xs
xsm
sm
md
lg

“อัญชลี”ทิ้งเก้าอี้นายกฯ อบจ.ภูเก็ต - ปัดเอี่ยวที่ดินเช่า อบจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อัญชลี วานิช เทพบุตร” ทิ้งเก้าอี้นายกฯ อบจ.ภูเก็ตก่อนครบวาระ 13 วัน แจงไม่เกี่ยวเรื่องร้องเรียนมีเอี่ยวเช่าที่ดิน อบจ.ของบริษัทเจียรวานิช แต่เป็นเวลาที่เหมาะสม กันไม่ให้เป็นที่ครหา

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือออกจากการเป็นนายก อบจ.ภูเก็ตก่อนครบวาระ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้มีผลวันนี้ (1 มี.ค 51)

นางอัญชลีให้เหตุผลในการลาออกในครั้งนี้ว่า เนื่องจากเป็นเวลาที่เหมาะสม โดยเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งอีกประมาณ 12-13 วัน ซึ่งจะครบวาระในการดำรงตำแหน่งในวันที่ 13 มีนาคม 2551 นี้

นางอัญชลี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติที่จะส่งตนลงสมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต ซึ่งจะมีการเลือกตั้งกันในเร็วๆ นี้ ในนามพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ดังนั้นเมื่อตนลาออกจะได้ใช้เวลาในช่วงที่เหลือเพื่อจะได้หาเสียงได้อย่างเต็มที่ และจะได้ไม่ถูกข้อครหาใด รวมทั้งในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็จะต้องไปช่วยสมาชิกพรรคซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในการหาเสียงด้วย

ต่อข้อถามว่าการลาออกครั้งนี้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ จ.อ.สรนันท์ เสน่ห์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ตได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีที่มีหุ้นในบริษัทเจียรวานิช จำกัด ซึ่งได้มีสัญญาเช่าพื้นที่ของ อบจ. ก่อนหน้านี้หรือไม่ นางอัญชลี กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพราะที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้แล้วและผลก็ออกมาแล้วซึ่งก็คณะกรรมการมีมติให้ผ่าน

ขณะที่นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้รับหนังสือแจ้งลาออกและลงรับเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ท้องถิ่นจังหวัด และให้ท้องถิ่นจังหวัดเสนอเรื่องดังกล่าวในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ หลังจากนั้นจะแจ้งให้ กกต.ทราบเป็นลำดับไป โดยหนังสือลาออกนั้นได้ระบุว่าขอลาออกก่อนครบวาระ โดยได้รับเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค 2547 และจะครบวาระ 13 มี.ค 2551

สำหรับนางอัญชลี วานิช เทพบุตร ก้าวสู่ถนนสายการเมือง หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านกฎหมายพาณิชย์นาวี จากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา มาทำงานอยู่ที่บริษัท เจียรวานิช จำกัด อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีการยุบสภาในวันที่ 29 เมษายน 2531 ได้ตัดสินใจก้าวสู่การเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ภูเก็ต ในนามพรรคประชาชน โดยการชักนำของนายวีระ มุสิกะพงศ์ ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จากผู้สมัครทั้งหมด 9 คน โดยพ่ายให้กับนายเรวุฒิ จินดาพล จากพรรคชาติไทย

หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยแรกในนามพรรคประชาชน นางอัญชลีตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งสมัยต่อมา และได้รับเลือกเป็น ส.ส.มาโดยตลอด

จนถึงการเลือกตั้งนายกอบจ.สมัยที่ผ่านมา อัญชลีได้ถูกคัดเลือกจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.ภูเก็ต ในนามของพรรค แข่งกับนายวิสุทธิ สันติกุล จากกลุ่ม อบจ.ก้าวใหม่ สามารถเอาชนะกลุ่ม อบจ.ก้าวใหม่นำลูกทีมเข้าสู่สมาชิก อบจ.ภูเก็ตได้เกือบยกทีม

การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 มีข่าวสะพัดออกมาตลอดว่าอัญชลีจะทิ้งเก้าอี้นายก อบจ.ภูเก็ตเพื่อลงสมัครรับเลือก ส.ส.โดยในการเลือกตั้ง อบจ.ภูเก็ตสมัยที่จะถึงนี้จะส่งนายทศพร เทพบุตร สามีรักษาเก้าอี้แทน แต่ในที่สุดนางอัญชลีก็ยังคงเหนียวแน่นกับเก้าอี้นายก อบจ.ภูเก็ต ส่งนายทศพร และนายเรวัต อารีรอบ ลงสมัคร ส.ส.ภูเก็ต

ระหว่างที่บริหาร อบจ.ภูเก็ตและการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยที่ผ่านมา นายสรนันท์ เสน่ห์ ผู้สมัครจากพรรคชาติไทย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนางอัญชลีว่าเข้าไปมีผลประโยชน์ในบริษัทเจียรวานิช ที่เช่าที่ดิน อบจ.ภูเก็ตพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการในระดับจังหวัดได้ตัดสินแล้วว่าไม่ขัดกับกฎหมาย โดยขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนให้กฤษฎีกาตีความ หากกฤษฎีกาตีความว่าผิดตามที่ร้องเรียน นางอัญชลีจะต้องเว้นพรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตต่อนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2551 ก่อนครบวาระเพียง 13 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น