเขาดูแต่ต้องมาทำลายเขาจะไม่เอา เขาบอกว่าจะนั่งเรือพาย เขายังเข้าใจมากกว่าคนบ้านเรา ทั้งๆ ที่จริงเขาก็อาจไม่ได้มารู้ปัญหา แต่เขารู้ว่ามันไม่ถูกต้อง แต่คนไทยกลับมองแค่เรื่องความสะดวกสบายของตัวเองเท่านั้น”
ปรีชาบ่นกับเราตรงๆ ว่าเหนื่อยกับความพยายามรักษาระบบนิเวศ การประชุมของหน่วยงานราชการเกี่ยวกับการอนุรักษ์หิ่งห้อยที่ผ่านๆ มา สุดท้ายแล้วก็แน่นิ่งอยู่ในกระดาษ ไม่มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม แต่เขาก็ยืนยันว่าก็ต้องทำกันต่อไปเท่าที่จะทำได้ เพื่อดูแลระบบนิเวศของอัมพวาให้อยู่ต่อไป
***************************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม
รู้จักหิ่งห้อย
หิ่งห้อยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กอาศัยอยู่ตามใบไม้ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ไว้ตามดิน หรือที่ชื้นแฉะ มนุษย์รู้จักหิ่งห้อยมา 2,000 ปี มาแล้ว ในอดีตชาวจีนโบราณ และชาวบราซิลจะจับหิ่งห้อยใส่ขวดแก้ว เพื่อใช้แทนตะเกียง เราสามารถพบหิ่งห้อยได้ที่ประเทศไทย พม่า มาเลเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้
หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อสื่อสารกับเพศตรงข้าม เพื่อบอกความพร้อมในการสืบพันธุ์ โดยที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายกะพริบก่อน หากตัวเมียเห็นลีลาการกะพริบแสงแล้วเกิดพอใจ ตัวเมียก็จะกะพริบแสงตอบ เพื่อให้ตัวผู้รู้ว่าอยู่ที่ไหนจะได้บินไปหาถูก หิ่งห้อยแต่ละชนิดจะมีลีลาในการกะพริบแสงที่แตกต่างกันไป เช่น การกะพริบแสงช้าเร็วต่างกัน และลีลาการเปล่งแสงของหิ่งห้อยอาจเป็นไปตามสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่
หิ่งห้อยชอบออกหากินในเวลากลางคืน โดยบริเวณที่มีน้ำที่สะอาด บริเวณป่าโกงกาง ป่าชายฝั่งทะเล และต้นลำพู การที่หิ่งห้อยชอบอาศัยตามแหล่งน้ำที่สะอาด ในช่วงวัยที่เป็นหนอนหิ่งห้อย ทำให้มันเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น มันยังสามารถบอกถึงฤดูกาลได้อีกด้วย เพราะตามปกติเวลาเห็นหิ่งห้อย ชาวบ้านมักรู้ว่านั่นคือสัญญาณการมาเยือนของหน้าร้อน
หิ่งห้อยจะกะพริบแสงทุก 24 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดูหิ่งห้อยคือ ยามโพล้เพล้หลังพระอาทิตย์ตกเล็กน้อย และถ้าเป็นคืนข้างแรม แสงหิ่งห้อยจะสุกใสที่สุด สถานที่ชมหิ่งห้อยที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือที่ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org
www.bansuanrak.com
บางคำถามที่เราอยากรู้
*หิ่งห้อยมีแสงออกมาจากตัวได้ยังไง
ดร.อัญชนา-แสงเกิดจากปฏิกิริยาเคมีโดยมีสารตั้งต้นลูซิเฟอลีนและเอนไซม์ลูซิเฟอเลส การจะทำปฏิกิริยากันจะต้องมีออกซิเจนและพลังงานด้วย และต้องมีระบบประสาทควบคุม หรือจะกะพริบเป็นจังหวะอย่างไร ก็จะมีการควบคุมโดยระบบประสาท สิ่งที่ต้องการในการกะพริบแสงก็มีประมาณนี้
ที่น่าทึ่งก็คือหิ่งห้อยสามารถปล่อยพลังงานแสงได้มากถึง 92-100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สูญเสียพลังงานไปในรูปของความร้อนน้อยมาก เปรียบเทียบกับแสงอื่นๆ อย่างตะเกียงก๊าซจะเสียพลังงานในรูปพลังงานความร้อน 97 เปอร์เซ็นต์ หลอดไส้เสียพลังงานความร้อนไป 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้พลังงานแสงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแสงอาทิตย์ได้พลังงานแสง 25 เปอร์เซ็นต์ พลังงานความร้อน 75 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าถ้าวันข้างหน้า มนุษย์สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากหิ่งห้อยได้ เราก็จะประหยัดงานได้มหาศาล
*ทำไมหิ่งห้อยต้องเกาะที่ต้นลำพู
สมหมาย-มีคนถามกันเยอะว่า มันจำเป็นไหมที่หิ่งห้อยจะอยู่เฉพาะบริเวณต้นลำพู มันไม่จำเป็น คือแม่หิ่งห้อยจะฉลาดมาก เวลาที่เขาจะวางไข่ เขาจะไปสำรวจดูว่าตรงไหนมีหอยบ้าง ตรงไหนมีหอยเขาก็จะวางไข่ตรงนั้น เพื่อให้ลูกเขาได้มีอาหารกิน จะได้ไม่ตาย เวลาเราไปดูบางต้นก็มีหิ่งห้อย บางต้นก็ไม่มีหิ่งห้อย เพราะฉะนั้นเราจะบอกได้เลยว่าต้นไหนที่มีหิ่งห้อยเยอะแสดงว่าบริเวณนั้นมีหอยอยู่เยอะ เพราะอย่างที่บอกไปว่าต้นลำพูมันจะมีลักษณะของรากที่เหมาะแก่การเกาะของหอยซึ่งเป็นอาหารของตัวอ่อนหิ่งห้อย