xs
xsm
sm
md
lg

เขมรบิดเบือนแผนที่ไทย ตุกติกเอกสารมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลกัมพูชาได้พยายามชี้ให้คณะกรรมการมรดกโลก เห็นว่า ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นของกัมพูชาอย่างไร้ข้อกังขา โดยอ้างการตัดสินของศาลโลก ซึ่งได้ใช้แผนที่ของฝรั่งเศส เมื่อปี 2450 เป็นหลักฐานชี้ขาด

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาได้พยายามลดความน่าเชื่อถือต่อการกล่าวอ้างของอธิปไตยเหนือดินแดนพระวิหารของประเทศไทยอย่างตั้งใจ

รัฐบาลกัมพูชาได้จงใจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ว่า ประเทศสยามได้ยื่นคัดค้านเรื่องนี้ต่อศาลโลกมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2505 หรือประมาณ 1 เดือน หลังจากมีการตัดสินในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยกปราสาทพระวิหารให้ตกเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา

เหตุการณ์ดังกล่าวมีเอกสารเป็นหลักฐานครบถ้วน รวมแผนที่ประกอบที่ฝ่ายไทยใช้สันปันน้ำเป็นแนวเส้นพรมแดน

ในขณะที่นำเสนอกระบวนการ วิธีการ และผลการตัดสินของศาลระหว่างประเทศ และนำเสนอแผนที่ฉบับฝรั่งเศสที่มีการนำออกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2451 แต่ทางการกัมพูชากลับพยายามลดความน่าเชื่อถือของแผนที่ประกอบอีกแผ่นหนึ่งที่ไทยจัดทำขึ้น

แผนที่ฉบับดังกล่าวถูกบรรจุเอาไว้ในหน้าที่ 9 ของเอกสารข้อเสนอขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยใช้คำบรรยายใต้ภาพว่า เป็นแผนที่ที่ฝ่ายไทยจัดทำขึ้น “เมื่อเร็วๆ นี้”

แต่ข้อเท็จจริง ก็คือ แผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชานำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกนี้เป็นแผนที่ที่จัดร่างขึ้นใหม่ทำให้เห็นแนวสันปันน้ำชัดเจนขึ้นโดยใช้สีระบายพื้นที่ที่ไทยกล่าวอ้างอธิปไตยรอบๆ เขตที่ตั้งปราสาท

แต่การกล่าวอ้างอธิปไตย ตลอดจนการกำหนดแนวเส้นพรมแดนโดยยึดหลักสันปันน้ำตามหลักสากลนั้นมิใช่สิ่งใหม่ ประเทศไทยได้ยื่นแผนที่แบบเดียวกันนี้ต่อศาลโลกตั้งแต่เดือน ก.ค.2505 หรือ 46 ปีมาแล้ว

การพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจจะส่งผลอย่างสำคัญต่อการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ปราสาทพระวิหารกับดินแดนทั้งหมด อยู่ในเขตอธิปไตยของไทยโดยปราศจากข้อโต้แย้ง และการกล่าวอ้างอธิปไตยของไทยก็เพิ่งจะมีขึ้น “เมื่อเร็วๆ นี้”

เอกสารข้อเสนอขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่ง “ผู้จัดการออนไลน์” ได้รับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นเป็นฉบับปรับปรุงล่าสุดในเดือน มิ.ย.ศกนี้ หลังจากไทยและกัมพูชาได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 มิ.ย. สนับสนุนการขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร

ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลไทยได้ให้การรับรองแผนที่ที่กัมพูชาจัดร่างขึ้นมาใหม่ ประกอบการเสนอจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร แต่กระทั่งบัดนี้ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้เปิดเผยแผนที่ฉบับจริงที่ฝ่ายกัมพูชาจัดทำขึ้น และไม่มีการนำเสนอแผนที่ดังกล่าวในเอกสารที่กัมพูชายื่นเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกแต่อย่างไร

นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้องเก็บแผนที่ดังกล่าวเป็นความลับตามที่ฝ่ายกัมพูชาร้องขอ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในประเทศนั้น

กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาวันที่ 27 ก.ค.นี้ และการหาเสียงอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย.ศกนี้

รัฐบาลกัมพูชาภายใต้สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน (Samdach Akkak Moha Sena Pdei Techo Hun Sen) นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มเจรจากับไทยเรื่องการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในปี 2549 กัมพูชาได้ยื่นเอกสารข้อเสนอฉบับหนึ่งต่อคณะกรรมการมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คณะกรรมการฯ ซึ่งประชุมในประเทศนิวซีแลนด์ได้ตีกลับข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาเนื่องจากยังมีข้อพิพาทเรื่องนี้กับประเทศไทย

ความพยายามจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรเดกโลกได้หยุดชงักไปพักใหญ่ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549

ต่อมาได้มีการเจรจาเรื่องการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง ระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายสมัคร สุนทรเวช ในเดือน มี.ค.ปีนี้ และอีกครั้งหนึ่งรวมทั้งการเยือนของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี กับ นายนพดล ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายไทยไปร่วมพิธีเปิดใช้ทางหลวงเลข 48 เกาะกง-สีหนุวิลล์-พนมเปญ

ทางหลวงสายดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากไทยเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดได้รับอนุมัติในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การเจรจาความคืบหน้ามาเป็นลำดับและอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งฝ่ายไทยได้เปิดทางให้กัมพูชาดำเนินการได้อย่างสะดวกในวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา

คณะกรรมการมรดกโลกกำลังจะเปิดการประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 ก.ค.ศกนี้ ขณะที่ศิลปินและวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งกำลังยื่นคัดค้านเรื่องนี้ต่อสำนักคณะกรรมาธิการการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ในกรุงเทพฯ

เมื่อวันอังคารนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชนที่จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลมาเป็นเวลา 1 เดือน ที่ขอให้การคุ้มครองให้มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว

แต่ในเวลาเช้าวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีของไทยได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศนำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งวันที่ 18 มิ.ย. กลับมาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น