xs
xsm
sm
md
lg

เขาพระวิหาร 2551

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

“ใครที่ไม่รักชาติและจะไม่สามารถรักอะไรได้เลย” เป็นวลีอมตะของ ลอร์ด จอร์จ โนเอล กอร์ดอน ไบรอน (Lord Gorge Noel Gordon Byron)1788-1824 กวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษที่เขียนไว้เพื่อเตือนใจคนอังกฤษและชาติใดชาติหนึ่งย่อมต้องรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งแผ่นดินไว้ให้ได้ การสูญเสียแผ่นดินสามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ถูกรุกรานและยึดครองด้วยอำนาจการเมืองและการทหาร เช่น ปาเลสไตน์ หรืออิรัก ถูกภัยธรรมชาติทำลาย เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหวแผ่นดินทรุดตัวในทะเล หรือเกิดโรคระบาด ซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว หรือถูกซื้อไป เช่น รัสเซีย ขายแผ่นดินอาลาสกาให้กับสหรัฐฯ โดยไม่รู้ว่าใต้แผ่นดินแผ่นน้ำนั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรอันมีค่า เช่น ทองและน้ำมัน ในวันที่ 30 มีนาคม 1867 เมื่อ 141 ปีที่แล้ว โดยนายวิลเลียม เฮช สจวด รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซื้อในราคา7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการยินยอมกันระหว่างสองประเทศ จึงไม่เกิดปัญหาอะไรทั้งสิ้น

และประเภทสุดท้าย ได้แก่ การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลโลก หรืออนุญาโตตุลาการที่ประเทศคู่กรณียอมรับคำพิพากษาให้ครอบครองดินแดนที่เป็นข้อขัดแย้งกัน แต่ก็ย่อมมีความแคลงใจกันอยู่ดี เช่น กรณีเขาปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกตัดสินคดีความระหว่างกัมพูชากับไทย ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 หรือ พ.ศ. 2505 ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา โดยมีผู้พิพากษา 15 คน ตัดสินให้กัมพูชาชนะคดีฟ้องไทย 9 เสียง ได้แก่ ผู้พิพากษา โบดาน วินิอาสกี ปรานศาลโลกชาวโปแลนด์ ผู้พิพากษา ริคาโด อาลฟาโล รองประธานศาลโลกชาวปานามา และผู้พิพากษาตัวแทนจากประเทศฝรั่งเศส อียิปต์ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี ส่วนผู้พิพากษาที่ตัดสินให้ไทยชนะ ได้แก่ ผู้พิพากษาตัวแทนจากประเทศอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จีน และไต้หวัน

เพราะขณะนั้นสหประชาชาติยังไม่ได้รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีผู้พิพากษา 3 คน ที่งดออกเสียงเพราะป่วยเป็นตัวแทนจากกรีซ เม็กซิโก และผู้พิพากษาฟิลิป เจ เจสซัป ศาลโลก หรือ World Court of Justice หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1920 และปัจจุบันมีอายุได้ 88 ปีแล้ว มีหน้าที่วินิจฉัยคดีทางกฎหมายระหว่างประเทศหรือชาติๆ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า บุคคลธรรมดาเสนอต่อศาลโลกไม่ได้ ชาติทั้งหลายจะขึ้นศาลโลกต้องได้รับความยินยอมของชาตินั้นๆ และที่สำคัญยิ่ง คำพิพากษาของศาลโลกถือว่าสิ้นสุด

ศาลโลกมีผู้พิพากษา 15 คน มีการเลือกตั้ง มีวาระคราวละ 9 ปี และการพิพากษาคดีจะต้องมีองค์คณะครบ 9 คน ศาลโลกจะเลือกประธานศาลและรองประธานศาลเอง ส่วนศาลจะนั่งพิพากษาที่อื่นนอกจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้

คดีปราสาทพระวิหารซึ่งตัวปราสาทและแผ่นดินทั้งเขาเป็นของไทยมาแต่โบราณ แต่ประเทศกัมพูชาได้ฟ้องต่อศาลโลกพิจารณาให้ไทยถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะที่ไทยในคำให้การแก้ฟ้องว่าข้อเรียกร้องของราชอาณาจักรกัมพูชาตามที่ระบุในคำร้องเริ่มคดีและในคำฟ้องนั้นไม่มีเหตุผลจะรับฟังได้ และควรที่จะยกเสีย และพระวิหารอยู่ในอาณาเขตไทยและขอร้องต่อศาลด้วยความเคารพให้พิพากษาและชี้ขาด

ดังนั้น ศาลโลกรับฟ้องในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 โดยฝ่ายไทยมีคณะกฎหมายและเทคนิคทางแผนที่รวม 13 คน นำโดย ม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูล เอกอัครราชทูตประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทน และม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เนติบัณฑิตเป็นหัวหน้าทนายความพร้อมด้วยผู้ชำนาญทางกฎหมายจากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และมีพลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล เจ้ากรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคแผนที่

โดยสรุปไทยเสียเปรียบจากสัญญาแบ่งดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสผู้ครอบครองอาณาจักรกัมพูชาอันเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส-อินโดจีน ใน ค.ศ. 1904-1908 หรือ ร.ศ.112 ในรัชสมัยพระปิยมหาราช ขณะที่ไทยใช้หลักความจริงทางภูมิศาสตร์โดยยึดถือหลักสันเขาปันน้ำ แต่ฝรั่งเศสเป็นคนเขียนแผนที่เองเพราะไทยขาดผู้เชี่ยวชาญ และการปักปันเขตแล้วมาลงในมาตราส่วนในแผนที่ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบความผิดพลาดได้เลย ซึ่งแผนที่นี้และคณะกรรมการผสม ค.ศ. 1904 ของไทยไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำแผนที่

ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ทางขึ้นปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย แต่ขณะผู้พิพากษาศาลโลกตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 และประเทศไทยต้องถอนทหารหรือตำรวจที่ถูกส่งไปประจำปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา และมีมติคะแนน 7 ต่อ 5 ให้ไทยต้องคืนบรรดาวัตถุสิ่งก่อสร้าง ศิลปวัตถุที่ระบุไว้ในคำร้องคืนแก่กัมพูชา จึงเป็นอันว่าไทยต้องสูญเสียยอดเขาอันเป็นเป็นที่ตั้งปราสาทวิหารตั้งแต่ พ.ศ. 2505 แต่เขาปราสาทพระวิหารก็ถูกลืมไปจากความสนใจของคนทั่วไปในยุคสงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองเขมร เมื่อเขมรดงยึดครองกัมพูชาจนสงครามเวียดนามและเขมรแดงถูกทำลายลง จึงเริ่มมีการปรับปรุงทางขึ้น และมีคนเริ่มสนใจโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีษะเกษ เนื้อที่ประมาณ 81,250 ไร่ รวมถึงตัวเขาพระวิหารด้วย แต่เมื่อปลาย พ.ศ. 2541 และ 2546 กัมพูชาก็ได้ตัดถนนเข้าไปถึงตัวปราสาทพระวิหารโดยไม่ผ่านเขตไทย

มาบัดนี้เขมรกำลังใช้เล่ห์กลที่จะอาศัยอำนาจสังคมโลกถึงตัวปราสาทพระวิหารโดยจะให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกให้ได้ ด้วยการพยายามเชิญชวนประเทศต่างๆ ร่วมให้ความเห็นชอบและมีการเสริมสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกินจากหลักฐานในศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 และมีการตั้งหน่วยงานราชการกัมพูชาในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในคำตัดสิน พ.ศ. 2505 จึงเป็นการล้ำแดน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการประท้วงไปแล้วว่าด้วยการละเมิดอธิปไตยของไทยตามบันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 และแผนที่ที่เขมรยื่นให้ UNESCO มีการเขียนแผนที่ล้ำเขตไทยอย่างน้อย 2 จุด ตามแหล่งข่าวของกองบัญชาการทหารสูงสุด

ประเด็นที่คนไทยต้องได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ การเปรียบเทียบพื้นที่ที่ศาลโลกตัดสินไปแล้ว เมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 กับแผ่นที่ที่เขมรใช้ส่ง UNESCO ต้องชี้แจงและอธิบายข้อสรุปถึงคำพิพากษา ต้องอธิบายข้อความในบันทึกช่วยความจำ (Aide-Memoire) ประท้วงเรื่องกัมพูชาละเมิดอธิปไตย และละเมิดบันทึกความเข้าใจ-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารโดยแสดงเอกสารการประท้วงทุกฉบับอย่างละเอียดและโดยเร็ว

ดังนั้น ข้อยุติวิกฤตปราสาทพระวิหาร 2551 จะต้องจบลงที่คำพิพากษาของศาลโลกเท่านั้น กรณีปราสาทพระวิหารและไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกศาลโลก

เพื่อให้คนไทยเข้าใจเกี่ยวกับ UNESCO หรือ United Nations Educational โดยเฉพาะเรื่องมรดกโลก หรือ World Heritage นั้น เป็นเรื่องความสมัครใจของสมาชิก UN เท่านั้น มิได้หมายความว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือแล้วถือเป็นการขัดต่อนโยบาย UN

UNESCO สถาปนาหลักการมรดกโลกใน พ.ศ. 2515 โดยคัดเลือกจากสถานที่ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมถึงเมือง ให้เป็นมรดกโลกเพื่อบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติหรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรจะปกป้องสิ่งเหล่านั้น โดยหวังให้ตกทอดไปถึงอนาคตเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ชื่นชม ศึกษา และเก็บรักษาต่อไป

มรดกโลกมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548 เป็นเชิงวัฒนธรรม 6 หลักเกณฑ์ และเชิงธรรมชาติ 4 หลักเกณฑ์ ซึ่งในการนี้ ประเทศไทยมีมรดกโลก 5 แห่ง แบ่งเป็นเชิงวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ บ้านเชียง สุโขทัย และอยุธยา เป็นเชิงธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ ห้วยขาแข้งและดงพญาเย็น หรือป่าเขาใหญ่ ขณะที่เขมรมีแห่งเดียว คือ นครวัด และปัจจุบันมีมรดกโลก 830 แห่งใน 138 ประเทศ และสเปน เป็นประเทศที่มีมรดกโลกมากที่สุด 40 แห่ง

นครเยรูซาเล็ม ดินแดนอาถรรพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สร้างโดยกษัตริย์โซโลมอน โอรสของกษัตริย์เดวิดแห่งชาวยิว เมื่อ 965 ปี ก่อนคริสต์กาล เป็นแหล่งกำเนิดความเชื่อ เป็นเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความทารุณโหดร้าย แห่งสงคราม และการหลั่งเลือดมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสงครามครูเสด ทั้งๆ ที่คำว่า “ซาเล็ม” หรือ Salem ตามภาษาฮิบรู แปลว่า “สันติ” และมีความผูกพันกัน 3 ศาสนา ยิว คริสเตียน และอิสลาม โดยมุสลิมเชื่อว่า องค์พระนามี เสด็จสู่สวรรค์ที่เมืองนี้ แต่นครเยรูซาเล็ม ไม่ได้เป็นมรดกโลกเพระมีการแย่งชิงกันระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน

การที่ได้เป็นมรดกโลกนั้นก็เท่ากับเป็นสมบัติของโลกด้วย ซึ่งสมาชิกจะรับการปกป้อง ดูแล รักษา โดยประเทศเจ้าของได้รับทุนทำนุบำรุง แต่ต้องได้รับความยินยอมของประเทศที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีการโน้มน้าวให้คู่ประเทศตั้งทวิภาคีแบบทัดเทียม เสมอภาค ยุติธรรมในเรื่องผลประโยชน์ และการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน UNESCO

ตั้งแต่เริ่มกรณีมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร เขมรไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้เพื่อสร้างความเสมอภาคและขาดจริงใจในการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่เป็นเจ้าของเพราะสงครามกลางเมือง

อยากจะสรุปว่า เรื่องมรดกโลกไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรที่คนไทยจะต้องไปวิตก เพราะ UNESCO จะต้องถามอยู่ดีว่า คนไทยคิดอย่างไร คนไทยได้อะไร คนไทยมีส่วนรวมอะไร เพราะเขมรเป็นเจ้าของเฉพาะปราสาทวิหารเท่านั้น แต่ปริมณฑลทั้งหมดยังเป็นของคนไทย ทางขึ้นที่สะดวกก็ยังของคนไทย และมาตรฐานการบริหารจัดการในปัจจุบันนี้บนองค์ปราสาทพระวิหารมีลักษณะเป็นอย่างไร UNESCO รู้ดี คนไทยไม่ต้องไปเต้นอะไรกับเส้นตายการประชุมปีละครั้งในเดือนกรกฎาคม ของ UNESCO เพราะมีใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรของไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นปกติ ไม่ว่าปราสาทพระวิหารจะเป็นมรดกโลกหรือไม่ก็ตาม และเขมรได้เฉพาะปราสาทวิหารตามคำพิพากษาเท่านั้น หากกระทำเป็นอย่างอื่น เช่นรุกล้ำดินแดนก็ผิดรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่เคยมีมา และไทยมีสิทธิที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งสมควรตามหลักรัฐศาสตร์และการทหาร เพราะเคยทำกันมาแล้วในยุคเขมรแดงเรื่องอำนาจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น