xs
xsm
sm
md
lg

"One More" ไอศกรีมโฮมเมด นำร่องรสมะยมพร้อมพริกกะเกลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2 พี่น้อง ปัญจรัตน์ กับ นวรัตน์ วงศ์นภาพรรณ เจ้าของธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด “One More”
หลังจากเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่มาหลายปี 2 พี่น้อง ปัญจรัตน์ กับ นวรัตน์ วงศ์นภาพรรณ เจ้าของธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด “One More” จึงเริ่มมองหาโอกาสสร้างธุรกิจของตนเอง และสรุปได้ว่าควรจะเริ่มจากสิ่งที่ชอบ คำตอบจึงออกมาเป็นไอศกรีมซึ่งเมื่อได้ไปตระเวนรับประทานมาทั่วแล้ว ก็อยากที่จะทำในแบบที่ตนเองชอบออกมาบ้าง และเริ่มจากการไปเรียนรู้วิธีการทำเพื่อให้ได้ความรู้และขั้นตอนการทำอย่างถูกหลักสำหรับการที่จะมาทำเป็นธุรกิจ แม้ว่าจะเป็นไอศกรีมแบบโฮมเมดก็ตาม

ในระยะ 1 ปีที่ฝึกฝนฝีมือและเรียนรู้จากหนังสือทั้งของไทยและต่างประเทศ แล้วเริ่มด้วยการทำตาม จนเมื่อชำนาญจึงใส่ลูกเล่นของตนเองลงไป และเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจเพราะลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี จากการไปทดลองออกงานแฟร์ตามสถาบันการศึกษา รวมถึง การได้รับเลือกให้ไปร่วมงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้อนรับมิสยูนิเวอร์สในสมัยที่ ....เกลโบวา ได้รับตำแหน่ง ที่จะขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยมีผลไม้ไทยเป็น theme ของงาน เพราะในตอนแรกของการสร้างความแตกต่างในสินค้าได้ใช้ไอศกรีมผลไม้เป็นจุดขาย

การใช้ผลไม้ไทยสร้างความโดดเด่นในตอนเริ่มต้น เพราะแบรนด์ดังทั้งหลายเป็นไอศกรีมที่ทำจากนมและด้วยต้นทุนวัตถุดิบคือผลไม้ไทยมีราคาถูก และมีความหลากหลายเป็นข้อได้เปรียบในการเลือกนำมาใช้ได้มากมาย แต่ในเวลาต่อมาได้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปสู่เด็ก รวมทั้งวัยรุ่นที่ชอบไอศกรีมที่มีส่วนผสมของนม และปัจจุบันได้เพิ่มไอศกรีมโยเกิร์ตขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งให้อยู่ในกลุ่มสินค้าหลัก

สำหรับรสชาติต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมา นอกจากตัดสินใจจากความชอบส่วนตัวแล้ว ยังปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ด้วย เหมือนกับมองว่าธุรกิจนี้ลูกค้ามีส่วนเป็นเจ้าของด้วย เพราะเป็นคนช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ และช่วยในการตัดสินใจ ไม่ได้มองว่าเป็นเพียงแค่ผู้ขายกับผู้ซื้อเท่านั้น

"คอมเม้นท์หลายๆ เรื่องของลูกค้าทำให้เราอยู่มาถึงวันนี้ เรานึกขอบคุณลูกค้าตลอด ไอศกรีมหลายๆ รสที่ขายดีในวันนี้ก็เพราะลูกค้าช่วยกันติช่วยกันชม แต่หลายรสที่ลูกค้าแนะนำ เช่น บีทรูท เคยทำลองทำแล้วมีคนชอบน้อยมาก เราก็ทำออกมาไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม การสร้างโอกาสใหม่ๆ ในลักษณะพันธมิตรเริ่มมีเข้ามาบ้าง เช่น เจ้าของเครื่องดื่มจินเจน จ้างให้ทำไอศกรีมจากขิงเพื่อไปจัดงานอีเว้นต์ ซึ่งกลายเป็นไอเดียให้คิดว่าควรจะใช้ความได้เปรียบจากการเป็นรายเล็กๆ ทำให้สามารถออกแบบไอศกรีมรสชาติต่างๆ ออกมาเป็นพิเศษแบบไอศกรีมตามสั่ง เพราะรายใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการสั่งซื้อ ในขณะที่ พันธมิตรจะได้ประโยชน์จากการนำสินค้าของเขามาเป็นวัตถุดิบและสร้างความแปลกใหม่ และไอเดียต่างๆ ที่ใช้เป็นการเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้กับลูกค้า เป็นการได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ การสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ด้วยการต่อยอดจากของเดิม คือการนำหม้อดินแบบโบราณมาใส่ท๊อปปิ้งและเพิ่มความหลากหลายฝรั่งโรยบ๊วย และมะม่วงน้ำปลาหวาน จากเดิมที่มีแค่มะยมพริกเกลือ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงของการนำ "หม้อดินโบราณ" มาจัดวางคู่กับ "ตู้ไอศกรีมสมัยใหม่" ซึ่งเป็นภาพที่ขัดกัน และใช้กับการออกงานแฟร์ เพราะเป็นความพยายามเสนอให้เห็นว่าเป็นไอศกรีมของคนไทย และต้องการให้เกิดความสงสัย จะได้มีโอกาสพูดคุย และนำไปสู่การทดลอง ทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาโดยไม่ต้องร้องเรียกให้เหนื่อยทั้งวัน แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่ชอบในรสชาติหรือท๊อปปิ้งที่ใส่ก็ตาม แต่ทำให้เกิดการจดจำ

อย่างไรก็ตาม จากนำไปออกงาน ThAIFEX 2008 และอีกหลายแห่งตามมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับดี โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงผู้ใหญ่ เพราะเป็นความแปลกแบบไทยที่คนไทยคุ้นเคย วิธีการแบบนี้เหมือนยกห้องแล็ปไปหาลูกค้าและบางครั้งเป็นการนำสูตรหรือไอเดียจากลูกค้ามาเข้าห้องแล็ปจริงๆ เพราะเมื่ออยู่กับลูกค้าจะเปิดรับอย่างมาก ทำให้ได้ข้อมูลดีๆ เสมอ

ด้วยการสำรวจจากลูกค้าโดยตรงทำให้รู้ความต้องการได้อย่างชัดเจน และลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกค้าประจำ จึงช่วยประเมินความต้องการของตลาดและการตัดสินใจเลือกผลิดได้อย่างดี ซึ่งการวางตำแหน่งสินค้าไว้ที่ระดับพรีเมี่ยม มุ่งกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนเพราะต้นทุนสูงโดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้อย่างเข้มข้น แต่ราคาที่ตั้งไว้ระดับ 30-35 บาทต่อถ้วย ซึ่งไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพและความแปลกใหม่ที่นำเสนอ เพื่อต้องการให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า

แม้ว่าในปัจจุบันต้นทุนต่างๆ จะเพิ่มขึ้น แต่ไม่คิดจะปรับขึ้น เพื่อต้องการสร้างตลาดให้เติบโตในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่ปรับตัวด้วยการปรับขนาดและรูปแบบเป็น "mini waffle" เพื่อขายในราคา 20 บาท ทำให้เกิดการทดลองและตัดสินใจจ่ายง่ายขึ้น ซึ่งในที่สุด ลูกค้ามักจะกลับมาซื้อครั้งต่อไปในขนาดปกติเพราะติดใจในรสชาติ

ปัจจุบันไอศกรีมวันมอร์มีรสชาติที่ขายได้เตรียมไว้ 50 รสชาติ โดยมีรสชาติที่ขายดีกว่า 30 รสชาติ และมุ่งเน้นการสร้างสรรค์รสชาติและการนำเสนอแบบใหม่ๆ เป็นจุดขายที่โดดเด่นและแตกต่างอยู่ตลอด เช่น ล่าสุดกำลังทดลองสินค้ากลุ่มขนมไทย เช่น ไอศกรีมกล้วยบวชชี และจะใช้ใบตองเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อฉีกแนวจากเดิมและสร้างความสนุกให้ผู้บริโภค

๐ สร้างชื่อ 'One More' เจาะช่องทางสร้างอนาคต

แม้ว่า "One More" เพิ่งจะเริ่มสร้างแบรนด์เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ด้วยชื่อที่เรียกง่าย จำง่าย และมีความหมาย รวมทั้ง สโลแกน "one never enough" หรือหนึ่งเดียวไม่เคยพอ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากที่เคยใช้ชื่อ “Cheery” ซึ่งแปลว่าร่าเริง แต่เมื่อใช้จริงกลับยากที่จะจำและเมื่อเขียนออกมารู้สึกกวนสายตา คนทั่วไปมักจะอ่านมาเชอร์รี่เพราะคุ้นกว่า ไม่ค่อยมีใครอ่านว่าเชียรี่ หลังจากใช้ว่า 2 ปี ลูกค้ายังจำชื่อไม่ค่อยได้ จึงเริ่มคิดเปลี่ยนและเมื่อไปปรึกษาที่บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย ทำให้ได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนจึงตัดสินใจเปลี่ยนและช่วยกันคิด จนได้ชื่อใหม่

ในส่วนโลโก้ของ One More ยังมีความหมายได้หลายอย่าง อย่างแรกความหมายว่าที่หนึ่งและการใช้เลขหนึ่งไทยเพื่อแสดงความเป็นไทย อย่างที่สองเป็นสัญลักษณ์ให้นึกถึง scoop กลมๆ ที่ตัดไอศกรีม และอย่างที่สามมองได้เหมือนกับมือของนางกวัก และสีที่ใช้ตั้งใจจะเปลี่ยนไปตามความคิดสร้างสรรค์ แต่สีหลักที่ใช้ในตอนนี้คือสีเหลืองทอง เพื่อสื่อความเป็นสิริมงคล ทำให้รู้สึกน่ากิน และนำไปใช้กับสีอื่นๆ ได้ง่าย
ไอศรีมจากผลไม้ไทยๆ พร้อมพริกกะเกลือเคียงข้าง
เมื่อสรุปเรื่องชื่อใหม่ได้ลงตัว ประกอบกับโอกาสในการสร้างพันธมิตรใหม่ที่เริ่มมีเข้ามามากขึ้น ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถขยายช่องทางจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้นจากฐานเดิมเน้นร้านอาหารและฟิตเนส จะเพิ่มไปในแหล่งท่องเที่ยว เพราะเป็นช่องทางที่เหมาะสมและมีแนวโน้มดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวพร้อมจะจับจ่ายและทดลองของใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถวางจำหน่ายไปได้ 10 กว่าแห่ง และมีแนวโน้มดีขึ้นจากที่ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและงานแสดงสินค้าใหม่ๆ

นอกจากการขยายไปในช่องทางใหม่ เช่น ร้านกำปั่นซึ่งอยู่ที่ตลาดน้ำอัมพวาซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมมาก การที่พนักงานขายช่วยโปรโมทสินค้าทำให้สินค้าได้รับความสนใจมากขึ้นและได้ลูกค้าเพิ่ม ส่วนการที่ยังไม่เปิดร้านของตนเองนั้น ยังไม่มีความพร้อม เพราะมองว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงหากต้องการเข้าไปในทำเลที่ดีเพื่อสร้างชื่อและยอดขาย แต่การใช้วิธีออกงานแฟร์ทำให้ได้สัมผัสกับลูกค้าที่หลากหลายกว่าและไม่ต้องใช้เงินทุนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น