xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ เอพีต้องต่าง...ถ้าเหมือนคนอื่นเราไม่ทำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มองไปรอบตัวตอนนี้มีแต่ความวุ่นวาย ข้าวของแพงไปซะทุกอย่าง หันมามองอสังหาริมทรัพย์ไม่รู้ว่าจะชะลอหรือยังไปได้ แต่ละค่ายไม่มีใครกล้าฟันธง แต่ที่แน่ๆระวังตัวแจ เตรียมรับทุกสถานการณ์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุควิกฤตพลังงานโจทย์ยากยิ่งของผู้บริหาร คือการบริหารต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนก่อสร้างไม่ให้บานปลายเกินกว่าราคาที่ขายไป นอกจากนี้สิ่งที่ยากที่สุดอีกประการคือ การทำการตลาด เดิมที่ก็ว่ายากแล้วยุคข้าวของแพงยิ่งยากเป็นหลายเท่าตัว

หากจะกล่าวถึงนักการตลาดระดับแถวหน้าในวงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเราคงไม่มีใครไม่รู้จัก วิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอพี ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเอพีให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าในวงการอสังหาริมทรัพย์ จากที่มียอดขายไม่กี่พันล้านจนทุกวันนี้เอพีมียอดขายเตะระดับ 15,000 ล้านบาท/ปี

ตามมาดูกันว่าวิษณุและเอพีเค้าทำงานกันอย่างไร

วิษณุเล่าความเป็นมาว่า สงสัยดวงจะถูกกับธุรกิจที่ดิน ทำงานกับธุรกิจที่ดินมาตลอดและแต่ละบริษัทมีความกว้าหน้าทั้งนั้น นับตั้งแต่จบปริญญาโท MBA จากธรรมศาสตร์ในปี 2526 ได้เข้าทำงานกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จนถึงปี 2531 ขณะนั้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์มีแผนที่จะนำบริษัทลูก คลอลิตี้ เฮ้าส์ หรือ คิวเอ้าส์ เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จึงให้ผู้บริหารและพนักงานบางส่วนย้ายเข้าไปวางรากฐานให้คิวเฮ้าส์ จึงได้ย้ายไปอยู่คิวเฮ้าส์ในปี 2532 ถึงปี 2541 เท่ากับว่าทำงานให้กับกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 15 ปี สมัยนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงได้ลาออกไปทำงานให้กับบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ อีก 5 ปี

จนกระทั้งในปี 2548 คุณตี๋ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ได้ทาบทามให้มาช่วยงานที่เอพี จึงตอบตกลง ในช่วงแรกๆ เอพี ทำอะไรออกมาก็ขายได้หมด จนกระทั้งมีอยู่ช่วงหนึ่งขายแล้วเหลือเอพีเลยต้องการนักการตลาดเพื่อมาระบายสินค้า ในปี 2547 เอพีมียอดขาย 3,800 ล้านบาท พอปี 2548 มียอดขาย 7,000 ล้านบาท ปี 2549 ทำได้ 8,000 ล้านบาท และปีที่แล้วมียอดขายสูงถึง 15,000 ล้านบาท มันเป็นการเติบโตที่น่าภูมิใจ

“การทำงานเริ่มตั้งแต่ซื้อที่ดิน บางแปลงต้องไปกับคุณพิเชษฐ วิภวศุภกร กรรมการผู้จัดการ และมาคิดกันว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง บางแปลงต้องไปดูตอนเช้าและหัวค่ำ ช่วงที่คนออกทำงานและกลับเข้าบ้าน นั่งกินข้าวกินน้ำแถวนั้นดูว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของคนแถวนั้นเป็นยังไง แล้วจะนึกออกเองว่าเราจะทำอะไรกับที่ดินแปลงนั้น หรือถ้าซื้อมาแล้วก็จะมาช่วยกันคิดว่าทำอะไรแล้วขายได้”

“โจทย์ของเราชัดเจน เราต้องมีความแตกต่าง เอพีต้องมีอะไรที่แตกต่างจากตลาด ถ้าเราเหมือนคนอื่นเราจะไม่ทำ” นั้นเป็นหัวใจหนึ่งในการทำงานของเอพี ที่ทำให้คู่แข่งในตลาดต้องคอยจับตามองว่าเอพีจะก้าวไปทางไหน สิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์และทำให้เอพีแตกต่างจากคู่แข่ง เริ่มตั้งแต่ ทาวน์เฮาส์ ในคอนเซ็ปต์ เมืองใหญ่หรือ Big Citty ทาวน์เฮาส์ในยุคคลาสสิก ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ หลังจากนั้นก็จะเริ่มเห็นทาวน์เฮาส์หลายโครงการหน้าตาคลายกับเอพี

เมื่อมีคนทำตาม เราก็จะต้องเปลี่ยนใหม่ เอพีจะคิดแบบบ้านใหม่อยู่ตลอด และต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปีละอย่างน้อย 1 แบบตอนนี้เอพีกำลังซุ่มออกแบบทาวน์เฮาส์ใหม่ล่าสุด คาดจะได้ออกมาอวดโฉมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตอนนี้เทรนด์คลาสสิกเริ่มตกกระแส เทรนด์โมเดิร์นเริ่มมา ปีที่แล้วเอพีทำห้องเพนเฮาส์ชั้นบนสุดของทาวน์เฮาส์ลูกค้าถูกใจมาก มันโดน ส่วนคอนโดมิเนียมของเอพีก็เช่นเดียวกัน จะเห็นรูปแบบใหม่ที่ LIFE@MRT รัชดา

การทำงานที่ต้องอาศัยความแตกต่าง ความบรรเจิด ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาสิ่งสำคัญเราต้องสนุกกับงาน ทำให้ช่วงเวลาทำงานคือการรีแรกซ์ เมื่อเราสนุกมีสมาธิกับสิ่งๆเดียวคิดอะไรก็จะมุ่งทำอย่างนั้นอย่าวอกแวก คิดเป็นอย่างๆ เป็นเรื่อง แล้วมันก็จะปิ้งขึ้นมาโดยไม่บอกกล่าว

สมัยเรียนวิษณุเล่าว่าเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ โปโลน้ำ จนได้เป็นตัวแทนไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัย โปโลน้ำเป็นกีฬาที่เลี้ยงเดี่ยวไปทำประตูไม่ได้ ต้องอาศัยทีมเวิร์ค นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ได้มาจากกีฬาเอามาใช้กับการทำงานเราทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีคนอื่นร่วมกันทำและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า

ด้วยการทำงานที่เป็นกันเอง อารมณ์ดี พนักงานทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ไม่จำเป็นต้องมานั่งนัดประชุมให้เสียเวลา งานบางอย่างพูดคุยกันแค่ 5-10 นาทีก็สามารถลงมือทำได้เลย บางครั้งลูกน้องเค้าแค่ต้องการปรึกษาว่าสิ่งที่เค้าคิดดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ก็เข้ามาปรึกษาได้เลย ผู้บริหารคนอื่นของเอพีก็เป็นแบบนี้ ทำให้ลูกน้องกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าที่จะนำเสนอความคิดของเค้า

เอพีจะมีทีมงาน 3- 4 ทีมที่คิดอะไรใหม่โดยเฉพาะ เราจะจัดแทรนด์เนอร์ มาฝึกให้รู้จักคิด ไม่ใช้คิดพัฒนาจากของเดิมเพราะสิ่งเดิมต้องพัฒนาไปข้างหน้าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คิดต้องเป็นสิ่งใหม่จริง ทั้งองค์กรต้องช่วยกันคิด ไม่ใช่คิดคนเดียว

เมื่องานส่วนใหญ่ต้องการไอเดีย ความต่าง แนวคิดแปลกใหม่ ซึ่งบางครั้ง บางอย่างเรามองข้าม เมื่อหลายคนช่วยกันคิดก็จะเกิดไอเดียได้ เมื่อองค์กรต้องการก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ ต้องเริ่มจากพนักงานทุกคน และนี่เป็นอีกก้าวสำคัญที่เอพีต้องการปรับโฉมองค์กรภายในใหม่ งานนี้คุณตี่ยอมทุ่มเงินเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสำนักงานใหม่หลุดจากกรอบเดิมที่มีมากว่า 10 ปี รวมไปถึงการวางระบบคอมพิวเตอร์ใหม่

พนักงานได้ทำงานในที่เก่าแต่บรรยากาศที่เปลี่ยนไป กับรูปโฉมใหม่ของเอพี และเรามารอดูกัน และขอให้กำลังใจเอพี ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ที่อยู่อาศัยใหม่ๆ รูปแบบการตลาดใหม่ออกมาสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์บ้านเราก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น