ผู้จัดการออนไลน์-- ขณะที่โฆษกกัมพูชาบอกป่าวกับชาวโลก ว่า สถานการณ์ที่เขาพระวิหารตึงเครียดมาก และร้องขอให้สหประชาชาติจัดประชุมเรื่องนี้เป็นการฉุกเฉิน นายธฤต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวในวันพฤหัสบดี ว่า สถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียด ทหารของสองฝ่ายกันอยู่กันอย่างสงบและยังรับประทานอาหารด้วยกันอีกด้วย
“มันเป็นการเผชิญหน้าทางทหารอย่างสงบ มันเหมือนกับไปปิกนิก พวกเขาพูดคุยกันและรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
สัปดาห์นี้กัมพูชาได้พยายามทำให้กรณีพิพาทเขตแดนกับไทย กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ กลุ่มอาเซียนคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาของสองประเทศและควรจำกัดวงเอาไว้แค่ระดับภูมิภาคนี้
ตอนบ่ายวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) นายเขียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชา ยืนยันรายงาน ที่ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชาจะกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาอีกรอบหนึ่งเร็วๆ นี้ โดยสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรียืนยันว่าได้หารือกับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยแล้ว
“นายกรัฐมนตรีฮุนเซน บอกกับผมด้วยว่าจะถอนเรื่องออกจากสหประชาชาติ” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงพนมเปญอ้างการาให้สัมภาษณ์ของนายเขียว
วันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้ร้องขอไปยังสหประชาชาติ ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ หรือ UNSC (UN Security Council) เปิดประชุมพิจารณาสถานการณ์ตึงเครียดที่ชายแดนกับไทยเป็นกรณีฉุกเฉิน เวียดนามซึ่งเป็นประธานการประชุม ได้บรรจุเข้าวาระประชุมวันพฤหัสบดี แต่สมาชิก 15 ประเทศ มีหลายประเทศไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่พร้อมด้านข้อมูล
ตามรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ เวียดนามได้พยายามเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันศุกร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน จนกระทั่งมีปฏิกิริยาจากกลุ่มอาเซียน ซึ่งทำให้กัมพูชาต้องถอนคำร้องออกไปในที่สุด
เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำ UNSC นายเลเลืองมิง (Le Luong Minh) ซึ่งเป็นประธานการประชุมในเดือนนี้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธ ว่า การพิจารณากรณีตึงเครียดไทย-กัมพูชา อาจจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
นายฌ็อง-มอรีซ์ ริแปร์ต (Jean-Maurice Ripert) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า UNSC จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เพราะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการทหาร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันพฤหัสบดี
เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้สัมภาษณ์ในนครนิวยอร์ก โดยที่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลกัมพูชากำลังจะถอนคำร้องออกไป
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มอาเซียน นายจอร์จ เยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า "ยังไม่ถึงเวลา" ที่จะนำกรณีไทย-กัมพูชาเข้าสู่การเจรจาระดับนานาชาติเพราะเป็นเรื่องสองฝ่าย ที่ควรจำกัดวงให้อยู่ในระดับภูมิภาค
สิงคโปร์ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียนเป็นวันสุดท้าย และได้ส่งมอบเอกสารต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่สืบแทนในวันเดียวกัน
ขณะเดียวกัน สมาชิก 27 ประเทศของกลุ่มประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัย ได้เรียกร้องให้ไทยกับกัมพูชาความอดทนและอดกลั้นอย่างถึงที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
เมื่อวันจันทร์กัมพูชาได้ขอร้องให้สิงคโปร์จัดการประชุมนัดพิเศษเพื่อช่วยหาทางปลดชนวนสถานการณ์ตึงเครียดกับไทย โดยขอให้มีสมาชิกเข้าร่วมเพียง 6 ชาติ คือ กัมพูชา ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ลาว
แต่ไทยคัดค้านคำร้องขอนี้ โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องทวิภาคี และในวันอังคาร รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ ได้จัดประชุมหาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรได้
ท่าทีของไทยที่ต้องการเจรจาเรื่องนี้กับกัมพูชาแบบทวิภาคี ได้รับการสนับสนุนจากจีน รัสเซีย สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย รวมทั้งเวียดนามในที่สุดโฆษกของไทยกล่าวกับรอยเตอร์