ท่ามกลางความเข้มข้นของการแข่งขันด้านการศึกษา เด็กไทยที่น่าสงสารหลายคนต้องหน้าดำคร่ำเครียดอัดบทเรียนเข้าสมอง ด้วยวิธีการเรียนในห้องเรียน รวมไปถึงการเรียนพิเศษเตรียมตัวสอบเข้า จนบางครั้งจุดประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริงถูกลืมเลือนไป บริบททางการศึกษาเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อให้ “รู้” เป็นเพื่อ “สอบแข่งขัน” เด็กไทยจำนวนไม่น้อยเอาชีวิตไปแขวนไว้กับผลการสอบโอเน็ต-เอเน็ต จนพวกเขาได้ “ทิ้ง” สิ่งที่เรียกว่า “กิจกรรม” อันเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง ซ้ำร้ายผู้ปกครองหลายคนยังมีทัศนคติเชิงลบว่ากิจกรรมทำให้เสียการเรียนด้วย...
แต่หนึ่งตัวอย่างที่พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า “กิจกรรม” ที่ใครๆ หาว่าจะทำให้เสียการเรียนนั้น กลับกลายเป็นทั้ง “ส่วนเสริมสร้าง” และ “ส่วนเติมเติม” ให้ชีวิต ตัวอย่างรายนี้คือ “โชติกา สุญาณเศรษฐกร” หรือ “พี่แหมม” ว่าที่ด็อกเตอร์สาววัย จากรั้วจามจุรี ผู้ช่วยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในนาม “ไบโอเทค”
“มีวันนี้ได้เพราะกิจกรรมที่ทำสมัยเรียน”
ว่าที่ดอกเตอร์สาวรายนี้ จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนราชินี ระดับมัธยมจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน และสอบเอนทรานซ์ติดคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นในระดับปริญญาโท โชติกา ตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Human Molecular Genetic (อนุพันธุศาสตร์ของมนุษย์) ที่ Imperial College อันเป็นสังกัดของ University of London และกลับมาใช้วิชาที่เล่าเรียนมาช่วยพัฒนาวงการงานวิจัยบ้านเรา โดยเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ไบโอเทคเป็นเวลา 4 ปี
“ดอกเตอร์ที่ไบโอเทคมีมากชนิดเดินชนกัน พอเราเห็นแบบนี้ ไม่ใช่อิจฉานะ แต่อยากเอาชนะตัวเอง มันเป็นบททดสอบที่ท้าทาย และเราก็อยากทำให้สำเร็จ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอก”
ทุนที่ โชติกา ไปเรียน คือ ทุน “คปก.” หรือทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ที่มุ่งผลิตนักวิชาการระดับปริญญาเอกเพิ่ม 5,000 คนภายในเวลา 10 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2541-2551เป็นทุนที่สกว.ให้นักวิจัยระดับอาจารย์ปีละ 1 ทุน คนละไม่เกิน 5 ทุน เพื่อคัดเลือกลูกศิษย์เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก และที่พิเศษคือ ทุนนี้จะให้โอกาสไปศึกษาวิจัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วย
“นิสิตนักศึกษาที่สนใจจะรับทุนนี้ ก็ต้องไปขออาจารย์ก่อน แล้วก็ส่งแบบฟอร์มขอทุนพร้อมทรานสคริปต์และผลงานไปให้อาจารย์พิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็ลาศึกษาต่อ”
ว่าที่ ดร.สาว กล่าวต่อไปว่า ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสหสาขาวิชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหัวข้อการวิจัยวิทยานิพนธ์ยาวเหยียดว่าด้วยเรื่อง “บทบาทของหน่วยย่อย B55 Beta ของโปรตีนฟอสฟาเทส 2A ต่อฟอสโฟรีเลชั่นของโปรตีน ATM ในมนุษย์”
ปัจจุบัน โชติกา อยู่ในสถานะที่เรียกว่า PH.D. Candidate หรือ “ว่าที่ดอกเตอร์” เหลือเพียงการเดินทางไปศึกษาวิจัยในต่างประเทศและกลับมาสอบ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แทบจะแน่นอนว่า หลังจากกลับมาและสอบเรียบร้อย เธอก็จะได้เป็นด็อกเตอร์เต็มตัว
หลังจากการเล่าประวัติทางการศึกษา หลายคนคงฟันธงว่า เก่งระดับนี้ สมัยเด็กๆ คงต้องจัดอยู่ในกลุ่ม “นักเรียนดี 1 ประเภท 1” ผลสอบติดอันดับต้นๆ ตลอด ใส่แว่นตาโต วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากท่องหนังสือเป็นแน่ แต่เจ้าตัวก็ได้เฉลยข้อสงสัยเหล่านี้ด้วยเสียงหัวเราะแล้วย้ำประโยคเดิมเมื่อแรกที่กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้
“มีวันนี้ได้เพราะกิจกรรมที่ทำสมัยเรียน”
โชติกา เล่าว่า เธอเป็นลูกคนเล็กของครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ดุ แต่มีกรอบที่ดีงามให้ลูกสาวทั้งคู่ได้ปฏิบัติตาม เธอเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า ไม่เที่ยวกลางคืน เพียงเท่านี้ก็พอที่จำทำให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ใจ ไม่จ้ำจี้จ้ำไช และรอดูอยู่ห่างๆ ทำให้มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง
“คือ เป็นคนที่ทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ถึงที่สุด ทำให้เต็มที่ เรียนก็เรียนเต็มที่ เล่นก็เล่นเต็มที่ ไม่ใช่เด็กเกเร เด็กๆ ไม่ชอบไปชอปปิ้ง ไม่เที่ยวห้าง ก็ไม่ได้เบื่อ เพราะไม่ว่างเลย พ้นจากเรียนหนังสือ ก็ทำกิจกรรม สมัยเรียนประถมก็รำมาตลอด เป็นนางรำ พอขึ้นมัธยม เรียนที่สาธิตปทุมวัน บอกได้เลยว่า ระบบการสอนของที่นี่สอนอะไรหลายอย่างมาก เป็นโรงเรียนที่กิจกรรมเยอะมาก”
ว่าที่ดอกเตอร์รายนี้ กล่าวต่อว่า อาจจะเป็นเพราะเหตุการณ์ที่คุณพ่อ (พล.ร.ท.โสธร สุญาณเศรษฐกร อดีตทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส) ต้องไปประจำอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้เธอต้องตามไปอยู่ที่นั่นประมาณ 3 ปี ทำให้นิสัยกล้าแสดงออกติดตัวกลับมาด้วย
เมื่อเข้าเรียนในระดับประถม ด้วยความที่กล้าพูด กล้าถาม กล้าแสดงออก ก็ทำให้โชติกาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นผู้นำเพื่อนๆ มาตลอด ต่อมาก็ยังเป็นนางรำของโรงเรียน ยิ่งตอกย้ำให้เธอเป็นเด็กที่รักการทำกิจกรรมมาตั้งแต่นั้น
ในระดับมัธยมต้นก็ได้รับเลือกเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียน จนกระทั่งมัธยมปลายก็ยังทำกิจกรรมนี้อยู่ ได้มีโอกาสเป็นทั้งของกีฬาภายในโรงเรียนและกีฬาสาธิตสามัคคี ซึ่งเป็นกีฬากระชับมิตรของกลุ่มโรงเรียนสาธิตฯ ด้วย
จนระดับอุดมศึกษา ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นจามจุรีสาวในรั้งสีชมพู โชติกาก็ได้รับเลือกเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะวิทยาศาสตร์และของมหาวิทยาลัย
“พูดถึงเรื่องเรียน ก็ไม่ใช่คนเรียนเก่งนะ ตอนเรียนมัธยมสอบได้ 3 ต้นๆ ประมาณ 3.2-3.5 ถือว่าเรียนใช้ได้ ไม่ได้เก่งมาก คนเก่งกว่านี้ก็มี ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เกียรตินิยม แต่อาศัยเป็นคนไม่เกเร ไม่เคยโดดเรียน แล้วก็ตั้งใจเรียนในเวลาเรียน ที่บอกว่า กิจกรรมทำให้มีวันนี้ เพราะเชื่อว่าการที่เราได้ทำกิจกรรม ได้รำ ได้เป็นลีดฯ ได้กระโดดโลดเต้น คือร่างกายเราได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย มันก็สดชื่น เทียบกับนั่งเรียนหรือนั่งอ่านหนังสืออย่างเดียวมันล้า ไม่fresh พออ่านหนังสือเหนื่อย ก็ออกไปทำกิจกรรม ร่างกายและสมองเราได้รับการกระตุ้นจากการออกกำลังกาย”
“ตอนสอบเอนท์ ก็ไม่ใช่ว่าเราทำกิจกรรมแล้วจะเสียการเรียนนะ คือกิจกรรมที่ทำมันเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของโรงเรียน ถ้าเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่บ้านไม่อนุญาต อย่างมีคนมาติดต่อขอถ่ายแบบ คุณพ่อนี่สกัดดาวรุ่งตั้งแต่เริ่มโทรมาขอ ไม่ให้เลย เรื่องนี้เข้มงวดมาก จะบอกเสมอว่าเราเป็นเด็ก หน้าที่หลักคือเรียนหนังสือ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมโรงเรียน ถึงไหนถึงกัน จะสนับสนุนตลอด โรงเรียนสาธิตมีกิจกรรมเยอะมาก แทบทุกคนต้องมีกิจกรรม แต่ก็ไม่ทิ้งการสอน ระบบการสอนเค้าแน่นมาก อย่างภาษาอังกฤษนี่ที่อื่นติวกันตอน ม.ปลาย แต่ที่โรงเรียนจะอัดมาตลอดตั้งแต่ ม.3”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมสะสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ พี่แหมมบอกว่า ได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งได้ฝึกภาวะผู้นำ ได้ฝึกนิสัยรับผิดชอบ เพราะแต่ละกิจกรรมก็จะมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำแตกต่างกันออกไป นักเรียนที่ทำกิจกรรมระหว่างเรียนด้วย จะได้ฝึกการรับผิดชอบหน้าที่หลักคือการเรียน และรับผิดชอบกิจกรรมเสริมไปพร้อมๆ กัน ทำให้คุ้นชินการรับผิดชอบภาระหน้าที่หลายอย่างพร้อมๆ กัน และฝึกการแบ่งเวลาและจัดระเบียบลำดับความสำคัญในการทำสิ่งต่างๆ อีกด้วย
ด้วยความที่อีกไม่นานจะต้องเดินทางไปศึกษาวิจัยที่ต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน โชติกา จึงได้หยิบยกประเด็น “สมองไหล” ของนักวิจัยจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะออกไปทำงานในต่างประเทศมาให้ความเห็นว่า การตัดสินใจเลือกทำงานในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็เป็นสิทธิที่เจ้าตัวกระทำได้ แต่สำหรับส่วนตัวเองแล้ว ไม่เคยมีความคิดจะไปทำงานที่ต่างประเทศ แม้ว่ารายได้อาจจะมากกว่าเงินเดือนในเมืองไทยถึง 8 เท่า แต่ด้วยเพราะมีครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย และพอใจที่จะทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศบ้านเกิดเมืองนอนมากกว่า
“คือ มันเป็นทางเลือก คนที่เลือกไปทำงานเมืองนอกมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่มีใครผิด แต่เราเลือกที่เราจะตอบแทนประเทศ ตามวิธีที่เราทำได้ ไม่ได้บอกว่าเป็นคนดีนะ แต่คือคนเราหากได้ทำอะไร ก็ควรทำให้เต็มที่ รักษาหน้าที่ให้ดีที่สุด หน้าที่ของเด็กนักเรียนก็คือตั้งใจเรียน เราเป็นนักวิจัย เราก็อยากตอบแทนประเทศด้วยการวิจัยงานของเราให้เต็มที่ เพื่อจะได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้ได้มากที่สุด” โชติกา ทิ้งท้าย