นักวิจัย มข. เผยเผาซากอ้อยทำดินเสื่อมโทรม แถมเพิ่มก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุโลกร้อน ซ้ำปลูกใหม่ในที่ดินเดิมทำผลผลิตอ้อยตกต่ำ แนะเกษตรกรเลิกเผาซากอ้อยแล้วปลูกถั่วแทน ช่วยบำรุงดินให้พร้อมสำหรับปลูกอ้อยรุ่นต่อไป และไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น ทั้งยังมีรายได้เข้ากระเป๋าเพิ่มอีกไม่น้อย
น.ส.เสาวคนธ์ เหมวงษ์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากสาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยผลวิจัยการเผาซากอ้อยในไร่อ้อยเป็นเหตุทำให้ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตอ้อยรุ่นต่อไปตกต่ำ ทั้งยังเพิ่มภาวะโลกร้อน แนะชาวไร่อ้อยให้แก้ปัญหาด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่วแทนการเผาซากอ้อย ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ ส่วนเกษตรกรก็จะมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
"โดยปกติเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มปลูกอ้อยในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย. จากนั้นจะจัดการกับซากอ้อยที่เหลือโดยการเผา แล้วปล่อยแปลงทิ้งร้างไว้เฉยๆ เพื่อรอการปลูกอ้อยครั้งต่อไปในเดือน ต.ค. ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของอ้อยรุ่นต่อไป อีกทั้งการเผายังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น" น.ส.เสาวคนธ์ กล่าว
นักวิจัยเลยคิดหาวิธีจัดการไร่อ้อยโดยไม่ต้องเผาซากอ้อย โดยเล็งเห็นว่าหากปลูกพืชตระกูลถั่วในช่วงระหว่างรอปลูกอ้อยรุ่นต่อไปจะเป็นการเพิ่มธาตุในโตรเจนในดินได้ และน่าจะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันเกษตรกรก็จะมีรายได้เสริมจากการปลูกถั่วอีกทางหนึ่ง
น.ส.เสาวคนธ์ จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบการจัดการไร่อ้อยตามวิธีดั้งเดิมของชาวไร่และการปลูกพืชตระกูลถั่วหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยโดยที่ไม่ต้องเผาซากอ้อย ซึ่งเลือกใช้ถั่วลิสงและถั่วเหลืองในการทดลอง
หลังจากทดลองศึกษามาเป็นเวลา 1 ปี นักวิจัยพบว่า การปลูกถั่วแทนการเผาซากอ้อยจะช่วยเพิ่มผลผลิตของอ้อยรุ่นถัดไปได้มากกว่าวิธีเดิมที่เกษตรกรใช้ โดยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วไปแล้ว และไถกลบซากถั่วเพื่อเตรียมดินสำหรับปลูกอ้อย นักวิจัยสังเกตเห็นได้ว่าในช่วง 6 เดือนแรก อ้อยเจริญเติบโตดีใกล้เคียงกับอ้อยในแปลงที่ได้รับปุ๋ยในโตเจนแต่ไม่ได้ปลูกถั่วมาก่อนหน้า
"การปลูกถั่วช่วยให้ชาวไร่ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ครึ่งหนึ่ง คือในช่วง 6 เดือนแรกของการปลูกอ้อย เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ขณะที่ผลผลิตอ้อยไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยถั่วลิสงจะให้ผลผลิตถั่วและเพิ่มผลผลิตอ้อยได้มากกว่าถั่วเหลือง"
"และการปลูกถั่วแทนการเผาซากอ้อยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดฝุ่นละอองและมลพิษ ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินได้โดยไม่ทำให้ดินเสื่อมสภาพเหมือนการใส่ปุ๋ยเคมีในดิน และจะนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืนได้" น.ส.เสาวคนธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นักวิจัยจะนำผลงานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่และให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาซากอ้อย และหันมาปลูกถั่วเสริมรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการปลูกอ้อยแทน เพื่อเป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมีอีกทางหนึ่งในการปลูกอ้อยครั้งต่อไป ซึ่งงานวิจัยนี้ยังจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือตัดใบอ้อยที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วยเพื่อนำมาใช้ทดแทนการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย.