xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกเขมรด่าเช้าด่าเย็นแถมสอนมวย “สมัคร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF> รมว.กระทรวงแถลงข่าวกัมพูชา เขียว กัญฤทธิ์ แถลงอย่างเป็นทางการแบบรายวันเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) โจมตีไทยอีกครั้งหนึ่งต่อหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ -- ขณะที่ฝ่ายไทยตอบ แทบจะไม่ได้เคลื่อนอะไรตอบโต้การกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชานั้น โฆษกรัฐบาลในกรุงพนมเปญ รุกปฏิบัติการทางจิตวิทยาอีกครั้งหนึ่ง ออกป่าวประกาศชาวโลก กล่าวหาว่า ไทยมีเจตนาจะคงทหารเอาไว้บนเขาพระวิหารตลอดไป เพื่อครอบครองแบบปกปัก (de facto occupation)

นายเขียว กัญฤทธิ์ (Khieu Kanharith) รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชา ระบุดังกล่าวระหว่างเปิดแถลงอย่างเป็นทางการกับสื่อต่างๆ ในกรุงพนมเปญ วันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) ขณะที่ยังหวังว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) จะนำกรณีการเผชิญหน้าทางทหารกับไทย เข้าพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งคาดว่า จะเป็นวันจันทร์ (28 ก.ค.)

นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ จะเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยตัวเอง หลังจากส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งเดินทางล่วงหน้าไปแล้วเมื่อวันพุธ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาล

กัมพูชาได้เตรียมภาพถ่ายเกี่ยวกับ “การรุกรานและการยึดครอง” ดินแดนของกัมพูชาโดยทหารไทย ตลอดจนเอกสารจำเป็นต่างๆ พร้อมและได้ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงฯ รวมทั้งองค์การยูเนสโก เรียกร้องให้ทั้งสองหน่วยงานนี้หาทางคลี่คลายปัญหาการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองประเทศ

“เรายังยืนกรานที่จะให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่สถานภาพเดิมก่อนวันที่ 15 ก.ค.2551” นายเขียวกล่าว ซึ่งหมายถึงก่อนที่ทหารไทยจะเคลื่อนกำลังเข้าสู่วัดแห่งหนึ่งบนเนินเขาพระวิหาร เพื่อติดตามชาวไทย 3 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่เขมรจับกุมไปในข้อหา “เข้าเมืองโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง”

ต่อคำกล่าวของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทย ที่ว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังใช้กรณีเขาพระวิหาร เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น และจะเจรจาอีกครั้งหนึ่งหลังเลือกตั้งวันที่ 27 ก.ค.ผ่านพ้นไปนั้น นายเขียว ตอบสวนกลับไปว่า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้งกัมพูชาก็จะยังคงจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
<CENTER><FONT color=#3366FF> ภาพถ่ายวันที่ 17 ก.ค.2551 ทหารเกือกแตะ ประจำการบนปราสาทพระวิหาร ติดอาวุธครบ รอฟังผลการเจรจาระหว่างสองประเทศอีกครั้งหนึ่งอีกไม่กี่วันข้างหน้า  (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันเดียวกัน กัมพูชาได้ยอมถอนคำร้องออกจากที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ เนื่องสมาชิกทั้ง 15 ชาติ มีหลายชาติมีข้อมูลไม่พร้อม ได้รับแจ้งอย่างกะทันหันจากประธานที่ประชุมซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำ UNSC นั่นเอง

ความพยายามของกัมพูชาที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ แทนที่จะเป็นกรณีพิพาทสองฝ่ายกับเพื่อนบ้าน คือ ประเทศไทย ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เห็นด้วย และเห็นพ้องกับท่าทีของไทยที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาค

นายจอร์จ เยียว (Goerge Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งวันพฤหัสบดีนี้ทำหน้าที่ “ประธาน” กลุ่มอาเซียนเป็นวันสุดท้าย ให้สัมภาษณ์ว่า “เร็วเกินไปที่จะนำกรณีพิพาทเข้าสู่สหประชาชาติ”

นอกจากนั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยความมั่นคงระดับภูมิภาคกับอาเซียน หรือ ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งรวมทั้ง นางคอนโดลิซซา ไรซ์ ของสหรัฐฯ ต่างก็เห็นพ้องที่จะให้ไทยกับพูชากลับคืนสู่โต๊ะเจรจาหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ

เมื่อวันจันทร์ กัมพูชาได้ขอร้องให้สิงคโปร์จัดการประชุมนัดพิเศษ เพื่อช่วยหาทางปลดชนวนสถานการณ์ตึงเครียดกับไทย โดยขอให้มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพียง 6 ชาติ คือ กัมพูชา ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว แต่ถูกไทยคัดค้าน
<CENTER><FONT color=#3366FF> นายจอร์จ เยียว ส่งมอบเอกสารให้กับนายสหัส บัณฑิตกุล ผู้แทนจากไทย เพื่อทำหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียนสืบต่อจากสิงคโปร์ รมว.สิงคโปร์กล่าวในวันเดียวกันว่า ยังไม่ถึงเวลา ที่จะนำกรณีพิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทยขึ้นสู่เวลาระดับนานาชาติ (ภาพ: AFP)</FONT></CENTER>
วันอังคาร (22 ก.ค.) รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ จึงได้จัดประชุมหารือวงกว้างอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรได้

“เราจะทำอย่างสุดความสามารถผ่านการเจรจาสองฝ่าย หลายฝ่าย และการเจรจาระดับนานาชาติ เพื่อหาทางปลดชนวนหรือจัดการมิให้การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองประเทศลุกลามบานปลาย” นายเขียว กล่าว

“การก้าวร้าวรุกรานของไทยนั้น หนักหน่วงรุนแรงและข่มขู่คุกคามต่อสันติภาพกับเสถียรภาพในภูมิภาค ละเมิดต่อหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตแดนร่วม” โฆษกกัมพูชากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น