xs
xsm
sm
md
lg

‘สวนผักน้ำ’ เสิร์ฟสุขภาพอิ่มเพื่อคนเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายหน้าร้าน
นับถึงวันนี้ร้าน “สวนผักน้ำ” เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้รักสุขภาพ ด้วยเสน่ห์ภายในร้านจะมีแปลงผักไฮโดรโพนิคส์ (Hydroponics) ปลูกเป็นแนวเรียงรายไว้บริการลูกค้าได้ทันที ผักที่นำมาทำเมนูจึงรับประกันได้ถึงความสดสะอาด โดยผู้อยู่เบื้องหลังร้านนี้ คือ พีระพล เผ่าทองสุข และภรรยา ซึ่งแรงบันดาลใจ แค่อยากปลูกผักชนิดนี้ไว้กินเอง พร้อมแบ่งปันคนรอบข้างได้รับในสิ่งดีเพื่อสุขภาพเช่นกัน

พีระพล เผ่าทองสุข
ร้าน “สวนผักน้ำ” อยู่ที่ถนนสุคนธสวัสดิ์ มีพื้นที่รวม 1 ไร่ ส่วนใหญ่จะใช้ทำแปลงผักไฮโดรโพนิคส์ ขณะที่ตัวร้านขนาดกะทะรัด มีเพียง 6-7 โต๊ะเท่านั้น นับอายุตั้งแต่จุดเริ่มต้นกว่า 10 ปีที่แล้ว

พีระพล เผ่าทองสุข เล่าว่า ส่วนตัวทั้งเขาและภรรยากินผักไฮโดรโพนิคส์มาก่อนอยู่แล้ว ซึ่งเวลานั้น ผักชนิดนี้ยังเป็นของใหม่สำหรับคนไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 บาท ประกอบกับมีโอกาสเห็นวิธีปลูกในต่างประเทศ พบว่าไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความเอาใจใส่ จึงเกิดแรงบันดาลใจ จะทำสวนเพื่อปลูกกินเองและแบ่งให้คนใกล้ชิด ไม่ได้คิดจะทำเชิงธุรกิจแต่อย่างใด โดยควักเงินส่วนตัวกว่า 3 ล้านบาท ทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้
แปลงผักไฮโดรโพนิคส์ ในร้าน
“พอเกิดความคิดอยากทำ ผมก็ทำเลย ไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะไปขายใคร หรือคุ้มค่าไหม เพราะเราแค่อยากเรียนรู้ เพื่อมีสวนผักของตัวเอง ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ ผมมีเพื่อนสนิทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ประกอบกับมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา รวมถึง ไปดูงานในต่างประเทศ แต่โดยสรุปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ตรง และเชื่อในข้อเท็จจริง ซึ่งหาไม่ได้ในตำรา คนที่เรื่องจบปริญญาโทมาโดยตรงก็ไม่สามารถทำได้” พีระพล เผย

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ใช้สั่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยคัดเลือกมา 8 สายพันธุ์ที่เหมาะจะปลูกในประเทศไทย เช่น เรดคอรัล กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักกาดคอส เป็นต้น กว่าจะสำเร็จได้ตามต้องการใช้เวลานับปีทีเดียว ผลผลิตที่ได้นอกจากกินเอง และแบ่งปันคนใกล้ชิดแล้ว จะบรรจุใส่ซอง พร้อมน้ำสลัดสูตรทำขึ้นเอง ขายแค่ชุดละ 30 บาท ที่หน้าสวน และศูนย์อาหารในองค์กรที่พีระพลทำงานประจำอยู่ ซึ่งไม่ได้คาดหวังกำไรเช่นกัน แค่มีแนวคิดอยากให้คนอื่นๆ ได้กินผักคุณภาพดี ในราคาไม่แพง
ภายในร้าน มีโต๊ะนั่งไม่กี่ตัว
“ช่วงแรก ต่อวันขายได้แค่ 10-50 ซอง ถ้าผมคิดทำในเชิงธุรกิจไม่มีทางอยู่ได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในสวน ก็เอาเงินเดือนประจำมาโปะ แต่หลังจากวางขายสักระยะ โดยเราไม่เคยไปโฆษณาอะไรเลย ยอดขายก็เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง มีร้านอาหารต่างๆ ขอสั่งซื้อวัตถุดิบผักเข้ามา” เจ้าของร้าน ระบุ

ไม่แค่นั้น จากกระแสบอกต่อ และกระแสรักสุขภาพ ทำให้มีคนทั่วสารทิศ เดินทางมาขอชิมผักไฮโดรโพนิคส์ถึงขนาดต้องเข้าคิวรอ จนเจ้าของธุรกิจทั้งสองต้องยอมทำตามเสียงเรียกร้อง เปิดเป็นร้านอาหาร เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อบริการทุกคนได้ทั่วถึง ซึ่งเมนูในร้าน ก็เป็นเมนูที่ทำกินเองบ่อยๆ อยู่แล้ว เช่น จำพวกพาสต้า และสลัดผัดราดหน้าต่างๆ รวมประมาณ 10 รายการ ประกอบกับน้ำผลไม้ อย่างผักเขียวปั่น , บีทรูท-เสาวรส เป็นต้น ซึ่งราคาเทียบแล้วยังถูกร้านอาหารดังๆ ทั่วไป ขณะที่คุณภาพความสดใหม่เหนือชั้นกว่ามาก
เมนูสลัด
เสน่ห์ของร้าน “สวนผักน้ำ” ที่ใครมาก็ต้องประทับใจ คือ แปลงผักไฮโดรโพนิคส์ที่ปลูกเป็นแนวเรียงรายภายในร้าน จะเก็บผักสดๆ ทุกเช้า ไว้พร้อมบริการทันที ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำที่ใส่ใจเลือกสินค้าคุณภาพให้แก่ตัวเอง

พีระพล เผยว่า ปัจจุบัน ต่อวันมีปริมาณใช้ผักกว่า 70 กิโลกรัม ส่วนยอดขายแบบซองกว่า 300 ซองต่อวัน มีเงินหมุนเวียนในร้าน 4-5 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งจริงๆ แล้ว ความต้องการของตลาดมีมากกว่านี้ แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักจริงๆ ไม่ได้มุ่งหวังกำไรตัวเงินเป็นอันดับหนึ่ง จึงไม่คิดจะขยายหรือลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้กำไรงอกเงยมากขึ้น เพราะกำไรที่แท้จริงสำหรับเขา คือ ได้เห็นลูกค้ามีความสุขเมื่อได้ชิมผักคุณภาพดี

บรรจุซอง
“ทุกวันนี้ ผมพยายามบีบไม่ให้มันโตจนเกินไป ขอแค่รับผิดชอบส่งร้านอาหารที่จำเป็นต้องใช้ผักของเราจริงๆ กับบริการลูกค้าที่ตั้งใจมากินที่ร้านให้เพียงพอเท่านั้น ถ้ามียอดสั่งจากรายใหญ่ๆ ผมจะปฏิเสธเลย เพราะผมกับภรรยามีกันแค่สองคน ลูกก็ไม่มี เงินมีมากเกินไปก็ไม่รู้จะใช้อะไร ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ผมจึงเน้นดำเนินชีวิตให้สมดุล อยู่บนทางสายกลาง มีกิน มีใช้พอประมาณ ไม่โลภ กำไรที่ได้ส่วนหนึ่งก็ไปทำบุญ ส่วนความสำเร็จในวันนี้ ก็ถือเป็นตำนานชีวิตที่ผมและภรรยาจะเก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวตลอดไป” พีระพล กล่าวทิ้งท้าย

********* *************

รู้จักผักไฮโดรโพนิกส์
"ไฮโดรโพนิกส์" (Hydroponics) เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้วัสดุปลูก คือ จะปลูกพืชลงบนสารละลายธาตุอาหารพืช ให้รากพืชสัมผัสกับสารอาหารโดยตรง ตามรากศัพท์เดิมมาจาก ไฮโดร (Hydro) แปลว่าน้ำ และ โพโนส (Ponos) แปลว่า งาน รวมความคือ วอเตอร์-เวิร์คกิ้ง (Water-working) หมายถึงการทำงานของน้ำที่มีสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช ซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารพืช ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชให้ดี

ข้อดี เป็นระบบที่ให้ผลผลิตสะอาด เนื่องจากไม่มีการใช้ดิน สามารถลดขั้นตอนการทำความสะอาดที่ทำให้ผลผลิตต้องโดนน้ำและมีโอกาสเน่าเสียได้ สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ ทว่า มีข้อเสียต้นทุนสูง สิ้นเปลืองพลังงาน และจำเป็นต้องใช้ความชำนาญในการดูแล


**** คลิกเพื่อดู แผนที่ไปร้าน "สวนผักน้ำ"
กำลังโหลดความคิดเห็น