xs
xsm
sm
md
lg

ริมตลิ่งของคนอัมพวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ห้องแถวชุมชนริมน้ำใกล้ตลาดอัมพวา
“เรากำลังถูกทำลายด้วยการท่องเที่ยว เรากำลังถูกทำลายด้วยคำว่าพัฒนาที่ดิน”

เสียงของปรีชา เจี๊ยบหยู ลูกผู้ชายแห่งแม่กลองรำพึงท่ามกลางเสียงฝนที่ตกกระทบหลังคา อัมพวาต้นเดือนกรกฎาท้องฟ้ายังฉ่ำด้วยเมฆฝน แต่นักท่องเที่ยวยังคงหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย เพียงสองชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินกว่าคนเมืองจะหลีกความวุ่นวายมาพักผ่อน โดยเฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ห้องพักแทบทุกแห่งถูกจองเต็ม เสียงเรือหางยาวพานักท่องเที่ยววิ่งขวักไขว่ในคลองเล็กๆ ที่เคยเงียบสงบ กลายเป็นภาพที่ชินตาของคนอัมพวาที่ใช้ชีวิตริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองในช่วงหลายปีหลัง

นับตั้งแต่ กระแสการท่องเที่ยวพายเรือชมหิ่งห้อยได้ถูกจุดพลุขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ชื่อของอำเภอเล็กๆ ที่เคยได้รับการขนานนามเป็นเวนิสตะวันออกแห่งนี้ ก็กลายเป็นจุดสนใจในหมู่นักท่องเที่ยวและนักพัฒนาที่ดินที่จ้องที่ริมฝั่งตาเป็นมัน มะพร้าวในสวนถูกโค่นทิ้งเพื่อเตรียมทำรีสอร์ท เช่นเดียวกับห้องแถวริมน้ำหลายแห่งถูกปรับเป็นที่พักแก่นักท่องเที่ยว มีราคาตั้งแต่หลักร้อยต้นๆ ไปจนถึงเกือบพัน หลายคนบอกว่าเสน่ห์ของอัมพวากำลังจะหมดไป เมืองเล็กๆ ริมน้ำแห่งนี้กำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นเหมือนเช่นเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ

แต่อัมพวาที่เราเห็นในวันนี้ ยังคงน่ารักในแบบของมัน แม้ขยะจากนักท่องเที่ยวจะมากขึ้นตามเม็ดเงินไปด้วย อัมพวายังคงมีมนต์ขลังสำหรับผู้ที่หลงรักบรรยากาศและวิถีชีวิตริมน้ำเก่าๆ ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง แต่คนอัมพวาเองที่เกิดและเติบโต ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนของพวกเขา... บ้างอ้าแขนรับความเจริญที่เข้ามาพร้อมกระแสการพัฒนา ทว่ามีบางส่วนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า หากยังคงปล่อยให้กระแสของการท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่มีการควบคุมเช่นนี้ วันข้างหน้าอัมพวาจะเป็นเช่นไร?


เมื่อหิ่งห้อยกลายเป็น ‘มาสคอต’ การท่องเที่ยว

“ผลกระทบจากการท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา มันลามไปสู่ชุมชนทุกชุมชน จริงๆ เราไม่คิดว่ามันจะลาม เราคิดว่ามันจะมีแค่ตลาดน้ำอย่างเดียวเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปของการผสมผสานทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชน หิ่งห้อยก็เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ไป” ปรีชา เจี๊ยบหยู จากโครงการอนุรักษ์ชุมชนบ้านลมทวน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย กล่าวถึงความเป็นมาของปัญหาในพื้นที่

จุดเริ่มต้นเกิดจากแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 ที่นำนักท่องเที่ยวไปชมหิ่งห้อย ปรีชาบอกว่า แต่เดิมชุมชนริมน้ำแถบอัมพวามีจำนวนหิ่งห้อยหนาแน่นมากถึงนับล้านตัว ซึ่งการนำเรือพานักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยในระยะแรกนั้น ไม่เป็นปัญหาเพราะมีเพียง 7-8 ลำ จนกระทั่งเมื่อต่อมามีการขยายจำนวนเรือเพิ่มขึ้น จากไม่ถึงสิบลำก็กลายเป็นร้อยลำ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันนี้มีเรือพานักท่องเที่ยวไปชมหิ่งห้อยถึงกว่า 170 ลำ!

ลองจินตนาการถึงเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวกว่าร้อยแรงม้าขึ้นไปวิ่งสวนกันดังสนั่นท้องน้ำ ท่ามกลางความเงียบสงัดยามค่ำคืน อย่าว่าแต่หิ่งห้อยเลย...แม้แต่คนที่อยู่ริมฝั่งก็ยังสะดุ้งตื่นจากที่นอน

“วิถีชีวิตคนในชุมชนเริ่มมีผลกระทบ จากเดิมเราเคยนอนแต่หัวค่ำ เรานอนไม่ได้แล้ว คือสองทุ่มคนชนบทเราเข้านอนกันหมดแล้ว อย่างดีก็ปิดบ้านนอนดูละครโทรทัศน์กัน แต่เริ่มปี 49 เราดูไม่ได้แล้วเพราะเสียงเครื่องยนต์มันดังกลบไปหมดเลย ตลอดตั้งแต่ประมาณทุ่มครึ่งเรื่อยไปจนถึงห้าทุ่มเลย พอดูทีวีไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ เราก็เริ่มเครียด จนเริ่มหันหน้าเข้าปรึกษากันว่าจะทำยังไงดี แต่ในตอนนั้นยังคงไม่มีคำตอบ”

หนักๆ เข้าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งก็เริ่มเดือดร้อน มีการขอร้องคนขับเรือให้ช่วยเบาเครื่องหน่อยเมื่อเข้ามาใกล้บริเวณบ้านคน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ คนขับเรือหางยาวยังแข่งกันวิ่งไปรับนักท่องเที่ยวให้ได้จำนวนเที่ยวมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าคลื่นที่เกิดจากใบพัดเรือจะไปกัดเซาะตลิ่งของชาวบ้านให้ทรุดพังทลายลงทุกครั้งที่เรือแล่นผ่าน

จุดเปลี่ยนของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งไปจอดเรือดูหิ่งห้อยที่บริเวณหน้าบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนายจุก ขณะนั้นนายจุกกำลังนั่งกินข้าวเย็นอยู่กับครอบครัว เมื่ออยู่ๆ ก็มีเสียงตะโกนจากคนในเรือบอกให้เขาปิดไฟในบ้านเพราะจะดูหิ่งห้อย

“เขากำลังนั่งกินข้าวอยู่กับลูกเมียอยู่ดีๆ มีคนมาสั่งให้เขาดับไฟในบ้านของตัวเอง เขาก็มึนเลยสิ นายจุกวางจานข้าวลง ลุกขึ้นโผล่ออกไปบอกมึงเป็นพ่อกูเหรอถึงมาสั่ง… พรุ่งนี้กูจะตัด”

รุ่งขึ้น ต้นลำพูบริเวณหน้าบ้านของนายจุกก็ถูกตัดเรียบตามที่เขาประกาศ หลายบ้านเห็นดังนั้นก็เลยเอาอย่างบ้าง ส่งผลให้ต้นลำพูหลายต้นต้องมีอันต้องถูกตัดไป แม้จะเป็นการตัดแบบไม่ได้ตั้งใจจะโค่นทิ้ง แต่ในสายตาคนนอกอาจดูว่าการทำเช่นนั้นเหมือนเป็นการประชด แต่ถ้าหากลองเอาหัวใจไปวางในตำแหน่งเดียวกับพวกเขา ณ นาทีนั้น บางคนก็อาจเลือกทำอย่างเดียวกัน

“ทุกวันนี้เขาบอกว่าพอทนแล้วนะ แต่วันเวลานี้เขาทนไม่ไหวจริงๆ เพราะเขาถามว่านี่มันสิทธิของเขา และคุณมาละเมิดสิทธิเขาได้ยังไง ถูกล่ะลำน้ำนี้คือพื้นที่สาธารณะ แต่ชุมชนที่อยู่ข้างบนเขาก็มีสิทธิเหมือนกัน ไม่ใช่คุณคิดว่าอยู่ข้างล่างแล้วเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งหมด”

มาตรการของชุมชนที่แก้ไขปัญหากันแบบชาวบ้านๆ ในระยะเริ่มแรกนั้นมีตั้งแต่การเสนอให้เอาหนังสติ๊กยิงเรือ ไปจนถึงการตัดต้นลำพูทิ้ง แต่ทางแกนนำชุมชนอย่างปรีชาคัดค้านว่า หากทำอย่างนั้นภาพลักษณ์ของคนอัมพวาจะเสียหายไปด้วย เมื่อไปเสนอความเดือดร้อนต่อหน่วยงานรัฐใดก็ไม่ได้รับความสนใจ ทางชุมชนจึงต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหากันเอง

“ผมคิดว่าถ้าเราใช้วิธีการที่เสนอมานั้นจะทำให้เกิดภาพเสียต่อการท่องเที่ยวแน่นอน มันทำให้ภาพพจน์ของตัวจังหวัดเรา โดยเฉพาะชื่อเสียงของชุมชนเราเสีย เขาจะมองว่าพวกเราเป็นอันธพาล เราก็เลยต้องหันมาประชุมร่วมกันว่าเราจะหาทางแก้กันยังไงดี ชาวบ้านเขาก็งงไม่รู้จะทำยังไงดี”

ในที่สุด ทางชุมชนจึงได้ไปปรึกษากับสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม จนกระทั่งได้ทางออกคือ โครงการอนุรักษ์ชุมชนบ้านลมทวน โดยมีมาตรการที่กำหนดร่วมกันคือ ตลอดระยะ 3 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งอันเป็นที่อยู่ของหิ่งห้อยนั้น คือ พื้นที่อนุรักษ์ ชาวบ้านได้พยายามช่วยกันทำทุ่นกั้นตลิ่งเพื่อกันคลื่นจากเรือหางยาวไม่ให้เซาะตลิ่ง แต่ก็ปรากฏว่า เรือหางยาวบางลำได้ใช้เชือกผูกท้ายเรือกวาดหลักของชาวบ้านไปหมด

ในประเด็นนี้ ปรีชาบอกว่า ผลกระทบไม่ใช่แค่มีต่อชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่เสียหายไปหมด “ในอดีตผมตอนเย็นผมเคยตามพ่อไปทอดแหไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ได้ปลากระบอกเหลือกินแล้ว แต่เพราะหน้าเลถูกกัดเซาะ ทำให้ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว ขี้ตมก็ไม่เหลือ ปลากระบอกก็ไม่มี เพราะคลื่นจากเรืออย่างเดียว”

ส่วนอีกทางแก้หนึ่งคือ การซื้อเรือพายแบบไม่ติดเครื่องมาใช้แทนเรือหางยาวในการพานักท่องเที่ยวไปชมหิ่งห้อย ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะทางเสียงได้อีกทางหนึ่งในระยะเริ่มแรก พร้อมจัดทำป้ายผ้ารณรงค์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวช่วยกันอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่ง “เราเรี่ยไรเงินกันในชุมชน เดินเรี่ยไรตามบ้าน บ้านละยี่สิบสามสิบ ใครมีมากให้มาก ใครมีน้อยให้น้อย เพราะผมต้องการให้คนในชุมชนเห็นว่า เราต้องเสียสละกันแล้ว”

ทางชุมชนบ้านลมทวน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหิ่งห้อยเยอะที่สุดและระบบนิเวศยังสมบูรณ์ที่สุด ได้ร่วมกำหนดจุดชมหิ่งห้อยไว้ให้นักท่องเที่ยว 3 จุด คือ บริเวณหน้าวัดจุฬามณี, คุ้งเทวดา และปากคลองผีหลอก โดยขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวว่าจะไม่นำเรือไปรับถึงที่พักซึ่งมีอยู่มากมายและห่างไกลเกินไป แต่ให้นักท่องเที่ยวเดินหรือขับรถมายังจุดนัด ที่ทางชาวบ้านจะนำเรือพายมารอรับนักท่องเที่ยวไปดูหิ่งห้อย เป็นการช่วยลดมลภาวะทางเสียงแก่ชุมชน

“แต่พอสู้มาถึงขั้นนี้ คนที่เขาประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวเขาไม่นึกอย่างเรา เพราะคำว่าเงิน เที่ยวหนึ่งเขาได้ 600 เขาวิ่งสองเที่ยวคืนหนึ่งเขาได้ 1,200 เขาก็รีบวิ่งมาเลย พอรีบวิ่งเรือผลกระทบมันก็มาตกกับระบบนิเวศ หิ่งห้อยตอนกลางวันจะอยู่ข้างใน กลางคืนถึงจะบินขึ้นมาเกาะต้นลำพู ถ้าเห็นจะเป็นภาพที่สวยมาก รอบต้นลำพูแสงหิ่งห้อยจะขึ้นเป็นสายเลย พอเกาะต้นลำพูแล้วมีเรือที่วิ่งผ่านมาจอดดู พอจอดดูปั๊บเสร็จพอใจแล้วก็เร่งเครื่องออกไป คลื่นจากใบพัดเรือก็พุ่งไปตีกับต้นลำพู บางครั้งหิ่งห้อยต้องหนีขึ้นไปอยู่บนยอดมะพร้าว” ปรีชาเล่า

ปัจจุบัน จำนวนหิ่งห้อยบริเวณชายฝั่งของอัมพวาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปรีชาบอกว่ามีนักวิจัยมาสำรวจพบว่าปริมาณหิ่งห้อยหายไปจาก 10 ส่วนเหลือเพียง 1 ส่วนเท่านั้น ทางชุมชนจึงได้นำชาวบ้านมาจัดอบรม โดยให้ความรู้ในการอนุรักษ์หิ่งห้อยและระบบนิเวศ จนกระทั่งสามารถล้างทัศนคติเก่าๆ ของชาวบ้านบางคนที่เคยมีต่อการท่องเที่ยวและหิ่งห้อยซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา จนกระทั่งทุกหลังคาเรือนหันมาให้ความร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์ของชุมชน

เสียงของคนอัมพวา

ทางด้าน ส.ว.สมุทรสงครามอย่าง สุรจิต ชิรเวทย์ กล่าวถึงการตัดต้นลำพูทิ้งของชาวบ้านว่า เป็นการตัดเพื่อ “ส่งเสียง” ของคนอัมพวา ที่มีต่อกระแสการท่องเที่ยวที่ทางจังหวัดพยายามส่งเสริม โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง

“แม่กลองเป็นชุมชนที่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเชื่อมโยงกันอยู่ เป็นแชมป์เมืองน่าอยู่ถึง 2 ปีซ้อน นอกจากนี้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด วัดจากคุณภาพของอากาศ สุขอนามัย ความมีอายุยืนเฉลี่ยของประชากร และความมีความสุขของคนในชุมชน”

จังหวัดสมุทรสงครามและอำเภออัมพวา มีที่ตั้งอยู่ใต้ที่ราบลุ่มภาคกลางลงมา โดยมีลักษณะเป็นเมืองน้ำ คือตั้งชุมชนอยู่ตามเส้นทางแม่น้ำและลำคลอง สภาพพื้นที่มีการทำสวนเป็นขนัดและมีลำประโดงล้อม ซึ่งก็คือโครงข่ายลำน้ำขนาดเล็กที่ซอยเข้าไปทุกสวน แสดงความฉลาดของบรรพบุรุษในการสร้างบ้านแปลงเมือง

“อ.ขวัญทรวง อติโพธิ เคยถามผมว่า อัตลักษณ์ของคนแม่กลองคืออะไร ผมบอกว่า ‘ศิลปินเดี่ยว’ ยังไงล่ะ คนแม่กลองเคยร่ำรวย เคยเสียภาษีสูงที่สุดต่อหัวในประเทศนี้รองจากกรุงเทพมหานครเท่านั้น คนแม่กลองไม่เคยมีวัฒนธรรมในการรวมตัวกันในการประกอบอาชีพ ชาวสวนแตกต่างจากชาวนา ชาวนาทำนาแล้วเกี่ยวข้าวคนเดียวไม่ได้ จึงมีวัฒนธรรมในการลงแขก ขอแรงร่วมมือกัน แต่ชาวสวนทำสวนแบบพึ่งพาตัวเองและแรงงานในครอบครัวเป็นหลัก” ส.ว.สมุทรสงครามกล่าว และความเป็นศิลปินเดี่ยวในตัวคนแม่กลองหรืออัมพวานี่เอง ที่สร้างให้ชุมชนแห่งนี้ ผลิตทรัพยากรบุคคลที่โดดเด่นในแขนงต่างๆ ออกมา อาทิเช่น ครูเพลง เอื้อ สุนทรสนาน, หรือหลวงประดิษฐ์ไพเราะ บรมครูคนสำคัญของวงการดนตรีปี่พาทย์ไทย

ส.ว.สุรจิตอธิบายให้เห็นภาพชีวิตชาวอัมพวาต่อไปว่า ในขณะที่ชุมชนแม่กลองส่วนใหญ่ยังคงสืบทอดการดำเนินชีวิตตามบรรพบุรุษในอดีตอยู่ แต่ชุมชนในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ พากันเปิดกว้างในการเปลี่ยนแปลงและรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในนามของ ‘การพัฒนา’ หรือ ‘โลกาภิวัตน์’ ซึ่งโลกไร้พรมแดนนั้นหากไม่มีการจัดการที่ดีก็จะกลายเป็น ‘โลภ’ ไร้พรมแดนไป

“วิถีชีวิตของชาวอัมพวาและชุมชนแม่กลองจะมีตลาดนัดเช้าเย็น หรือตลาดนัดประจำสัปดาห์ หากชุมชนไหนมาจากซีกทะเลก็จะมีสินค้าอย่างปลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลามาขาย หากใครมาจากซีกฝั่งสวนก็จะมีผลไม้ต่างๆ ประจำฤดูมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อก่อนมีตลาดนัดกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามข้างขึ้นข้างแรม”

ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีภาพตลาดนัดทางน้ำให้เห็นอยู่ แม้จะถูกคลุมด้วยเงาจางๆ ของการท่องเที่ยวอยู่อีกชั้น แต่ก็ยังมีบางแห่งที่เป็นตลาดนัดทางเรือแบบดั้งเดิมแท้ๆ เช่น ตลาดน้ำท่าคา ที่ชาวบ้านในละแวกหมู่บ้านคลองมะขามขวิดหรือวัดวิหารจะพายเรือนำสินค้าจากสวนมาขาย เฉพาะวันขึ้นและแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำของทุกเดือน นับเป็นตลาดนัดทางน้ำโบราณอายุกว่าร้อยปีที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

ณ ปัจจุบันชุมชนอัมพวามีประชากรประมาณ 5 พันคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึงประมาณปีละ 5-6 แสนคน ซึ่งมากเกินกว่าที่ชุมชนจะรองรับได้ ส่งผลให้ทางชุมชนตั้งรับไม่ทัน ส.ว.สุรจิตชี้ให้เห็นถึงการขาดความพร้อมในการจัดการหลายๆ อย่าง อาทิ เรือเก็บขยะในลำคลอง หรือเรือขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดน้ำอัมพวาที่มีมากถึงกว่า 60 ลำ จากเดิมในอดีตที่ต้องจ้างมาโชว์ให้นักท่องเที่ยวดูวันละ 300 บาท แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวของอำเภออัมพวาเติบโตถึงขีดสุดในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี

“พอตั้งรับไม่ทัน ฐานทรัพยากรท่องเที่ยวก็ถูกทำลายเพียงแค่ภายใน 4-5 ปี ต้องมาฟื้นฟูกันใหม่ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่พอมีนายทุนเข้ามาจัดการ มันก็เปลี่ยนไปเป็นแค่ตลาดขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว พอที่ตลาดน้ำดำเนินฯ เริ่มจะล่มสลายก็ลามมายังชุมชนอัมพวา”

ส.ว.สมุทรสงครามหวังว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีการจัดผังเมืองของอัมพวา และชาวแม่กลองจะมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองรวม เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของชาวชุมชนแม่กลองให้สอดคล้องกับรากฐานทางสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ปรีชาในฐานะตัวแทนคนแม่กลองและอัมพวา ที่อยากเห็นชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง ตั้งคำถามว่า ทำไมฝ่ายที่อยู่ด้านการท่องเที่ยวถึงไม่ช่วยกันอนุรักษ์ในวันนี้ หากเกิดวันหนึ่งข้างหน้าไม่มีหิ่งห้อยและต้นลำพู ชุมชนอัมพวาจะถึงคราวล่มสลาย แล้วพวกเขาจะอยู่กันได้อย่างไร?

“แม่กลองจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำโดยคำนึงถึงระบบนิเวศมวลรวม ผมพยายามชี้ให้ชุมชนเห็นว่า ตัวเราเองนี่แหละจะเป็นคนกำหนดอนาคตของเรา ถ้าชุมชนเรามัวแต่รอ รอหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ มันไม่สำเร็จแน่นอน เพราะฉะนั้น เราต้องแก้มันด้วยตัวเอง การปล่อยปัญหามันยืดเยื้อ ก็เลยเป็นเรื่องของการสะสมความแตกแยก ความขัดแย้ง ซึ่งเราไม่อยากเห็นเกิดขึ้นในอัมพวา”

แม้ในวันนี้...ที่พวกเขามีความคิดเห็นตรงข้ามกัน ก็เหมือนต่างคนกำลังยืนอยู่บนคนละด้านของฝั่งตลิ่ง คนอัมพวาต่างก็รักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน แต่ท่ามกลางทางแยกระหว่างการพัฒนาและอนุรักษ์ คนอัมพวาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหนสำหรับอนาคตชุมชนของพวกเขา

 เรือหางยาวที่เข้ามาแทนที่เรือพายในคลองอัมพวา

ห้องแถวเก่าริมน้ำที่อนุรักษ์ไว้ในโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
บรรยากาศยามค่ำคืนของเมืองอัมพวา
ภาพบรรยากาศนักท่องเที่ยวคลาคล่ำที่ตลาดน้ำอัมพวา
กำลังโหลดความคิดเห็น