ผู้จัดการรายวัน-- ไทยได้ตกลงยืดเวลาให้ชาวลาวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายซึ่งคาดว่าจะมีเหลืออยู่ประมาณ 14,000 ให้ทำงานต่อไปได้อีก 2 ปีจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2553 เพื่อให้นายจ้างดำเนินการจดทะเบียนแรงงานให้แล้วเสร็จทั้งหมด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของไทย นางอุไรวรรณ เทียนทอง ได้บอกเรื่องนี้กับคู่ตำแหน่งฝ่ายลาวคือ นางอ่อนจัน ทำมะวง ในนครเวียงจันทน์วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ไทยและลาวได้ร่วมกันเซ็นบันทึกช่วยความจำ (MoU) เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองฝ่าย
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ซึ่งเป็นของทางการนครเวียงจันทน์ จนถึงปัจจุบันมีการพิสูจน์สัญญาติแรงงานลาวในประเทศไทยสำเร็จไปแล้วจำนวนกว่า 56,000 คน ยังเหลืออีกราว 40,000 คน ที่จะต้องพิสูจน์สัญญาติต่อไป จากจำนวนแรงงานชาวลาวในประเทศไทยที่คาดว่าจะมีกว่า 96,000 คน
ในบรรดาแรงงานชาวลาวที่ผ่านการพิสูจน์สัญญาชาติแล้วมีจำนวน 28,316 คน ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย กับอีกประมาณ 20,000 คน ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวจากรัฐบาลลาวให้สามารถเดินทางกลับไปทำงานในประเทศไทยได้
จำนวนที่เหลืออยู่ทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีข้างหน้า สื่อของทางการลาวกล่าว
นางอุไรวรรณ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ของไทยประชุมหารือเรื่องนโยบายแรงงานกับฝ่ายลาวที่มีนางอ่อนจันเป็นหัวหน้าคณะ สองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา ความคืบหน้าและผลการดำเนินการด้านแรงงานระหว่างสองฝ่าย
รัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทยได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามแดนระหว่างสองประเทศ ขณะที่มีแรงงานชาวลาวนับแสนคนลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และชาวไทยจำนวนหนึ่งก็กำลังทำงานในลาวอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกัน
สื่อของทางการลาวรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับผลการสำรวจแรงงานต่างชาติในนครเวียงจันทน์ซึ่งได้พบว่า แรงงานที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่สุดเป็นชาวไทย
ไทยกับลาวได้ร่วมกันเซ็นบันทึกช่วยความจำเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2545 ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานในการจ้างแรงงานเพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านนี้
การประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.นี้สองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในความร่วมมือด้านแรงงานในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาและการดำเนินการกับแรงงานชาวลาวที่ยังทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วย เวียงจันทน์ใหม่กล่าว
สองฝ่ายยังได้ระบุหลายปัญหาในบันทึกช่วยความจำฉบับใหม่ รวมทั้งระเบียบการอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้าทำงานในแต่ละประเทศ การคุ้มครองแรงงานในแต่ละประเทศ การส่งแรงงานผิดกฎหมายกลับประเทศ การดำเนินการต่อการจ้างแรงงานที่ผิดกฎหมาย
ฝ่ายลาวยังได้ขอให้มีระเบียบการเพื่อให้แรงงานฤดูกาลของแขวงต่างๆ ตามแนวชายแดนติดกับไทย ให้สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศไทยได้ และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานในกรณีที่ต้องถูกส่งกลับประเทศ
ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะมีการออกบัตรผ่านแดนเพื่อการทำงานให้แก่แรงงานของทั้งสองประเทศ เพื่อใช้เดินทางผ่านด่านพรมแดนต่างๆ ระหว่างลาวและไทยเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ นอกเหนือจากบัตรผ่านแดนชั่วคราวที่ทั้งฝ่ายออกให้ประชาชนสองประเทศใช้ในการเดินทางเข้าประเทศในระยะเวลาสั้นๆ
"ทังหมดนี้แสดงให้เห็นความเอาใจใส่และเป็นห่วงเป็นใยต่อกำลังแรงงานของรัฐบาลสองประเทศ" สื่อของทางการกล่าว
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว รมว.กระทรวงแรงงานฯ ของไทยได้เข้าเยี่ยมคำนับ พล.ท.ดวงใจ พิจิต รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศลาว เพื่อหารือข้อราชการอีกด้วย
รองนายกฯ ลาวได้ชื่นชมและให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเดินทางมาเยือนลาวของคณะผู้แทนไทยในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและลาว โดยเฉพาะในด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมอีกด้วย ขปล.กล่าว
ไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตกว่าและพัฒนาไปมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการแรงงานอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขนงการผลิตเพื่อส่งออก และแขนงงานเศรษฐกิจเช่นการประมงและอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด มีความต้องการแรงงานต่างชาตินับหมื่นคนในแต่ละปี
ไม่เพียงแต่แรงงานผิดกฎหมายจะสร้างปัญหาให้แก่ไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้แก่ประเทศต้นทางด้วย นอกจากนั้นแรงงานที่ผิดกฎหมายมักจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ จนบางครั้งนำไปสู่โศกนาฏกรรม
สัปดาห์ที่แล้วตำรวจภูธรภูเก็ตได้จับกุมผู้ต้องหารายใหญ่ที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลักลอบขนชาวพม่าข้ามแดนโดยให้หลบซ่อนในคอนเทนเนอร์ห้องเย็นไปกับรถบรรทุกทำให้มีผู้เสียชีวิต 54 คน จนถึงปัจจุบันมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยแล้วรวม 6 คน.