xs
xsm
sm
md
lg

"ฮุนเซน" สั่ง "หมัก" รีบแต่งตั้ง รมต.-ยอมถอนฟ้อง UN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- "ฮุนเซน" ต่อสายตรง สั่ง"หมัก" รีบตั้งรมว.ต่างประเทศ แล้วส่งไปเจรจาปัญหาดินแดน ที่กัมพูชา 28 ก.ค.นี้ โดยจะยอมถอนเรื่องจากยูเอ็นให้ ทำให้"หมัก" รีบกุลีกุจอทำตาม หลังจากโยกโย้ โอ้เอ้มานาน "ชลิต"แฉถูกสั่งห้ามพูดเรื่องเขาพระวิหาร ด้านกมธ.วุฒิสภา 6 คณะ แถลงจุดยืน 5 ข้อ ย้ำไม่มีพื้นที่ทับซ้อน มีแต่พื้นที่ของไทย "คำนูณ"จี้รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาก่อนจะเสียดินแดนซ้ำซาก ขณะที่ คก.ปท. แก้ลำเขมร ยื่นปธ.วุฒิ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 3 ฉบับ ทวงคืนมณฑลบูรพา “เตียบัญ” โผล่ชายแดนเขาวิหารให้กำลังใจทหาร ด้านกมธ.กิจการชายแดนฯลงพื้นที่ศรีสะเกษ เผยเขมรถอนกรณีพิพาทไทยจาก UN

เมื่อเวลา 16.50 น. วานนี้ (24 ก.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เดินออกมาจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะให้โอวาทแก่ คณะกรรมการฯ เจ้าหน้าที่และนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 29 ที่เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่ออำลาและรับโอวาท ก่อนเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยนายกฯ ได้กวักมือเรียกช่างภาพและผู้สื่อข่าว พร้อมกับพูดว่า"มานี่ มาใกล้ๆนี่"

"ผมได้พูดโทรศัพท์ กับฯพณฯ สมเด็จเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อสักครู่นี่เอง ตกลงกับท่านว่าวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เสียมเรียบ และท่านตกลงว่า จะยุติกับทางนิวยอร์กให้ ปัญหาของผมคือ จะต้องมีรมว.ต่างประเทศตัวจริงก่อนวันที่ 28 ก.ค.นี้" นายสมัคร กล่าว พร้อมหัวเราะ

ทั้งนี้ภายหลังจากมีกรณีข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้น ทางกัมพูชาได้ส่งหนังสือไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ช่วยคลี่คลายเรื่องนี้ ซึ่งทาง สหประชาชาติ จะพิจารณาข้อเรียกร้องกัมพูชากรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร ในวันนี้ ( 25 ก.ค.)

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าแต่งตั้ง รมว.ต่างประเทศ เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายสมัคร ไม่ตอบ ผู้สื่อข่าวพยามถามย้ำว่า ที่บอกว่าจะยุติ คือ ปัญหาจะไม่บานปลายใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า เขาจะถอนความเห็นของเขาที่นิวยอร์ก

เมื่อถามว่า จะมีการถอนกำลังทหารใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า กำลังทหารเหมือนเดิมๆ เมื่อถามว่า จะเปิดเผยรายชื่อรัฐมนตรีใหม่วันนี้เลยใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า "ใจเย็นๆ เดี๋ยวผมจัดการเอง แต่ต้องหา รมว.ต่างประเทศให้ทัน" เมื่อถามว่าจะคุยกับสมเด็จฮุนเซน เรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ระดับนายกรัฐมนตรี ไม่คุยเรื่องนี้หรอก

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงการตั้งรมว.ต่างประเทศเพื่อไปเจรจาเรื่องเขาพระวิหารแต่สนายสมัครอ้างว่า จะรอไว้แต่งตั้งพร้อมกันกับกระทรวงอื่นๆในวันที่ 28 ก.ค.นี้ เพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯพร้อมกัน

อาเซียนไม่เห็นด้วยที่ยูเอ็นเข้ามาจุ้น

นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กล่าวว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดประชุมในระดับสหประชาชาติ เพื่อยุติปัญหาไทย-กัมพูชาในขณะนี้ โดยเห็นว่าควรมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศก่อน

ทั้งนี้ ไทยยังได้นำคำพูดของ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกฯ และรมว.กลาโหมของกัมพูชา มาชี้แจงต่อประเทศต่างๆว่า การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ครั้งที่ผ่านมายังไม่ได้ล้มเหลว และเชื่อมั่นว่าหลังการเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาเสร็จสิ้น การเจรจาของทั้งสองประเทศจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

นายสหัส ยังยืนยันว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจ อาทิ จีน อเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ได้ให้การสนับสนุนไทยในการเจรจากับกัมพูชา ขณะที่การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงอาเซียน จะมีการประชุมเพื่อลงความเห็นในเรื่องดังกล่าวช่วงเย็นวันนี้ ตามเวลาประเทศไทย

"หมัก" ห้ามทหารพูดเรื่องเขาพระวิหาร

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร จะที่บานปลายเป็นเรื่องระดับนานาชาติ ว่า ทางกองทัพอากาศได้รับหนังสือจากกระทรวงกลาโหม ไม่ให้กองทัพอากาศ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับของรัฐบาล ทหารต้องมีหน้าที่อย่างนั้น เพราะไม่ได้อยู่ในช่วงการปฏิวัติรัฐประหาร

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาปล่อยให้รมว.ต่างประเทศ ดำเนินการจนเสียหาย ทหารจะอยู่เฉย ๆ ต่อไปหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ทหารก็รักชาติ และคำนึงถึงความรักชาติ เราต้องคิดว่าการกระทำอะไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่า จะมีขอบเขตได้แค่ไหน ส่วนกรณีเขาพระวิหาร จะเสนอเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่นั้น เรื่องนี้วิเคราะห์วิจารณ์ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล

6 กมธ.วุฒิสภาแสดงจุดยืน 5 ข้อ

ส่วนที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ของวุฒิสภา 6 คณะ ประกอบด้วย กมธ.ต่างประเทศ , กมธ.การศาสนา คุณธรรมและศิลปวัฒนธรรม ,กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ,กมธ.พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและธรรมาภิบาล โดยมีน.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานกมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตฯ นายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายคำนูณ สิทธิสมาน และหม่อมหลวง ปรียนันทนา รังสิต ร่วมแถลงจุดยืนต่อกรณีปราสาทพระวิหาร โดยน.ส.รสนา กล่าวว่า กมธ.ทั้ง 6 คณะ มีจุดยืนคือ 1.ไม่มี"พื้นที่ทับซ้อน" มีเพียงพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้น ชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ที่สันปันน้ำตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1904 และ1907

2.รัฐบาลจะต้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.51 รวมถึงเอกสารและหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการแถลงการณ์ร่วมทุกฉบับทันที เนื่องจากขัดต่อ มาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

3. คำพิพากษาศาลโลก พ.ศ.2505 ระบุแต่เพียงให้ไทยส่งมอบตัวปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชาเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงเขตแดนไทย-กัมพูชา และไม่ได้ยอมรับแผนที่ฉบับที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว ตามที่กัมพูชาให้เป็นหลักฐาน

4. ในคำพิพากษาศาลโลกไทยได้ยื่นสงวนสิทธิ ที่จะรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ หากมีหลักฐานใหม่สิทธินั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้, เมื่อกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นอกเหนือจากตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทย เราไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะให้คณะกรรมการ 6 ประเทศ เข้ามาจัดการเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาท ที่เป็นดินแดนของไทย

5.ให้มีมาตรการเร่งรัด รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เพิงพักร้าง รวมทั้งป้ายทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารออกจากพื้นที่บริเวณ 4.6 ตารางก.ม. ซึ่งอยู่ในประเทศไทยโดยเร็ว

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติกลุ่ม ส.ว.จะเสนอญัตติ ตั้งคณะกมธ.วิสามัญศึกษาเรื่องปราสาทพระวิหารด้วย

น.ส.รสนา กล่าวว่า คนไทยมักจะพูดถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อน แต่ขณะที่กัมพูชา เขาไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน เขาถือว่าเป็นพื้นที่ของเขา ซึ่งคนไทยจะรู้สึกว่าง่ายๆ สบายๆ เหมือนม้าอารีย์ ยอมทุกอย่างจนไม่มีคอกจะอยู่ อีกหน่อยเขาก็จะรุกเข้ามาเรื่อยๆ และที่หลายฝ่ายสนับสนุนประเทศกัมพูชา เพราะว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์

ดังนั้น วุฒิสภาจะตั้งกมธ.วิสามัญ เพื่อรวบรวมข้อมูลเอกสารทางวิชาการ และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วม หลังจากนั้น เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเรื่องนี้บรรจุเป็นญัตติในสมัยประชุมวิสามัญ อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาจะแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการใช้วิเทโศบาย เพราะต้องการให้มีรัฐบาลที่มีความเข้าใจ และมีเอกภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐบาลกัมพูชาเขามีเอกภาพมากกว่าเรา

หากไทยชักช้าจะเสียดินแดนซ้ำซาก

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า สาเหตุที่ ส.ว.ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าประเทศนี้เหมือนไม่มีรัฐบาลและไม่มีรมว.ต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลพูดถึงเรื่องประสาทพระวิหาร พูดเหมือนฝ่ายกัมพูชาจึงทำให้สถนการณ์เกิดความสับสน และเข้าใจผิด ดังนั้นวุฒิสภาจึงต้องมากระตือรือร้นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้ต้องการมากกว่าที่ศาลโลกพิพากษาว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาในทางปฏิบัติไทยเสียดินแดนอย่างต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ถ้าหากไม่เร่งจัดการอย่างเร่งด่วน จะกลายเป็นว่า ไทยจะเสียดินแดนอีกเป็นครั้งที่ 5 และจะทำให้จุดสิ้นสุดของประเทศไทยอยู่แค่ ผามออีแดง

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าหลังเลือกตั้งในกัมพูชา ทุกอย่างจะคลี่คลายเองนั้น เราจะรอให้สถานการณ์ดีขึ้นเองไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเลือกตั้ง เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปรู้เรื่องของกัมพูชา จึงอยากตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับการเลือกตั้งของกัมพูชา หรือไม่

ยื่นตีความสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส3ฉบับ

ด้านคณะกรรมการแห่งชาติกอบกู้รักษาอธิปไตยของชาติด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย (คก.ปท.) นำโดย พล.ต.ณพล คชแก้ว และนายสมาน ศรีงาม ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้นำกติกาสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 3 ฉบับได้แก่ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904-1907 อนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 และ ข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1946 ขึ้นสู่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ โดยมีนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานกมธ. พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน รับหนังสือแทน

นายสมาน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชา อ้างสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904-1907 กล่าวหาว่าไทยรุกราน และร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ ทั้งที่จริงแล้ว สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไปโดยอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 ซึ่งรัฐสภาไทยให้สัตยาบันรับรอง และได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกับฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา เกี่ยวกับมณฑลบูรพา ซึ่งมีจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงคราม ที่ระบุว่า ไทยเป็นเจ้าของดินแดนดังกล่าว แต่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝรั่งเศส ได้บีบเอาดินแดนดังกล่าวไป โดยทำเป็นข้อตกลง ไทย-ฝรั่งเศส 1946 โดยไม่ผ่านรัฐสภาไทย ดังนั้นข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศส 1946 จึงเป็นโมฆะ และปราสาทพระวิหาร ยังคงเป็นของไทยอยู่ และคำตัดสินของศาลโลก พ.ศ.2505 ก็เป็นโมฆะด้วย เนื่องจากกัมพูชาอ้างสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904-1907 ร้องต่อศาลโลก ทั้งที่เป็นโมฆะไปแล้ว

"การอ้างสนธิสัญญาดังกล่าวของกัมพูชา เป็นการหลอกลวงชาวโลกให้หนุนตัวเองเข้ารุก และปิดล้อมไทย ขณะที่รัฐบาลไทย และกองทัพยังคงหลงยึดสนธิสัญญาตามเขา ทำให้ไทยเป็นผู้พ่ายแพ้ตลอดไป ถ้ายึดอนุสัญญาโตเกียว จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยนำขึ้นฟ้องต่อศาลโลกว่า มณฑลบูรพาที่มี 2 จังหวัดดังกล่าวเป็นของไทย ซึ่งจะทำให้กัมพูชาตกเป็นผู้รุกรานดินแดนไทย แทนที่ไทยจะตกเป็นผู้รุกรานดินแดนกัมพูชา จึงขอให้วุฒิสภานำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตัดสินต่อไป" นายสมานกล่าว

นายวรินทร์ กล่าวว่า เบื้องตนเห็นว่าสนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสมีหลายฉบับ แต่ไทยมักอ้างฉบับที่ไทยเสียเปรียบ ดังนั้น ตนจะนำเรื่องเสนอต่อประธานวุฒิสภาต่อไป หากประธานวุฒิสภา เสนอให้กรรมาธิการศึกษา ก็จะมีการเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เข้าร่วมศึกษา หากข้อเท็จจริงเป็นตามที่กลุ่ม คก.ปท. เสนอมา ก็จะเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยอาจจะต้องไปฟ้องศาลโลกใหม่ เพื่อเอาดินแดนกลับมาให้หมด แต่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ก็จะเรียกมาชี้แจง และสามารถดำเนินการถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การยื่นหนังสือดังกล่าว ทางคก..ปท. ได้นำ 3 คนไทย ที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวมาร่วมยื่นหนังสือด้วย โดยระบุว่า ทางกัมพูชาได้ละเมินสิทธิมนุษยชนต่อ 3 คนไทยดังกล่าว มีการเปลื้องผ้าผู้หญิง ฉุดกระชากลากถู ใช้ไฟฟ้าช็อต เปลื้องจีวรพระสงฆ์ บังคับให้เซ็นยอมรับความผิด ซึ่งทางกลุ่มจะยื่นหนังสือร้องต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมว.ต่างประเทศเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาได้ร้องเรียนปัญหาบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ไทยไม่ควรตื่นตระหนกเพราะแม้ยูเอ็น จะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในวาระ แต่คงไม่พิจารณา หรือมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะตามกฎบัตรของยูเอ็น ถ้ามีปัญหาขัดแย้งในระดับพหุภาคี ต้องหารือกันเองก่อน เว้นแต่จะมีความรุนแรง

จี้ส่งจดหมายยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วม

นายศิริโชค โสภา โฆษกคณะรัฐมนตรี เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชี้แจงกรณีที่มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องบันทึกความเข้าใจ ลงวันที่ 14 มิ.ย.43 โดยอ้างว่า เป็นการเซ็นยอมรับในแผนที่ ที่ทำโดยประเทศฝรั่งเศสนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันข้อเท็จจริงว่า ในข้อ 1 ของบันทึกความเข้าใจโดยสรุป กล่าวว่า "จะร่วมดำเนินการสำรวจ และทำหลักเขตแดนให้เป็นไปตามเอกสารตามสนธิสัญญาในปี คศ.1904 ซึ่งยึดตามเส้นสันปันน้ำ ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ก็ขอให้อ้างอิงถึงแผนที่ของประเทศฝรั่งเศส" จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนขึ้นมาชุดหนึ่งที่มี ประธานร่วมกัน คือ รมช.ต่างประเทศ และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งขณะนี้การดำเนินการของคณะกรรมการปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ

"ผมคิดว่า เป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลในขณะนั้น ที่ไม่อ้างอิงถึงแผนที่ แอล 7017 เพราะเราได้อ้างอิงถึงเส้นสันปันน้ำในสนธิสัญญาปี 1904 ว่าเป็นเขตแดนไว้แล้ว นอกจากนี้ แผนที่ดังกล่าวยังอ้างอิงถึงเส้นเขตแดนที่ผิด เพราะไปเข้าใจว่า มติ ครม. 2505 เป็นเส้นเขตแดน ทั้งๆ ที่เป็นเพียงแนวปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ผมเป็นห่วงกรณีคำแถลงการณ์ร่วมที่แนบท้ายแผนที่ ซึ่งลงนามโดยนายวาร์ คิมฮง ที่ปรึกษาผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 51 ในฐานะประธาน ตามบันทึกความเข้าใจลงวันที่ 14 มิ.ย. 43 แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีผลบังคับ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่ก็ยังมีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศอยู่ดี รัฐบาลต้องรีบทำจดหมาย ยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปที่ประเทศกัมพูชา และประเทศอื่นๆ ที่เป็นกรรมการมรดกโลก เพื่อมิให้กัมพูชานำไปใช้อ้างอิงได้ หากมีการนำเรื่องนี้สู่ศาลระหว่างประเทศ"นายศิริโชคกล่าว

มั่นใจทวิภาคีแก้ปัญหาได้

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.30 น. วันนี้ (24 ก.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ถึงสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา เพื่อพูดคุยตกลงกันว่า ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี ณ นครนิวยอร์ก กัมพูชาจะถอนคำร้องที่ขอเปิดการประชุมฉุกเฉินต่อปัญหาข้อพิพาทบริเวณเขาพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งการประชุมจะมีขึ้นในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 21.00 น. วันนี้ ตามเวลาในประเทศไทย และตกลงกันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย จะพบหารือกันที่เมืองเสียมราฐ ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ซึ่งถือเป็นการคลี่คลายไปในทางที่ดี ส่วนผู้แทนรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจะเป็นใครนั้นต้องขอทราบรายละเอียดจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เชื่อว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสม ทั้งนี้ไทยมั่นใจว่า ช่องทางทวิภาคียังสามารถแก้ปัญหาได้ บนพื้นฐานมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และเป็นแนวทางที่อาเซียนก็เห็นด้วย

“เตีย บันห์” โผล่ชายแดนเขาวิหารให้กำลังใจทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วานนี้( 24 ก.ค.) ที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ บริเวณปราสาทโคปุระชั้นที่ 1 ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดน พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ แก่ทหารกัมพูชาบนเขาพระวิหาร พร้อมทั้งแจกสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ทหารกัมพูชาทุกนาย โดย พ.อ.ชยันต์ หวยสูงเนิน รอง ผบ.กกล.สุรนารี ฝ่ายไทย ได้ร่วมให้การต้อนรับด้วยและได้พบปะสนทนากันด้วยมิตรภาพอันดีงาม ทั้งนี้ พล.อ.เตีย บัญ ได้กำชับไม่ให้มีการปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทยอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ในฝั่งไทย เวลาประมาณ 10.00 น. พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) พร้อม พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเชิงเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยได้เดินทางขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่พร้อมตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจกำลังพลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำการอยู่ตามแนวชายแดนเชิงเขาพระวิหาร

กมธ.กิจการชายแดนฯลงพื้นที่ศรีสะเกษ

ในวันเดียวกัน คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ,พล.ท.มะ โพธิ์งาม รองประธานคณะกรรมาธิการฯ , นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ และคณะเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาติดตามรับฟังปัญหาพร้อมซักถามข้อมูลเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ที่ จ.ศรีสะเกษ โดย มีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลตอบข้อซักถามต่างๆ

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ และท่าทีของจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับข้อพิพาทกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ว่า จากปัญหาความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้พื้นที่กลายเป็นกรณีพิพาท จนกระทั่ง ปี 2502 เจ้านโรดม สีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก และศาลโลกตัดสิน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ชี้ขาดให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 มติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดเขตปราสาทพระวิหาร ที่ต้องคืนให้แก่กัมพูชา คือ แนวเขตแดนตรงบันไดนาค ห่างออกมาทางทิศเหนือ 20 เมตร ลากเส้นตั้งฉากกับแนวกึ่งกลางของบันไดนาคไป ทางทิศตะวันตกไปทางใต้จนถึงขอบหน้าผา ใกล้กับเป้ยตาดี ส่วนทางด้านทิศเหนือห่างจากบันไดนาค 20 เมตร ให้ลากเส้นโค้งไปจรดกับหน้าผาตรงช่องบันไดหัก แต่ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับ เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้ยึดถือแผนที่ที่ใช้แนบท้ายฟ้องต่อศาลโลก แต่ฝ่ายไทยยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี

นายเสนีย์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาของพื้นที่เขาพระวิหาร ปัจจุบันมี 2 ประการ คือ ปัญหาเส้นเขตแดน และปัญหาสภาพแวดล้อม สืบเนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ โดยฝ่ายไทยใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ตารางกิโลเมตร ของกรมแผนที่ทหาร และแก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ศาลโลกตัดสิน ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และมาตราส่วนดังกล่าว ถือเป็นไปตามหลักสากลทั่วโลกยอมรับ

แต่ทางด้านฝ่ายกัมพูชา ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตร จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้น จำนวน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจากปัญหาเรื่องแผนที่เส้นเขตแดนดังกล่าว ทำให้ชาวกัมพูชาได้รุกล้ำเข้ามาสร้างชุมชนและร้านค้าขึ้นประมาณ 130 ร้าน ที่บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งมีการสร้างวัดบริเวณทางตะวันตก ของโคปุระชั้นที่ 1 ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร รวมทั้งสร้างเส้นทางจากบ้านโกมุย ขึ้นมาถึงปราสาทพระวิหาร ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้มีการประท้วงและแจ้งให้ทางกัมพูชา ทราบถึงปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และได้มีการประท้วงจากฝ่ายไทย โดยการปิดประตูทางขึ้นเขาพระวิหารมาแล้วหลายครั้ง

สำหรับปัญหาเขตแดน คงเป็นปัญหาอีกต่อไป จนกว่าจะมีการดำเนินการปักปันเขตแดน อย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในปัจจุบัน ฝ่ายไทย เรายังคงยึดถือ MOU หรือ บันทึกความเข้าในระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ข้อ 5 กำหนดไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง สภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน

“ดังนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 พื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนแต่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายเสนีย์ กล่าว

นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ที่เดินทางมาจังหวัดศรีสะเกษในครั้งนี้ เป็นกิจการในเรื่องของเขตแดนของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประสาทพระวิหาร ซึ่งเมื่อรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ก็ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมค่อนข้างน่าพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลได้บอกว่า ไทยจะต้องแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ และเสียงของชาวศรีสะเกษส่วนใหญ่ ยังหวงแหนในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ถึงแม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะตัดสินไปแล้ว

“คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ก็ยังสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องคืนภายหลังซึ่งเป็นมติ ครม. เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ส่วนการคลี่คลายสถานการณ์ ที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศควรจะหันหน้าคุยกัน ซึ่งคาดว่าหลังเลือกตั้งของกัมพูชาแล้วเสร็จสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นแน่นอน” นายสัมพันธ์ กล่าว

เขมรถอนกรณีพิพาทไทยจาก UN

กัมพูชาได้ตกลงที่จะถอนกรณีพิพาทชายแดนกับไทยจากการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากความพยายามไม่ประสบความสำเร็จ หลายประเทศสมาชิกไม่พร้อมและกลุ่มอาเซียนก็ไม่สนับสนุน

นายเขียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชายืนยันเรื่องนี้ และยังเปิดเผยด้วยว่าสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ตกลงกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยจะให้มีการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสองฝ่ายในเวลาอันใกล้นี้

โฆษกเขมรกล่าวหาไทยรายวัน

ก่อนหน้านั้นในตอนเช้าวันพฤหัสบดีนายเขียวได้เปิดแถลงข่าวรายวันออกป่าวต่อชาวโลก กล่าวหาว่าไทยมีเจตนาจะคงทหารเอาไว้บนเขาพระวิหารตลอดไป เพื่อครอบครองแบบปกปักษ์

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) จะนำกรณีการเผชิญหน้าทางทหารกับไทย เข้าพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนซึ่งคาดว่าจะเป็นวันจันทร์ (28 ก.ค.)

นายฮอร์นัมฮอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ จะเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยตัวเอง หลังจากส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งเดินทางล่วงหน้าไปเมื่อวันพุธ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาล

กัมพูชาได้เตรียมภาพถ่ายเกี่ยวกับ "การรุกรานและการยึดครอง" ดินแดนของกัมพูชาโดยทหารไทย ตลอดจนเอกสารจำเป็นต่างๆ และได้ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงฯ รวมทั้งองค์การยูเนสโก เรียกร้องให้ทั้งสองหน่วยงานนี้หาทางคลี่คลายปัญหาการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองประเทศ

"เรายังยืนกรานที่จะให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่สถานภาพเดิมก่อนวันที่ 15 ก.ค. 2551" นายเขียวกล่าว ซึ่งหมายถึงก่อนที่ทหารไทยจะเคลื่อนกำลังเข้าสู่วัดแห่งหนึ่งบนเนินเขาพระวิหาร เพื่อติดตามชาวไทย 3 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่เขมรจับกุมไปในข้อหา "เข้าเมืองโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง"

เวียดนาม-ฝรั่งเศสตัวการดันเขมร

รัฐบาลกัมพูชาได้ร้องขอไปยังสหประชาชาติเมื่ออังคารขอให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ เปิดประชุมพิจารณาสถานการณ์ตึงเครียดที่ชายแดนกับไทยเป็นกรณีฉุกเฉิน เวียดนามซึ่งเป็นประธานการประชุม ได้บรรจุเข้าวาระประชุมวันพฤหัสบดี แต่สมาชิก 15 ประเทศ มีหลายประเทศไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่พร้อมด้านข้อมูล

ตามรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ เวียดนามได้พยายามเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันศุกร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน จนกระทั่งมีปฏิกิริยาจากกลุ่มอาเซียนและทำให้กัมพูชาต้องถอนคำร้องออกไปในที่สุด

เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำ UNSC นายเลเลืองมิง ซึ่งเป็นประธานการประชุมในเดือนนี้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การพิจารณากรณีตึงเครียดไทย-กัมพูชา อาจจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

นายฌ็อง-มอรีซ์ ริแปร์ต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า UNSC จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เพราะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการทหาร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

"พวกเราต้องรับผิดชอบต่อสันติภาพและความมั่นคง ดังนั้นหากเราสามารถถอดชนวนความตึงเครียดได้.. เราก็จะทำและเราคิดว่าจะต้องทำ" เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ กล่าว

สมาชิก UNSC ได้หารือเรื่องนี้เบื้องต้นในวันพุธ แต่แล้วก็ไม่สามารถสรุปอะไรได้ ฝรั่งเศสกับเวียดนามได้พยายามผลักดันให้มีการหารือต่อในวันพฤหัสบดี แต่แล้วก็ต้องเลื่อนออกไปอีก

ASEAN-ARF หนุนไทย-เขมรเจรจา

นายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า "ยังไม่ถึงเวลา" ที่จะนำกรณีไทย-กัมพูชาเข้าสู่การเจรจาระดับนานาชาติเพราะเป็นเรื่องสองฝ่าย ที่ควรจำกัดวงให้อยู่ในระดับภูมิภาค

สิงคโปร์ปฏิบัติหน้าที่เป็นประเทศประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียนเป็นวันสุดท้าย และได้ส่งมอบเอกสารต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่สืบแทนในวันเดียวกัน

การประชุมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศในภูมิภาค ที่เรียกว่า ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัยระดับภูมิภาค สมาชิกทั้ง 27 ประเทศของกลุ่มประชุมนี้ได้เรียกร้องให้ไทยกับกัมพูชาความอดทนและอดกลั้นอย่างถึงที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

นายเยียวกล่าวว่าตัวแทนกัมพูชาได้นำเรื่องนี้เข้าหารือใน ARF และ ตัวแทนของไทยได้อธิบาย หลายประเทศได้ออกความเห็น ก่อนจะออกข้อเรียกร้องดังกล่าว

เมื่อวันจันทร์กัมพูชาได้ขอร้องให้สิงคโปร์จัดการประชุมนัดพิเศษเพื่อช่วยหาทางปลดชนวนสถานการณ์ตึงเครียดกับไทย โดยขอให้มีสมาชิกเข้าร่วมเพียง 6 ชาติคือ กัมพูชา ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนามและลาว แต่ถูกไทยคัดค้าน

โฆษกไทยยันสถานการณ์ไม่เครียด

ขณะที่โฆษกกัมพูชาบอกป่าวกับชาวโลกว่าสถานการณ์ที่เขาพระวิวหารตึงเครียดมาก นายธริต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า สถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียด ทหารของสองฝ่ายปะปนกันอยู่ทั่วไปและยังรับประทานมื้อเที่ยงด้วยกัน

ท่าทีของไทยที่จะเจรจาเรื่องนี้กับกัมพูชาแบบทวิภาคี ได้รับการสนับสนุนจากจีน รัสเซีย สหรัฐฯ รวมทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องนี้เข้าสู่สหประชาชาติ โฆษกของไทย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น