xs
xsm
sm
md
lg

พลังหนุ่มแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อราตรีคลี่ม่านห่มคลุม...แม่น้ำแม่กลองคล้ายแลดูคลายความเมื่อยล้าลงได้บ้าง หลังจากทอดกายให้เรือโดยสารนักท่องเที่ยวนับไม่ถ้วนลำล่องผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาณาบริเวณที่ไม่ต่างจาก “ไข่แดง” แห่งเมืองสมุทรสงคราม...ใช่แล้ว ตลาดน้ำอัมพวา นั่นเอง ด้วย ณ โมงยามนี้ ที่นี่คือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสุดอิตของคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวอีกมากหน้าหลายตาจากทั่วประเทศ

หิ่งห้อยน้อยส่องแสงวิบวับยามค่ำคืน เสน่ห์วิถีชีวิตริมน้ำ ล่องเรือสัมผัสบ้านเรือนไทยริมตลิ่ง จิบกาแฟโบราณรสเลิศให้กระชุ่มกระชวย เกสต์เฮาส์สุดเก๋พร้อมบริการนักท่องเที่ยวที่ผุดพรายขึ้นราวดอกเห็ด โฮมสเตย์ในบรรยากาศเป็นกันเอง และที่ขาดไม่ได้คือตลาดน้ำ ตลาดนัดที่คึกคักตลอดทั้งบ่ายจรดค่ำคืน เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครต่อใครต่างหลงรัก “อัมพวา” อำเภอเล็กแห่งเมืองสมุทรสงครามอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

แต่ในความรุ่มรวยฉาบไว้ด้วยภาพความสุขแห่งแสงสียามค่ำ อัมพวา ยังคงแฝงไว้ด้วยเนื้อแท้ที่ไม่ควรละทิ้งหรือผ่านเลย ด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนที่นี่ ล้วนเติบโต ผ่านพบและผูกพันกับความสงบเรียบง่าย มาตลอดระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน ก่อนที่การท่องเที่ยวจะถูกปลุกให้ฟื้น ทั้งได้รับการโหมประโคมจากสื่อทุกแขนง นำพา ผู้คนราวกองทัพมดยกโขยงมาเยือนทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

หากในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังว่า ยังมีคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ยืนหยัดก่อร่างสร้าง “สื่อท้องถิ่น” ของคนแม่กลองขึ้นมา ในนาม “มนต์รักแม่กลอง”

วันนี้ เจตนารมณ์ผ่านตัวอักษรของพวกเขา ทำหน้าที่ส่งต่อความคิดความฝัน และจิตสำนึกถึง 4 เล่มแล้ว เปรียบดังเมล็ดพันธุ์ที่กำลังหยั่งรากอย่างน่าจับตา ผู้เขียนจึงถือโอกาสนี้ เหวี่ยงตัวเองออกจากเมืองหลวง พาผู้อ่านไปสัมผัสความคิดบางแง่มุมของชายหนุ่มผู้เป็นหนึ่งในขุมกำลังสำคัญของ “มนต์รักแม่กลอง”และนับจากนี้ คือถ้อยความจากหัวใจของเขา โจ-วีรวุฒิ กังวานนวกุล พลังหนุ่มแห่งลุ่มน้ำสงบงาม

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ก็ย้ายมาอยู่ที่อัมพวาจนรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนที่นี่ไปแล้ว ก่อนนั้นทำงานอยู่ทางภาคเหนือหลายปี ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ร่วมกับชุมชนบ้านป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก่อนเปลี่ยนตัวเองมาอยู่เบื้องหลัง ปล่อยให้น้องๆ คนรุ่นใหม่เขาได้เข้าไปทำงานในชุมชนแทนเรา”

โจเกริ่นนำถึงชีวิตก่อนหน้าที่เขาจะผันตัวเองมาทำหนังสือ ก่อนบอกเล่าความเป็นมาของ “มนต์รักแม่กลอง” ว่าผู้ร่วมก่อร่างสร้างฝันนิตยสารเล่มเล็ก แต่ใจใหญ่เล่มนี้ ยังมีอีก 2 ชีวิต นั่นคือ ภัทรพร อภิชิต ที่เคยผ่านงานจากเครือสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท อมรินทร์ฯ มานานปี และ สมิทธิ ธนานิธิโชค อดีตช่างภาพและนักเขียนจากนิตยสารโอเพ่น”

หากถามว่า มนต์รักแม่กลอง ยืนอยู่มาได้จนถึง 4 เล่มด้วยปัจจัยใด คำตอบคือ พวกเขาได้รับงบประมาณจากหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยมิตรไมตรีและอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่นอันสอดคล้องกันของโจกับเพื่อนๆ และอดีตประธานหอการค้าจังหวัด แต่งบประมาณที่ได้รับก็พอเพียงสำหรับค่าจัดพิมพ์หนังสือเท่านั้น รายได้ช่องทางอื่นๆ พอมีบ้างจากการจำหน่าย จากผู้อ่านที่สมัครสมาชิกรายปี รวมทั้งการขายโฆษณา ซึ่งในข้อนี้โจยอมรับว่าทำได้ไม่ดีนัก นอกเหนือจากรายได้เหล่านี้แล้ว ไม่มีนักเขียนคนใดได้รับค่าแรง ค่าเรื่อง

หากนั่นไม่ทำให้พวกเขาท้อแท้ ขอเพียง “มนต์รักแม่กลอง” ยังได้รับการตีพิมพ์ นั่นก็คือของขวัญล้ำค่าแล้ว เนื่องด้วยสำหรับคนทำหนังสือนั่นย่อมหมายความว่า เจตนารมณ์ของพวกเขา ที่ห่วงใยในจิตสำนึกเพื่อท้องถิ่นและวิถีชีวิตอันสงบงาม จะยังได้รับการส่งทอดต่อไป

“ตัวผมมาอยู่ที่นี่ได้ราว 3 ปี ก็รู้สึกว่ากลายเป็นคนอัมพวาไปแล้ว กอปรกับช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องการก่อตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มเยาวชนมารวมตัวคัดค้านต่อต้าน ผมกับเพื่อนก็เลยมานั่งแชร์ความคิดเห็นกัน โดยที่ยังไม่มีรูปแบบของหนังสือแน่ชัด แต่สิ่งที่เรารู้สึกตรงกันก็คือ อัมพวา เป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ แล้วพอเกิดเหตุการณ์ก่อตั้งโรงไฟฟ้า ประชาชนที่เขาเคยอยู่อย่างปรกติสุข อยู่อย่างเรียบง่ายก็ต้องออกมาคัดค้านด้วยแรงผลักดันของคนในท้องถิ่นเอง เราก็เลยคิดอยากให้มีช่องทางการสื่อสารของคนในท้องถิ่นเอง ไม่ว่าคนสูงอายุ คนทั่วไป รวมทั้งเด็กๆ เพราะพวกเขาอาจเข้าไม่ถึงสื่ออินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย แต่สื่อหนังสือ นิตยสาร อ่านแล้วยังอ่านอีก คนอื่นๆ ก็มาแบ่งกันอ่านต่อได้”

เหตุการณ์สร้างโรงไฟฟ้า จึงมีส่วนไม่น้อยเช่นกันในการเป็นแรงผลักดันให้คิดอยากทำ “มนต์รักแม่กลอง” ดังคำตอบหนักแน่นของโจ

“ใช่ เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำสื่อท้องถิ่นขึ้นมา ให้คนในท้องถิ่นรักและเข้าใจ หวงแหนท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชนที่เขากำลังเติบโต” นอกจากนี้ โจ เล่าถึงแรงบันดาลใจอื่นๆ ที่ล้วนเกี่ยวพัน เชื่อมโยงกันในหลากมิติ

“สมุทรสงครามเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะ เมื่อตลาดน้ำอัมพวาบูมขึ้นมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วเมื่อถูกโหม ประโคมทางสื่อต่างๆ อัมพวาก็เปลี่ยนแปลงไป พลิกผันตัวเองจากที่เคยเป็นเมืองเงียบๆ เรียบง่าย กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีคนกรุง ค นเมือง ไหลหลั่งเข้ามามากขึ้นๆ โดยที่องค์กรส่วนท้องถิ่นก็อาจไม่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมกับเพื่อนๆ อยากทำสื่อท้องถิ่นเพื่อแม่กลอง”

นอกจากความคาดหวังที่มีต่อพลังของเยาวชน คนหนุ่มสาวในท้องถิ่น โจยังฝากถึงนักท่องเที่ยวไว้อย่างน่าคิด

“ผมก็แอบหวังว่า เมื่อคุณมาเที่ยวอัมพวา แล้วได้อ่านหนังสือของคนท้องถิ่นแล้ว จะก่อเกิด” เกิดความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติบ้างไม่มากก็น้อย อาจไม่คิดมาสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่มาเพื่อตระหนักว่าที่นี่ยังมีมิติด้านอื่นๆ ให้สัมผัส มีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เรียบง่าย มีอะไรมากกว่าแค่ตลาดน้ำ แต่ยังมีทะเล มีร่องสวน สมกับที่เรียกขานกันว่า “เมือง 3 น้ำ” ทั้งๆ ที่เป็นแค่จังหวัดเล็กๆ มีอยู่แค่ 3 อำเภอเท่านั้น

“อยากฝากบอกนักท่องเที่ยวทุกคนว่า ไม่อยากให้เขามาเที่ยวอัมพวาเพียงเพื่อสัมผัสภาพลักษณ์ฉาบฉวย แล้วก็กลับไปใช้ชีวิตในเมือง จากนั้นก็หลงลืม แต่หวังอยากให้เขามาเที่ยวเพื่อละเลียด พิเคราะห์ พิจารณาสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งจากธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่”

โจ ทิ้งท้ายอย่างหนักแน่น ราวกับย้ำชัดให้ทั้งตนเองและ “แม่กลอง” ที่ทอดสงบเบื้องหน้าได้รับฟัง และหวังว่าคุณ...เหล่าผู้มาเยือน จะได้ยินเช่นเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น